เทคโนโลยี

เริ่ม! จุฬาฯ มุ่งหน้าด้วย 'Generative AI' นำ 'Chat GPT' ใช้ในการเรียนการสอน

โดย chiwatthanai_t

24 ก.ค. 2566

2.2K views

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ในปัจจุบันทำให้เกิด เอไอรูปแบบใหม่ หรือ ที่เรียกว่า Generative AI มาเป็นผู้ช่วยมนุษย์ ซึ่งโปรแกรมนี้ถูกพัฒนามาให้สามารถคิดแทน และทำงานแทนมนุษย์ได้ทันที โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่เดิมเป็นพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักเรียนนักศึกษา ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเทคโนโลยีนี้มาศึกษา สู่การสร้างแนวทางการใช้งานอย่างถูกต้องและเหมาะสม สู่การนำ AI มาเป็นผู้ช่วยเรียนและผู้ช่วยสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามยุคสมัย


ข้อความที่ปรากฎนี้ เป็นการโต้ตอบระหว่างทีมข่าว 3 มิติ กับ Chat GPT 1 โปรแกรม Generative AI ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เป็นการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะให้สามารถสร้างข้อมูลชุดใหม่ขึ้นมาได้ จากฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ โดยปัจจุบัน Generative AI มีผลิตภัณฑ์ออกมาทั้งในรูปแบบของข้อความโต้ตอบ รูปภาพ ดนตรี และอื่นๆ


รศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการศึกษาการใช้ AI จากโปรแกรม Chat GPT ผ่านกิจกรรม lunch talk จำนวน 10 ครั้ง กับผู้เชี่ยวชาญ ด้านการศึกษา เศรษฐศาสตร์ การเขียนโปรแกรม ซึ่งก็ทำให้ทราบว่า Generative AI มีบทบาทและช่วยให้การทำงานของมนุษย์ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลเชิงหลักการ เช่น วิศวกรรม และแพทย์ ขณะเดียวกันก็สามารถนำมาใช้ทำนายเหตุการณ์ในอนาคตจากการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีต เช่น การคาดการณ์ GDP ของประเทศ แต่ทั้งหมดนี้ผู้ใช้ต้องเลือกชุดข้อมูล ก่อนนำมาใช้ เนื่องจาก AI พวกนี้ถูกเขียนให้แสดงผลข้อมูลให้ถูกใจผู้อ่าน แต่ก็มักจะแสดงผลออกมาเรื่อยๆ ไม่ได้แม่นยำ 100%


รองศาสตราจารย์ วิโรจน์ อรุณมานะกุล ผู้อำนวยการสถานบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ ระบุว่า เทคโนโลยีนี้มีข้อดีและข้อเสีย ผู้ใช้จึงควรระมัดรวังในการใช้งาน ซึ่งจากการทดลองใช้งานในช่วงที่ผ่านมาทำให้ได้หลักการและแนวทางปฏิบัติการใช้ปัญญาประดิษฐ์ของจุฬา ขั้นแรกคือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนิสิตและบุคลากร เพื่อการงานได้อย่างเหมาะสม จากนั้นทางมหาวิทยาลัยจะเริ่มปรับกระบวนการเรียนการสอน และการสอบ ให้เหมาะกับการใช้เอไออย่างสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรมทางวิชาการ เพื่อให้ผู้ใช้เกิดปัญญาจากการเรียนรู้


ศาสตราจารย์ บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาฯ ยอมรับว่าปัจจุบันนิสิต ได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย เช่นเดียวกับอาจารย์ที่นำ เอไอมาเป็นผู้ช่วยสอน ซึ่งก็พบว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ปรับใช้เอไอมาพัฒนาการเรียนรู้อย่างเข้าใจ ในข้อจำกัดของเอไอ และสามารถอ้างอิงการใช้งานได้อย่างชัดเจน ถูกต้อง รวมถึงระมัดระวังการไม่นำข้อมูลลับเข้าสู่ระบบ เช่นเดียวกับในส่วนของผู้สอนก็จะต้องสามารถออกแบบการเรียนการสอนและการสอบให้เหมาะสม และสามารถระบุแนวทางการใช้เอไอ ในรายวิชาได้


ตอนนี้ทางจุฬาก็ได้ขยายผลการใช้งาน generative AI ด้วยการสนับสนุนทุนจํานวน 100 ทุนแก่คณาจารย์ในการใช้งาน Chat GPT Plus ในการเรียนการสอนและการวิจัย เป็นเวลา 5 เดือน เพื่อยืนยันกับสังคมว่าปัญญาประดิษฐ์ สามารถเป็นตัวช่วยจัดการเรียนการสอน และ ทำให้งานวิจัย มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ ซึ่งก็ต้องมาติดตามผลกันอีกครั้งในช่วงต้นปีหน้านี้

คุณอาจสนใจ