สังคม

อว. เร่งพัฒนานวัตกรรมรองรับการเปลี่ยนผ่าน สู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า

โดย panwilai_c

18 ก.พ. 2567

103 views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ประกาศเดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้ความร่วมมือของหน่วยงานในสังกัด และเครือข่ายมหาวิทยาลัย ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี มาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน จากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์อีวีให้มากขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วน ร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี จากนี้



นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าหลากหลายชิ้นงานที่พัฒนาขึ้นโดยฝีมือของนักวิจัยไทยภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ถูกรวบรวมมาไว้ ในการประกาศนโยบายพัฒนาระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าของกระทรวง เพื่อนำเสนอความพร้อมล่าสุด



หลายผลงานเป็นงานที่ใช้จริงแล้วภายในพื้นที่ของหน่วยงาน เช่นแพลตฟอร์มแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้า Battery Swapping ของนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีและพลังงานแห่งชาติ หรือ เอ็นเทค สวทช. เหมาะกับวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่สามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้สะดวกมากขึ้น ที่สถานีประจุไฟฟ้า ประหยัดทั้งเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการผลิต ตอนนี้ติดตั้งใช้งานแล้วในหลายพื้นที่ ทั้งใน สวทช. รวมถึงพื้นที่ของหน่วยงานรัฐ และ เอกชน



ส่วนชิ้นส่วนเหล่านี้ เป็นอุปกรณ์สำหรับรถไฟฟ้าดัดแปลง หรือ EV KIT โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีและพลังงานแห่งชาติ หรือ เอ็นเทค กับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอยิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค บูรณาการองค์ความรู้และงานวิจัย พัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์มาดัดแปลงรถยนต์สันดาป ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก โดยใช้งบประมาณไม่กี่แสนบาทเท่านั้น



ล่าสุดทาง อว.ได้ประกาศนโยบายสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า หลังนายกรัฐมนตรีได้เพิ่ม อว.เข้าในบอร์ดอีวี โดย ทาง อว.ได้เตรียมแผน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.พัฒนาทักษะกำลังคน 150,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยปี 2567 จะผลิตกำลังคนให้ได้ 5,000 คน รองรับการออกแบบ การผลิต การพัฒนาซอฟแวร์ และโครงสร้างพื้นฐาน ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 2.ส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้ อว. ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 30 ของยานยนต์ที่ใช้ในหน่วยงานภายใน 5 ปี และ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้งาน EV ในสัดส่วนที่สูงขึ้น และ 3. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า มายกระดับอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ดำเนินงานภายใต้การขับเคลื่อนของ 3 หน่วยงานหลัก คือ สวทช. สอวช. และสกสช.



ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ได้นำทีมข่าว 3 มิติ เยี่ยมชมความพร้อมการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานของระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า ที่ทางสวทช.ได้เตรียมไว้ รองรับการผลิตและทดสอบ



อย่างศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถใช้ระบบและความปลอดภัยของอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งรวมไปถึงยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าเกือบครึ่งของรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ เท่ากับไทยจะมีรถอีวีเพิ่มขึ้นในหลักแสนขึ้นต่อปี



ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญ อันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค โดยมีเป้าหมายผลิตยานยนต์ ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030



แบ่งเป็นรถยนต์ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ และดำเนินนโยบาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ สู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

คุณอาจสนใจ

Related News