ไขข้อข้องใจ แสงสีฟ้าดังสนั่นที่เชียงใหม่ สดร.ชี้เป็น 'ดาวตกชนิดระเบิด' เป็นเรื่องปกติทางดาราศาสตร์

ข่าวโซเชียล

ไขข้อข้องใจ แสงสีฟ้าดังสนั่นที่เชียงใหม่ สดร.ชี้เป็น 'ดาวตกชนิดระเบิด' เป็นเรื่องปกติทางดาราศาสตร์

โดย thichaphat_d

23 มิ.ย. 2564

150 views

เมื่อวานนี้ (22 มิ.ย.) เวลาประมาณ 18.30 น. เกิดความแตกตื่นขึ้นในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน พะเยาลำปาง และแม่ฮ่องสอน เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์ประหลาดบนท้องฟ้าเหนือพื้นที่ดังกล่าว โดยได้เกิดลูกไฟสว่างสีฟ้าอมเขียวพุ่งไปทางด้านทิศตะวันออก และเกิดแสงสว่างวาบเหนือท้องฟ้า ก่อนที่จะมีเสียงระเบิดเสียงดังสนั่น ซึ่งบางพื้นที่ได้รับแรงสั่นสะเทือนด้วย


จนเกิดความฮือฮาในโลกออนไลน์ และพบว่ามีการแชร์ภาพนิ่ง ดวงไฟสีเขียวในลักษณะพุ่งลงจากท้องฟ้า ซึ่งทราบภายหลังว่า เป็นภาพเก่าตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งไม่ใช่ภาพที่เกิดขึ้นในครั้งนี้


จากนั้น มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Frist patchaya ได้โพสต์คลิปวีดีโอของวัตถุปริศนาดังกล่าวที่เพื่อนของเขาสามารถถ่ายไว้ได้ ลักษณะเป็นสีขาวพุ่งลงมาจากท้องฟ้าอย่างรวดเร็ว


โดยคุณอาลิสา เซยะ ชาวอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของคลิปดังกล่าว เผยว่า ขณะนั้นตนกำลังถ่ายภาพท้องฟ้าจู่ๆ ก็มีวัตถุปริศนาคล้ายๆลูกไฟ สีฟ้าอมเขียว พุ่งลงมาจากท้องฟ้า ก่อนกลายเป็นสีขาว เพียง 2 วินาทีก็หายไป ก่อนจะมีเสียงระเบิดดังสนั่นใน 10 วินาทีให้หลัง โดยขณะที่เกิดเสียงระเบิดไม่มีแสงใดๆให้เห็น ซึ่งตนคิดว่าอาจจะเป็นดาวตกก็เป็นได้


ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ตนเองก็ได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิดบนท้องฟ้าเช่นเดียวกัน แต่ขณะเกิดเหตุอยู่ในบ้าน ตอนแรกนึกว่านกบินชนบ้าน เพราะกระจกสั่น ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร จนกระทั่งมีคนโทรศัพท์มาบอกว่า เกิดเสียงดังจากท้องฟ้าจากการวิเคราะห์คลิปวีดีโอ คาดว่าน่าจะเป็นอุกกาบาต หรือดาวเทียมที่ควบคุมไม่ได้ตกลงมา


ล่าสุด สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชี้แจงว่า เบื้องต้นไม่พบรายงานความเสียหายหรือมีใครได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด จากหลักฐานที่รวมรวมได้ อาทิ ข้อมูลการโพสต์จากหลายแหล่ง และภาพถ่าย เบื้องต้นคาดว่าอาจเกิดจาก ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) เป็นเหตุการณ์ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์


โดย นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าเป็น ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) โดยปกติแล้ว ดาวตกที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศจะเริ่มเกิดความร้อนสูงจนเกิดการลุกไหม้ที่ความสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร จึงมักจะสูงเกินกว่าที่จะได้ยินเสียง อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งดาวตกอาจจะแผ่คลื่นเสียงกระแทก (sonic boom) ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการพบเห็นที่ระบุว่าเห็นแสงวาบก่อนที่จะมีเสียงตามมา ซึ่งระยะเวลาระหว่างการพบเสียงและแสงนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะห่างของดาวตกในขณะที่พบเห็น


ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัตถุดังกล่าวนั้นจะตกลงมาถึงพื้นโลกเป็นอุกกาบาตหรือไม่ ดาวตกส่วนมากที่ตกลงมานั้นจะไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศ สำหรับอุกกาบาตที่ใหญ่พอจนตกลงมาถึงพื้นโลกได้นั้น มีการประมาณการกันว่ามีอยู่ประมาณ 6,000 ดวงในทุกๆ ปี แต่ส่วนมากนั้นตกลงในมหาสมุทร หรือพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีผู้ใดพบเห็น ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น มีอุกกาบาตเพียงไม่กี่ชิ้นที่มนุษย์สามารถเก็บขึ้นมาได้หลังจากมีผู้พบเห็นเป็นดาวตกอยู่บนท้องฟ้า


ในแต่ละวันจะมีอุกกาบาตเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกเป็นจำนวนมาก แต่โดยทั่วไปจะไหม้หมดไปตั้งแต่ความสูงนับร้อยกม. ในชั้นบรรยากาศ ในทางดาราศาสตร์ถือเป็นเรื่องปกติและสามารถอธิบายได้ ไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจเพราะโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/8Y4Y2yjySlU

คุณอาจสนใจ

Related News