เทคโนโลยี

ไขปริศนาเครื่องบินตก ทำไม 'กล่องดำ' ไม่ได้สีดำ แต่สีส้ม

โดย thichaphat_d

24 มี.ค. 2565

698 views

จากอุบัติเหตุช็อกโลก เครื่องบินโบอิง 737 เที่ยวบิน MU5735 ของสายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 132 คน ตกลงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน เมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ (21 มี.ค.) จนส่งผลให้เกิดไฟไหม้บนภูเขา




ต่อมาเจ้าหน้าที่ค้นพบวัตถุสีส้มอมแดง ใกล้กับพื้นที่ค้นหา และทำการตรวจสอบหลายครั้งจนสามารถระบุได้ว่าวัตถุดังกล่าวเป็นหนึ่งในกล่องดำ จากจำนวน 2 กล่องของเครื่องบินที่ประสบเหตุ




โดยสภาพภายนอกของกล่องดำกล่องแรกพังเสียหายอย่างรุนแรง แต่สภาพหน่วยจัดเก็บข้อมูลค่อนข้างสมบูรณ์ แม้เกิดความเสียหายบางส่วน ซึ่งกล่องดำ ที่ว่านี้ จะช่วยไขความลับ ถึงโศกนาฏกรรมช็อกโลกในครั้งนี้

ข้อมูลจาก ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า กล่องดำ (Black Box) คือ “อุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบิน” ที่เครื่องบินทั่วไปจะต้องติดตั้งตามกฎด้านการบิน ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ที่จะบันทึกเหตุการณ์ก่อนเกิดอุบัติเหตุ แล้วนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุ




เครื่องบินแต่ละลำจะมีกล่องดำ 2 กล่อง

กล่องที่ 1 The Flight Data Recorder (FDR) ใช้บันทึกข้อมูลการบิน เช่น สภาพอากาศ ความเร็ว ระดับความสูง อัตราเร่งตามแนวดิ่ง ทิศทาง การเร่งผ่อนคันบิดปิดเปิดน้ำมัน แรงขับของเครื่อง ตำแหน่งของปีก เป็นต้น

กล่องที่ 2 The Cockpit Voice Recorder (CVR) ใช้บันทึกเสียงสนทนาในห้องนักบิน เสียงจากไมโครโฟนของนักบิน การติดต่อระหว่างนักบินกับหอบังคับการบิน เสียงของลูกเรือที่เข้ามาในห้องนักบิน โดยจะเริ่มบันทึกตั้งแต่นักบินติดเครื่องไปจนถึงดับเครื่อง เสียงเครื่องยนต์ สัญญาณเตือน ฯลฯ




โดยเครื่องบันทึกเสียงในห้องนักบินแบบแถบแม่เหล็ก สามารถบันทึกเสียงในช่วงเวลาประมาณ 30 นาที จากนั้นจะขึ้นรอบการบันทึกใหม่ ในขณะที่เครื่องบันทึกเสียงแบบหน่วยความจำ สามารถบันทึกได้รอบละประมาณ 2 ชั่วโมง

แม้อุปกรณ์ทั้ง 2 จะถูกเรียกว่า ‘กล่องดำ’ แต่ตัวกล่องจริง ๆ ไม่ได้มีสีดำ แต่จะมีสีส้มสะดุดตา เพื่อง่ายต่อการค้นหา มีตัวอักษร “FLIGHT RECORDER DO NOT OPEN” ข้างกล่อง




แต่เหตุที่เรียกว่า ‘กล่องดำ’ เพราะมันเคยมีสีดำมาก่อน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเป็นอุปกรณ์ที่เป็นความลับ ติดตั้งในเครื่องบินรบของอังกฤษและชาติพันธมิตร ถูกห่อหุ้มด้วยกล่องสีดำ ขณะที่บางส่วนก็เรียกตามสภาพที่เก็บกู้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกไฟไหม้ และระเบิด

เวลาเครื่องบินตก กล่องดำมักไม่เสียหาย เพราะตำแหน่งที่ติดตั้งจะอยู่ส่วนหางของเครื่องบิน ซึ่งเป็นบริเวณที่แข็งแรงและได้รับผลกระทบกระเทือนน้อยที่สุดเวลาเครื่องบินตก

นอกจากนี้ ตัวกล่องยังแข็งแรง ทนแรงกระแทกแรงระเบิด ทนน้ำ ทนไฟ เพราะประกอบด้วยวัสดุ 3 ชั้น ชั้นในสุดทำจากแผ่นอะลูมิเนียมบางๆ ห่อหุ้มอุปกรณ์บันทึกข้อมูลไว้ ชั้นที่สองเป็นฉนวนทนความร้อน และชั้นที่สามทำด้วยเหล็กกล้าไร้สนิมทนความร้อนสูง




กล่องดำทุกกล่อง จะถูกทดสอบ เพื่อให้มั่นใจว่า มีความแข็งแรง คงทนพอที่จะติดตั้งไว้บนเครื่องบิน ดังนี้

-ทนต่อการแช่น้ำ 30 วัน

-ทนต่อแช่ในน้ำเค็มนาน 24 ชั่วโมง (กรณีเครื่องบินตกทะเล)

-ทนต่อแรงกด 5,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เป็นเวลา 5 นาที ทุก ๆ ด้าน

-ทนต่อความร้อน 1,100 องศาเซลเซียส นาน 1 ชั่วโมง

-ทนต่อการเจาะด้วยก้อนน้ำหนักขนาด 227 กิโลกรัม จากความสูง 3 เมตร

-ทนต่อแรงกระแทก 3,400 G (คำนวณตามแรงโน้มถ่วงของโลก = 1G)

-ทนต่อสารเคมีและน้ำมันอื่นๆ




อีกทั้ง กล่องดำ จะมีเครื่องแจ้งตำแหน่งใต้น้ำ Pinger หรือ Underwater Locator Beacon-ULB เพื่อเป็นตัวช่วยในการค้นหาเหนือน่านน้ำด้วย ซึ่งเครื่องบันทึกสมัยใหม่ จะสามารถส่งสัญญาณได้จากระดับความลึกสูงสุด 6 กิโลเมตร

แต่แม้กล้องดำ จะได้รับความเสียหายหนักจากการถูกไฟไหม้ เจ้าหน้าที่ก็จะถอดแผงหน่วยความจำออกมาทำความสะอาด แล้วค่อยเชื่อมต่อกับเครื่องบันทึกอีกเครื่องหนึ่ง ที่มีโปรแกรมพิเศษสำหรับถ่ายเทหรืออ่านข้อมูลได้ โดยไม่มีการเขียนทับหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลใด ๆ

คุณอาจสนใจ

Related News