อาชญากรรม

รมว.ศึกษาธิการ สั่งตั้ง กก. เร่งสอบข้อเท็จจริง กรณีลืม 'น้องจีฮุน' บนรถตู้รับ-ส่งนร. จนเสียชีวิต

โดย parichat_p

31 ส.ค. 2565

372 views

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเด็กนักเรียนเสียชีวิตในรถตู้ รับส่งนักเรียน ที่จังหวัดชลบุรีเป็นความบกพร่อง หรือประมาทของใคร ขณะที่ พนักงานสอบสวนเตรียมแจ้งข้อกล่าวหาคนขับและครู ประจำรถคันดังกล่าว ส่วนร่างของเด็กหญิงที่เสียชีวิต พ่อและแม่ยื่นคำร้องขอฝากไว้ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจอีก 3-5 วัน


นางสาวเมทิกา โกศลปลั่งศรี และนายไทยอนันต์ ทองอยู่ แม่และพ่อของเด็กหญิงเขมนิจ หรือน้องจีฮุน วัย 7 ขวบ ที่เสียชีวิตในรถตู้โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดชลบุรี เมื่อวานนี้ เข้ายื่นเอกสาร เพื่อขอฝากร่างลูกสาวไว้กับสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจก่อน 3 ถึง 5 วัน เพราะครอบครอบยังไม่สะดวกที่จะนำร่างไปบำเพ็ญกุศล แต่ระเบียบสถาบันนิติเวชวิทยาจะเก็บร่างไว้ได้ เพียง 4 วัน หลังจากผ่าชันสูตรแล้ว ซึ่งครอบครัวพร้อมปฏิบัติตาม แต่ยังไม่กำหนดวันที่ว่าจะมารับร่าง เพราะยังทำใจไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขณะนี้แพทย์ชันสูตรแจ้งแต่เพียงว่า ผลชันสูตรสาเหตุยังไม่แน่ชัด


ส่วนความคืบหน้าทางคดี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรพานทอง จังหวัดชลบุรี สอบปากคำพยานบุคคลไปแล้ว 7 ปาก รวมถึงตรวจสอบพยานหลักฐานที่เกิดเหตุแล้ว จากนี้จะเชิญพ่อ และแม่เด็กนักเรียนไปสอบปากคำ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหานายบุญลือ แก้วดวงศรี ครูชั้นป.6 และเป็นครูคนขับรถ / และนางอารยา วายุวรรณธนะ ครูเวรประจำรถรุ้หมายเลข 3 คันที่เกิดเหตุ ในความผิดฐานกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย


ขณะที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่าได้มอบหมายให้ นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ลงพื้นที่หา ข้อเท็จจริง พร้อมสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องของใคร เป็นความบกพร่องของโรงเรียน ครูที่ดูแลเด็ก หรือคนขับรถโรงเรียน และให้ตรวจสอบด้วยว่า ในการใช้รถโรงเรียนรับ-ส่งนักเรียน ทางโรงเรียนได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแล การใช้รถโรงเรียน พ.ศ.2562 หรือไม่


ขณะที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ระบุว่าพนักงานสอบสวนแจ้งให้ตรวจพิสูจน์หลักฐาน เพื่อนำไปประกอบสำนวนทางคดี โดยเน้นให้ตรวจพิสูจน์หาคราบเลือดบริเวณนั้น ส่วนเรื่องกระจกรถ องจากด้านนอกดูทึบ ฟิล์มกระจกน่าจะมีความมืดเกินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์


ด้านเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ระบุเบื้องต้นว่าโรงเรียนพร้อมจะรับผิดชอบทั้งหมด และระบุว่าเรื่องกฎระเบียบรถรับ ส่งนักเรียนต้องกระจกโปร่งใส ต้องมีทั้งคนขับและคุณครูประจำรถ กรณี้ถือว่าประมาท ไม่ตรวจเช็คให้ละเอียดซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมาย


อีกด้านหนึ่ง นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า กรณีนี้ถือเป็นเด็กที่มีอายุมากที่สุด ที่เสียชีวิตภายในรถรับส่ง-นักเรียน ซึ่งคาดว่าเสียชีวิตเพราะอยู่ในรถปิดทึบ ความร้อนสูง


รศ.นพ.อดิศักดิ์ ระบุอีกว่า ทุกครั้งที่เกิดปัญหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักมุ่งไปที่ตัวเด็กโดยจะสอนทักษะวิธีการเอาตัวรอดให้กับเด็ก ซึ่งไม่ใช่วิธีแก้ไขหรือป้องกันการเกิดเหตุ แต่สิ่งที่ควรทำ คือการกำกับดูแลผู้ขับขี่รถรับส่งนักเรียนให้มีความรอบคอบละเอียด อย่างน้อยต้องมีการเช็ครายชื่อเด็กโดยสารทุกครั้งที่ขึ้นหรือลงรถ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากหรือต้องอาศัยเทคโนโลยีพิเศษใดๆ


นายแพทย์อดิศักดิ์ ยังผลักดันให้กลุ่มรถรับส่งนักเรียน ต้องมีหน่วยงานหรือสมาคม เข้ามากำกับดูแล และผู้ขับขี่ต้องผ่านการประเมินเรื่อง การดูแลความปลอดภัยทุก 6 เดือน พร้อมกับ ขอให้กรมการขนส่งเข้มงวด การทำใบขับขี่รถสาธารณะ และหากมีเด็กเสียชีวิตในรถ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทำรายงานแจ้งเหตุการณ์ เพื่อศึกษาและแก้ไข โดยผู้ปกครอง สถานศึกษา รวมถึงผู้ขับขี่ ต้องร่วมรับผิดชอบตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก

คุณอาจสนใจ