เทคโนโลยี

นาทีประวัติศาสตร์! ดาวเทียมสำรวจโลกสัญชาติไทย 'THEOS-2' ทะยานสู่อวกาศสำเร็จ

โดย nut_p

9 ต.ค. 2566

382 views

ดาวเทียมธีออส 2 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเป็นที่เรียบร้อย หลังต้องเลื่อนการปล่อยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากตรวจพบความผิดปกติของอุปกรณ์ในจรวด ล่าสุดดาวเทียมดวงนี้เชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมในประเทศแล้ว และจะทดสอบระบบอีกอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนเริ่มใช้ปฏิบัติการจริง โดยดาวเทียมดวงนี้เป็นดาวเทียมสำรวจดวงที่ 2 ของไทย ที่จะขึ้นไปประจำการแทนดาวเทียมไทยโชต หรือ ธีออส 1 ที่กำลังจะหมดอายุการใช้งาน



ทันทีที่การนับถอยหลังสิ้นสุดลงในเวลา 08.36 น. ตามเวลาในประเทศไทย จรวดเวกาก็ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าจากท่าอวกาศยานยุโรป เฟรนช์เกียนา ในทวีปอเมริกาใต้ เพื่อนำดาวเทียม ธีออส 2 ร่วมกับดาวเทียมอื่น ๆ จากนานาประเทศ รวม 12 ดวง ไปยังอวกาศ ท่ามกลางการติดตามจากทีมงานของจิสด้าที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้



ซึ่งระหว่างนั้นจรวดจะค่อย ๆ แยกตัว จนกระทั่งระบบได้ปลดเปลือกท่อนบนสุดของจรวดออก เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนแยกตัวสุดท้าย ในชิ้นส่วนเพย์โหลดที่บรรจุดาวเทียมธีออส 2 ไว้ สู่ระดับความสูง 621 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก โดยทันทีที่ดาวเทียมแยกตัวออกจากจรวดเสร็จสิ้น ก็สร้างความโล่งใจให้กับทีมเจ้าหน้าที่ที่เอเรียนสเปซทันที



จากนั้นเจ้าหน้าจากแอร์บัส ผู้ผลิตสร้างดาวเทียมธีออส 2 ก็จะรอเพื่อเชื่อมต่อกับดาวเทียมเป็นครั้งแรก ผ่านศูนย์ควบคุมดาวเทียมที่ตั้งอยู่ในอุทยานรังสรรค์ นวัตกรรมอวกาศของจิสด้า ที่ อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี และทดสอบระบบต่อไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน



สุดท้ายภารกิจนำส่งดาวเทียมธีออส 2 ก็ลุล่วง ภายหลังจากดาวเทียมโคจรผ่านสถานีภาคพื้นดิน และเชื่อมต่อกันครั้งแรกในเวลา 10.54 น. นับเป็นการเริ่มทดสอบระบบอย่างเต็มรูปแบบก่อนเริ่มปฏิบัติการของดาวเทียมธีออส 2 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป



ภารกิจนี้มี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เข้าร่วมติดตาม ซึ่งแม้จะมีอุปสรรคทำให้ต้องเลื่อนการส่งล่าช้าจากวันที่ 7 ตุลาคมมาเป็นวันที่ 9 ตุลาคม แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี



ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ระบุว่า หลังจากการทดสอบเสร็จสิ้น GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดหรือให้การบริการเชิงพาณิชย์ได้ทันที



THEOS-2 เป็นดาวเทียมหลักในโครงการธีออส 2 มีเทคโนโลยีบันทึกภาพถ่ายได้กว้างถึงกว่า 10 ตารางกิโลเมตร ในความละเอียดของภาพหรือพิเซล สูงถึง 50 เซนติเมตร โคจรผ่านประเทศไทยวันละ 4 รอบ นับเป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่มีความละเอียดสูงที่สุดของไทยในเวลานี้ และจะประจำการบนอวกาศ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ด้านข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับประเทศต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 15 ปี

คุณอาจสนใจ