เทคโนโลยี

ทำความรู้จัก THEOS-2A ดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกที่คนไทยร่วมสร้าง กำหนดปล่อยขึ้นอวกาศปี 66

โดย panwilai_c

2 ก.ค. 2565

447 views

ดาวเทียมธีออส 2 เอ ที่ไปประกอบยังสหราชอาณาจักร ได้รับการส่งมอบกลับประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยดาวเทียมดวงนี้เป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกที่คนไทยมีส่วนในการออกแบบและพัฒนาจนแล้วเสร็จ ขณะเดียวกันก็ใช้วัสดุอุปกรณ์ของผู้ประกอบการไทยเป็นส่วนประกอบของดาวเทียมดวงนี้ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการผลักดันเศรษฐกิจอวกาศไทยสู่นานาชาติ ติดตามกับคุณธีรุตม์ นิมโรธรรม



ดาวเทียมธีออส 2 เอ เริ่มการทดสอบเบื้องต้นทันทีที่ส่งมอบถึงมือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า โดยสิ่งสำคัญคือความเสถียรของระบบและความแข็งแรงทนทานต่อสภาวะทั้งก่อนและหลังออกสู่นอกชั้นบรรยากาศโลก



ธีออส 2 เอเป็นดาวเทียมขนาด 100 กิโลกรัม เพื่อการสำรวจพื้นที่และติดตามสัญญาณวัตถุดวงแรกที่วิศวกรดาวเทียมไทย มีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนา โดยเฉพาะ ระบบเซนเซอร์และกล้องถ่ายภาพที่ทีมวิศวกรไทยออกแบบเองทั้งหมด สามารถถ่ายภาพได้ในอัตราส่วน 1พิกเซลต่อ 1 ตารางกิโลเมตร



ขณะเดียวกันพวกเขาก็เลือกใช้ชิ้นส่วนบางชนิดจากผู้ประกอบการในไทย ซึ่งมีมาตรฐานในระดับ industrial grade มาประกอบดาวเทียมดวงนี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญของวงการอวกาศไทยในเวทีระดับโลก



ความร่วมมือผลิตดาวเทียมธีออส 2 เอ เป็นความร่วมมือระหว่างจิสด้า แอร์บัส และ Surrey satellite Technogy เพื่อนำวิศวกรดาวเทียมไทยจำนวน 22 คนไปร่วมฝึกทักษะและประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศเป็นระยะเวลา 3 ปี ที่สหราชอาณาจักร ขณะเดียวกันจิสด้าก็ส่งเสริมผู้ประกอบการในไทยให้เข้าสู่ตลาดอวกาศโลกไปพร้อมกับโครงการ



ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ THEOS-2 ระบุว่า การพัฒนาผู้ประกอบการชิ้นส่วนอวกาศในไทยเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ



ขณะที่ปัจจุบันจิสด้าได้เตรียมความพร้อมการสร้างระบบนิเวศอวกาศ หรือ space eco system ในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ Space inspirium เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต



สำหรับการทดสอบดาวเทียมธีออส 2 เอ จะยังคงดำเนินการต่อเนื่องในระยะเวลา 5 เดือนต่อจากนี้ โดยมีกำหนดการปล่อยขึ้นสู่อวกาศในช่วงต้นปี 2566 และจะปฏิบัติภารกิจเป็นระยะเวลา 3 ปี ต่อจากนั้น ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นก้าวแรกที่สำคัญของวงการเทคโนโลยีอวกาศไทยในระดับสากล 

คุณอาจสนใจ