เทคโนโลยี

มพจ.จัดแข่ง EV Hackathon แก้ปัญหากรุงเทพฯ ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า

โดย panwilai_c

29 ส.ค. 2565

820 views

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดแข่งขัน EV Hackathon ให้เยาวชนร่วมเสนอแนวคิดแก้ปัญหากรุงเทพมหานครด้วยยานยนต์ไฟฟ้า โดยให้เวลาแก้ปัญหาโจทย์เพียง 21 ชั่วโมงเท่านั้น เป็นการแข่งขันแบบมาราธอนข้ามวัน จนในที่สุดก็ได้ผู้ชนะ ซึ่งผลงานนี้ผ่านการประเมินแล้วจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญว่าสามารถปรับใช้ได้จริงกับการแก้ปัญหาเมืองในเขตกรุงเทพมหานคร



จงคิดค้นรูปแบบการแก้ปัญหาการเดินทางในกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า คือ โจทย์ในรอบสุดท้ายของการแข่งขัน EV Hackathon ที่ผู้เข้าแข่งขันซึ่งเป็นตัวแทนระดับอุดมศึกษาทั้ง 8 ทีม ต้องใช้ความรู้ความสามารถแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม และ ปรับใช้ได้จริงในอนาคต



การแข่งขันรอบนี้พวกเขามีเวลาเพียง 21 ชั่วโมงเท่านั้น และ เป็นการแข่งขันต่อเนื่องแบบข้ามวันข้ามคืน ซึ่งทันทีที่ได้รับโจทย์ก็ต่างเร่งระดมความคิด แม้จะมีท้อบ้าง พักบ้าง แต่สุดท้ายหลายกลุ่มก็ลุกขึ้นมาประชุมเพื่อสรุปผลจนได้ เป็นชิ้นงานออกมา เช่น กลุ่ม EVT จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มองปัญหาความแออัดของเขตเมือง หรือ จะเป็น กลุ่ม ปอเมเจได จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่นำ E shuttle bus และ E scooter มาเชื่อมต่อการเดินทาง



คณะผู้จัดงานระบุว่า ที่ผ่านมา Hackathon มักถูกนำไปใช้กับการแก้โจทย์ด้านไอที แต่ครั้งนี้ถูกนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาเมือง ซึ่งผู้เข้าแข่งขันทุกกลุ่มจะได้รับคำแนะนำและคำปรึกษาจากวิทยากร เพื่อปรับโมเดลที่คิดค้นให้เหมาะสมในทุกด้าน ก่อนนำเสนอสู่คณะกรรมการ



กิจกรรมนี้จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรมยุโรป และสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 160 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยเยอรมนี ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้า เป็นอุตสาหกรรมที่เยอมันมีความเชี่ยวชาญ



สำหรับผู้ชนะ EV hackathon ในครั้งนี้ คือ ทีม ACDC จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงาน Electric Kapor โดยใช้รถกะป๊อไฟฟ้าร่วมกับโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์เอไอ คำนวณเส้นทางที่สั้นที่สุด เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางเดินรถสาธารณะ ในพื้นที่ลาดพร้าว ซึ่ง ผลงานนี้มีความโดดเด่นในการแก้ปัญหาในมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์ เปรียบเทียบความคุ้มค่าของการเดินทาง ทั้งวินมอเตอร์ไซต์ แกรบ แทกซี่ และรถเมล์ รวมถึงข้อเสนอการแก้ปัญหาร่วมกับผู้ประกอบการเดิม



จะเห็นได้ว่าผลงานนี้พร้อมสำหรับการปรับใช้ทันที ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่มนี้กลุ่มเดียว แต่ผลงานของน้องๆ ทุกกลุ่ม สามารถเลือกใช้ให้เข้ากับสภาพพื้นที่ของเมืองได้ หากได้รับการสนับสนุนสู่การต่อยอดการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

คุณอาจสนใจ