กีฬา
วันเดียว 2 เหรียญ! ‘ฟ่าง-ออย’ ผงาดคว้าเหรียญ เงิน-ทองแดง ประเดิมยกน้ำหนัก โอลิมปิก 2024
โดย petchpawee_k
8 ส.ค. 2567
243 views
การแข่งขันกีฬายกน้ำหนัก ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ “ปารีส 2024“ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 ส.ค.67 ประเดิมชิงชัยวันแรก ทีมไทยส่งจอมพลังชิงชัย 2 รุ่น เริ่มต้นด้วย “ฟ่าง” ธีรพงศ์ ศิลาชัย รุ่น 61 กิโลกรัมชาย วัย 20 ปี ดีกรี 2 เหรียญทอง รุ่น 55 กิโลกรัมชาย ยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ปี 2565 ลงชิงชัยโอลิมปิกสมัยแรก
ท่าสแนทช์ ธีรพงศ์ ออกสตาร์ทได้ดี ยกผ่านครั้งแรกที่ 127 กิโลกรัม, ครั้งที่ 2 ยกผ่านที่ 130 กิโลกรัม, ครั้งที่ 3 ยกผ่านที่ 132 กิโลกรัม จบที่ 3 ในท่านี้ ส่วนที่ 1 เป็นของ ลี ฟาบิน จากจีน 143 กิโลกรัม ทำลายสถิติมาตรฐานโอลิมปิกที่วางไว้ 142 กิโลกรัม และ ที่ 2 เอโค อิราวัณ จากอินโดนีเซีย 135 กิโลกรัม
ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ธีรพงศ์ ยกผ่านครั้งแรกที่ 167 กิโลกรัม, ครั้งที่ 2 ยกผ่านที่ 169 กิโลกรัม, ครั้งที่ 3 ยกผ่านที่ 171 กิโลกรัม ทำให้สถิติน้ำรวมอยู่ที่ 303 กิโลกรัม คว้าเหรียญเงินไปครอง ถือเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมของ ธีรพงศ์ ที่ยกผ่านรวดทั้ง 6 ลิฟต์ และยังสถิติที่ดีที่สุดของตัวเอง หลังจากเคยทำสถิติน้ำรวมของตัวเองดีที่สุดอยู่ที่ 299 กิโลกรัม
ส่วนเหรียญทอง เป็นของ ลี ฟานบิน จากจีน 310 กิโลกรัม (143-167) และเหรียญทองแดง เป็นของ มอร์ริส แฮมป์ตัน จากสหรัญฐอเมริกา 298 กิโลกรัม (126-172)
สำหรับเงินรางวัล ที่ ธีรพงษ์ ศิลาชัย ได้รับ จากการคว้าเหรียญเงิน มาจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย 7.2 ล้านบาท (จ่ายเป็นเงินก้อนอัตราร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนในระยะเวลา 4 ปี), เงินเดือนจากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 2.4 ล้านบาท และจาก บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 5 แสนบาท รวมเป็นเงิน 10.1 ล้านบาท
หลังแข่งขัน ฟ่างกล่าวว่า “ดีใจมากที่ทำผลงานออกมาดี ยอดเยี่ยม จนได้เหรียญเงินโอลิมปิก ส่วนสถิติดีกว่าเดิม ดีที่สุดตั้งแต่แข่งมารอบ 2 ปี สำหรับโอลิมปิกครั้งแรก ยอมรับว่าตื่นเต้นนิดหน่อย แต่เมื่อทำสมาธิ และวอร์มร่างกาย ก็เข้าที่ ความตื่นเต้นหายไป”
“สำหรับเงินรางวัลที่ได้ อย่างแรก จะสร้างบ้านให้พ่อ อยากให้พ่อมีบ้านอยู่ ที่เหลือยังไม่ได้คิด และขอขอบคุณทางบ้านที่เลี้ยงดูจนอายุ 20 ปี และเป็นกำลังใจมาตลอด ตั้งแต่ยังไม่เก็บตัว จนมาเก็บตัว และในที่สุดได้เหรียญโอลิมปิก” ธีรพงศ์ กล่าว
จากการคว้าเหรียญเงินของ “ธีรพงศ์” นับเป็นเหรียญโอลิมปิกเหรียญแรกของสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในรอบ 8 ปี หลังจากคว้า 2 เหรียญทอง, 1 เหรียญเงิน, 1 เหรียญทองแดง ในโอลิมปิก “รีโอเกมส์ 2016“ และเป็นนักกีฬายกน้ำหนักชายคนที่ 2 ที่คว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ ต่อจาก สินธุ์เพชร กรวยทอง เคยได้เหรียญทองแดง ที่ “รีโอเกมส์ 2016”
ขณะที่ในรุ่น 49 กิโลกรัมหญิง ไทยส่ง “ออย” สุรจนา คำเบ้า อายุ 24 ปี เจ้าของ 3 เหรียญทอง ยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ปี 2564 ลงลุ้นเหรียญรางวัลโอลิมปิกสมัยแรก
ท่าสแนตช์ สุรจนา ยกผ่านครั้งแรกที่ 86 กิโลกรัม จากนั้นครั้งที่ 2 เรียกเหล็ก 88 กิโลกรัม แต่จังหวะดันเหล็กขึ้นล็อกแขนไม่อยู่ ทำให้เหล็กตกหลัง ก่อนจะออกมาแก้ตัวสำเร็จในครั้งที่ 3 ที่น้ำหนักเดิม ทำให้สถิติอยู่ที่ 88 กิโลกรัม เท่ากับ ไซคอม มิราไบ ชานุ จากอินเดีย ส่วน ฮัว จือ ฮุย จากจีน ยกได้ 89 กิโลกรัม และ มิเฮลา วาเลนตินา คัมเบ จากโรมาเนีย ยกได้ 93 กิโลกรัม ทำให้ต้องลุ้นแย่งเหรียญกันต่อในท่าคลีนแอนด์เจิร์ก
ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก สุรจนา ครั้งแรกยกผ่านที่ 110 กิโลกรัม, ครั้งที่ 2 ยกผ่านที่ 112 กิโลกรัม และครั้งที่ 3 เรียกเหล็ก 114 กิโลกรัม แต่ยกไม่ผ่าน ทำให้สถิติน้ำหนักรวมอยู่ที่ 200 กิโลกรัม คว้าเหรียญทองแดงสำเร็จ
โดย เหรียญทอง เป็นของ ฮัว จือ ฮุย จากจีน สถิติ 206 กิโลกรัม (89-117) ทำลายสถิติท่าคลีนแอนด์เจิร์กโอลิมปิกองตัวเอง ที่เคยทำไว้ 116 กิโลกรัม ในโอลิมปิก “โตเกียว 2020“ และเหรียญเงิน มิเฮลา วาเลนตินา คัมเบ จากโรมาเนีย 205 กิโลกรัม (93-112)
สำหรับเงินรางวัลที่ สุรจนา คำเบ้า ได้รับจากการคว้าเหรียญทองแดง มาจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย 4.8 ล้านบาท (จ่ายเป็นเงินก้อนอัตราร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนในระยะเวลา 4 ปี), เงินเดือนจากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เดือนละ 8,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 1.92 ล้านบาท และจาก บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 3 แสนบาท รวมเป็นเงิน 7.02 ล้านบาท