กีฬา

ชำแหละจุดเด่น-จุดอ่อนทีมเต็ง ศึก ยูโร 2024 หลังผ่านรอบแบ่งกลุ่ม

โดย JitrarutP

27 มิ.ย. 2567

483 views

การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ก็ได้ดำเนินเกือบครึ่งทางเป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่แต่ละทีมได้ลงเตะรอบแบ่งกลุ่มครบทุกทีมแล้ว ซึ่งหลังจากผ่านไป 3 นัด ในรอบแบ่งกลุ่มทำให้เราได้เห็นฟอร์มการเล่นแต่ละทีมกันบ้างแล้วว่าแต่ละทีมมีวิธีการเล่นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเหล่าบรรดาทีมเต็งที่ต้องบอกว่า บางทีมก็เล่นได้ตามมาตรฐาน บางทีมเล่นได้เหนือความคาดหมาย หรือแม้กระทั่งบางทีมที่ถูกคาดหมายว่าจะเล่นได้ดีในทัวร์นาเมนต์นี้ กลับโชว์ฟอร์มไม่ออกก็มี

ฉะนั้น วันนี้เราลองมาชำแหละ เหล่าบรรดาทีมเต็งทั้งหลายในศึกยูโร 2024 หลังผ่านรอบแบ่งกลุ่มกันว่าแต่ละทีมมีจุดแข็ง-จุดอ่อน เป็นอย่างไรบ้าง

เจ้าภาพ เยอรมนี

เริ่มกันที่เจ้าภาพเยอรมนี เข้ารอบด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม ด้วยการมี 7 คะแนน ก่อนทัวร์นาเมนต์นี้ จะเริ่มขึ้น ทัพอินทรีเหล็ก ถูกยกให้เป็นเต็ง 3 ต่อจาก ฝรั่งเศส และ อังกฤษ แม้ว่าในช่วงระยะหลังมานี้ เยอรมัน จะมีผลงานไม่ค่อยดีนัก ทั้งตกรอบแรก ฟุตบอลโลก 2018 และ ตกรอบฟุตบอลยูโร 2020 รวมถึงการตกกรอบฟุตบอลโลก 2022 แต่ถึงกระนั้น เยอรมัน ก็ยังถูกยกให้เป็นเต็ง 3 ด้วยความเป็นเจ้าภาพบวกชุดตัวผู้เล่นที่ ยูเลียน นาเกลส์มันน์ เลือกมานั้น ดูแข็งแกร่งกว่าที่ผ่านมาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะ ผู้เล่นเกมรุกที่ดูจัดจ้านเสียเหลือเกินไม่ว่าจะเป็น จามาล มูเซียล่า จาก บาเยิร์น มิวนิค ฟลอเรียน เวิร์ตซ์ จาก เลเวอร์คูเซ่น แถมได้ โทนี่ โครส มาคอยคุมแดนกลางอีก ช่างเป็นส่วนผสมที่จะเป็นประโยชน์แก่ นาเกลส์มันน์ เสียจริงๆ


จุดแข็ง

หลังจากลงเตะรอบแบ่งกลุ่มในกลุ่ม A ที่อยู่ร่วมกับ สก็อตแลนด์ ฮังการี สวิตเซอร์แลนด์ ทัพอินทรีเหล็ก สามารถเก็บชัยชนะได้ 2 นัด ด้วยการเอาชนะ สก็อตแลนด์ 5-1 และ ชนะ ฮังการี 2-0 และ เสมอกับ สวิตเซอร์แลนด์ 1-1 ในนัดสุดท้าย จาก 3 เกมที่ผ่านมาเราจะเห็นจุดแข็งของเยอรมันชุดนี้คือ ความยืดหยุ่นในระบบการเล่น ถามว่าระบบการเล่นยืดหยุ่นอย่างไร อธิบายอย่างนี้ แผนการเล่นที่ นาเกลส์มันน์ จัดลงไปเล่นตอนแรก ในผังที่ขึ้นมาจะเป็น 4-2-3-1 แต่พอลงไปเล่นแล้ว บางครั้งวิธีการยืนถูกเปลี่ยนเป็น 3-4-2-1 โดยให้ ไค ฮาแวร์ตซ์ เล่นเป็น ฟอลส์ไนน์ และ ให้ มูเซียล่า กับ เวิร์ตซ์ ทำเกมรุกร่วมกัน โดยตั้งบอลที่ โทนี่ โครส จากแนวลึก  และ เอา โยซัว คิมมิช ในบทบาท วิงแบ็ค ไปขึงไว้ในแดนของคู่แข่ง


ซึ่งระบบนี้จะทำให้ เยอรมัน จะน่ากลัวมากทั้งการเล่นบอลจากแนวลึก การเล่นบอลจากริมเส้น การสอดเข้าไปเล่นน่ากรอบเขตโทษ และข้อดีของการเอา คิมมิช ไปฝังไว้ในแดนคู่แข่งคือจะทำให้พื้นที่การโจมตีมากขึ้นด้วย แถมบางจังหวะก็สามารถมาเป็น 4-2-3-1 ได้ด้วย แล้วแต่สถานการณ์ นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า ความยืดหยุ่นระบบการเล่นที่ไม่ตายตัวเหมือนยุคก่อน นอกจากนี้ ต้องชม นาเกลส์มันน์ ที่สามารถหาจุดลงตัวให้ทั้ง มูเซียล่า กับ เวิร์ตซ์ ได้ เพราะอย่างที่ทราบกันทั้ง 2 คนนี้มีสไตล์การเล่นที่คล้ายกัน จนหลายคนคิดไม่ตกว่าจะลงเล่นด้วยกันได้หรือไม่ แต่  นาเกลส์มันน์ ทำได้ จุดนี้ต้องยกเครดิตให้เลย


จุดอ่อน

คราวนี้มาดูจุดอ่อนกันบ้าง แน่นอนว่าจุดแข็งคือเกมรุกที่ดุดัน ระบบการเล่นที่ยืดหยุ่น ขณะเดียวกันเมื่อไหร่ก็ตามที่ วิงแบ็คดันสูง นั่นหมายความว่า คู่แข่งจะมีพื้นที่โจมตีมากขึ้นด้วยเช่นกัน ถ้าหากตัดบอลได้ แถมดูเหมือนว่า คู่เซ็นเตอร์ระหว่าง รูดิเกอร์ กับ โจนาธาน ทาห์  ยังดูมีช่องโหว่ อยู่บ้าง ทั้งการรับมือผู้เล่นจัดจ้านและลูกตั้งเตะ ซึ่งน่าแปลกมากเพราะ ทั้งคู่เป็นกองหลังตัวใหญ่ แต่ในบางจังหวะก็ยังปล่อยให้คู่แข่งมีโอกาสจบสกอร์จากลูกตั้งเตะได้เหมือนกัน นั่นอาจเป็นเพราะการยืนตำแหน่งบางครั้งอาจจะยังหละหลวมไปหน่อย หรือแม้กระทั่งตัวสำรองที่อาจจะยังไม่สามารถทดแทนตัวจริงได้เท่าไหร่นัก ซึ่งก็คิดไม่ตกเหมือนกันว่าถ้าหากรอบต่อไปตัวจริงกลับเล่นไม่ออกเอาดื้อๆ ตัวสำรองที่ส่งลงไปจะสามารถเปลี่ยนเกมได้มากน้อยแค่ไหน

ฝรั่งเศส




คราวนี้มาดูทีมเต็ง 2 กันบ้าง อย่าง ทัพตราไก่ ทีมชาติ ฝรั่งเศส ที่นำทัพมาโดย ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ ทัพตราไก่ผ่านเข้ารอบด้วยการเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม ซึ่งดูจะผิดคาดไปเสียหน่อย ด้วยการ ชนะ ออสเตรีย 1-0 เสมอ เนเธอร์แลนด์ 0-0 และปิดท้ายด้วยการเสมอโปแลนด์ 1-1 มี 5 แต้ม ถึงแม้จะเข้ารอบเป็นอันดับ 2 แต่ เดส์ชองส์  ก็ยังพอใจที่ทีมผ่านเข้ารอบ แม้จะชวดแชมป์กลุ่มก็ตาม แถม ณ เวลา นี้ สื่อต่างประเทศ ยังยกให้ ฝรั่งเศส เป็นเต็ง 1 แทนที่ อังกฤษ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


จุดแข็ง

ถ้าหากจะถามถึงจุดแข็งของทีมชาติฝรั่งเศส ต้องถึงกับอุทานว่า โอ้โห! เพราะเขาแข็งทุกตำแหน่งจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น ตัวผู้เล่น ระบบทีม ประสบการณ์  ถึงแม้จะครองบอลไม่นาน แต่เวลาเสียแย่งกลับมาได้เร็ว แถมผู้เล่นแต่ละคนที่ เดส์ชองส์ เลือกมานั้น แข็งแกร่งทุกระเบียบนิ้ว ไล่ตั้งแต่แนวรับ เช่น วิลเลียม ซาลิบา กองหลังตัวเก่งจาก อาร์เซนอล ที่มีทั้ง ความแข็งแกร่ง การอ่านเกม หรือ แม้กระทั่ง การบิวท์อัพจากแดนตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เซ็นเตอร์สมัยใหม่ควรมี แดนกลาง แน่นอนว่าการมี เอ็นโกโล ก็องเต้ จะทำให้เพื่อนร่วมทีมเล่นบอลง่ายขึ้น ทั้งเกมรุกและเกมรับ ยิ่งไปกว่านั้น เราจะเห็นว่า เดส์ชองส์ ปรับวิธีการเล่นของ ก็องเต้ ด้วยการยืนเป็น มิดฟิลด์ หมายเลข 8 คอยเชื่อมเกมและสอดเข้าไปหน้ากรอบเขตโทษ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ ฝรั่งเศส สามารถเปลี่ยนจากรับเป็นรุกได้อย่างรวดเร็ว


ส่วนเกมรุกไม่ต้องพูด อาวุธครบมือ ไล่ตั้งแต่ คิเลียน เอ็มบัปเป อุสมาน เดมเบเล, มาร์คัส ตูราม อองตวน กรีซมันน์ หรือตัวเก๋าอย่าง โอลิวิเยร์ ชิรูด์ ล้วนแต่เป็นตัวท็อประดับพระกาฬทั้งนั้น และสำคัญที่สุดคือ กุนซือ ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ คือกุญแจสำคัญของทีมชุดนี้ด้วยเช่นกัน ประสบการณ์คุมทีมชาติ ฝรั่งเศส เข้าชิง ฟุตบอลยูโร 2016 แชมป์โลก 2018 รองแชมป์ฟุตบอลโลก 2022 คือผลงานที่ไม่ธรรมดา เขาคือคนที่รู้ว่าวิธีการเข้าชิงทำอย่างไร วิธีการเป็นแชมป์ ทำอย่างไร รอบต่อไปต้องเล่นแบบไหน สิ่งเหล่านี้ เดส์ชองส์ เข้าใจเป็นอย่างดี


จุดอ่อน

แน่นอนว่าต่อให้แกร่งแค่ไหนก็ต้องมีจุดอ่อน เกมรุกที่ดูเหมือนว่ายังมีจังหวะที่เชื่อมกันไม่ติด รวมถึงอาการบาดเจ็บของ เอ็มบัปเป้ ที่บริเวณจมูก ทำให้เขาพลาดลงสนามที่เจอกับ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่า การขาด เอ็มบัปเป้ นั้นส่งผลกระทบต่อเกมรุก ฝรั่งเศส อยู่เหมือนกัน ทั้งแท็กติกที่ต้องเปลี่ยน ลูกฉาบฉวย ความเฉียบคม ถึงแม้ว่า เกมสุดท้ายที่เจอกับ โปแลนด์ จะลงสนามได้ก็ตามแต่ถ้าหากสถานการณ์คับขัน เอ็มบัปเป้ ลงไม่ได้ขึ้นมาเกมรุกของ ฝรั่งเศส อาจจะดร็อปลงไปไม่น้อยเลยทีเดียว ฉะนั้น เดส์ชองส์ อาจจะต้องหาแผนสำรองเอาไว้ก่อน


อังกฤษ

ขวัญใจมหาชน ทัพสิงโตคำราม ที่นำมาโดย แกเร็ท เซาท์เกต ปีนี้ถูกยกให้เป็นเต็ง 1 ในฟุตบอลยูโร หนนี้ ด้วยผลงานที่จับต้องได้ ตั้งแต่ อันดับ 4 ฟุตบอลโลก 2018 รองแชมป์ฟุตบอลยูโร 2020 รอบ 8 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลกปี 2022  แถมผู้เล่นอายุน้อยหลายคนแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในฤดูกาลนี้ ไม่ว่าจะเป็น ฟิล โฟเดน บูกาโย้ ซาก้า  จู๊ด เบลลิงแฮม ค็อบบี้ ไมนู บวกกับตัวหลักที่มีอยู่อย่าง แฮร์รี เคน ดีแคลน ไรซ์ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ จึงทำให้ทีมชุดนี้ของ อังกฤษ ดูน่ากลัวมาก แต่พอเอาเข้าจริงๆกลับผิดคาดหมดเลย แม้ว่าอังกฤษจะไม่แพ้ใครในรอบแบ่งกลุ่ม (ชนะ เซอร์เบีย 1-0 เสมอ เดนมาร์ก 1-1 เสมอ สโลวีเนีย 0-0) แต่วิธีการเล่นที่ดูแล้ว ชวนง่วง ระบบการเล่นไม่ชัดเจน จัดตำแหน่งไม่ลงตัว ทำให้เวลานี้ อังกฤษหล่นมาอยู่เต็ง 2 เป็นที่เรียบร้อย

จุดแข็ง

จุดแข็งของทีมชาติอังกฤษชุดนี้คือการมีผู้เล่นระดับท็อปอยู่เต็มทีม แถมแต่ละคนอายุยังน้อย ความสดกำลังจัดจ้าน ในสถานการณ์คับขัน จังหวะฉาบฉวย ดวล 1-1 อังกฤษยังมีความน่ากลัวอยู่ หรือแม้กระทั่งการเล่นที่ไม่หวือหวา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ทีมต้องการรักษาสกอร์ จุดนี้จะเป็นสิ่งที่อังกฤษได้เปรียบเมื่อเจอคู่แข่งที่เหนือกว่า รับแน่น ยืนคุมตำแหน่งดี พอมีจังหวะโต้กลับ อังกฤษได้ลุ้นเสมอ ซึ่งวิธีการนี้เคยใช้ได้ผลมาแล้วหลายครั้ง และมีผลงานจับต้องได้ด้วย  อันดับ 4 ฟุตบอลโลก รองแชมป์ฟุตบอลยูโร 2020  

จุดอ่อน

ผ่าน 3 นัดแรก แกเร็ธ เซาธ์เกต โดนวิจารณ์เพียบ ทั้งเรื่องการจัดตัว การวางระบบการเล่น การตัดสินใจเปลี่ยนตัว การเรียกตัวผู้เล่น ทุกอย่างมันดูติดขัดไปหมด เอาเรื่องการจัดตัวก่อน การมีผู้เล่นระดับท็อปเต็มทีมถามว่าเป็นเรื่องดีไหม ใช่ เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องอยู่ที่ผู้จัดการทีมด้วยว่าจะจัดปันส่วนอย่างไรให้ลงตัว เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ ตำแหน่งธรรมชาติคือแบ็คขวา แต่ 2 เกมแรก ถูกจับเอามาเล่นตรงกลาง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ไม่เวิร์ค ถามว่าทำไมไม่เวิร์ด ทั้งๆที่ก็เคยเล่นมาก่อน ต้องอธิบายอย่างนี้ ตอนเล่นกับ ลิเวอร์พูล  เทรนต์ เล่นเป็น อินเวอร์สฟูลแบ็ค ซึ่งตำแหน่งนี้ จะเห็นผลก็ต่อเมื่อการโยนบอลจากแนวลึก ขณะที่เกมรับก็ต้องกลับมายืนตามตำแหน่ง แต่พอมายืนเป็น มิดฟิลด์ตรงกลาง ผลลัพธ์มันคนละเรื่อง


คุณสมบัติของ มิดฟิลด์ ไม่ใช่แค่เปิดบอล จ่ายบอลอย่างเดียว แต่คุณจะต้อง มีพละกำลังคอยวิ่งตัดบอล คอยดักจังหวะเกมรุกของคู่แข่ง พลิกซ้ายพลิกขวา เห็นแล้วจ่ายบอลให้เพื่อนเล่นได้ วิสัยทัศน์ยอดเยี่ยม หรือแม้กระทั่งการสอดขึ้นทำประตู ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้  เทรนต์ ไม่ได้มีมากมายขนาดนั้น ผลลัพธ์เลยออกมาอย่างที่เห็น


ขณะเดียวกันวิธีการเล่นที่ดูย้อนแย้ง ถามว่าย้อนแย้งยังไง ย้อนกลับไปเกมที่เจอกับ เดนมาร์ก อังกฤษ นำก่อน 1-0 ตั้งแต่ต้นเกม แต่พอนำแล้วกลับตั้งรับไม่บุกต่อ ทั้งๆที่เพิ่งต้นเกม แถมตัวผู้เล่นที่จัดลงไปคือมีแต่ผู้เล่นเกมรุกทั้งนั้น แต่กลับเล่นรับลึก สุดท้ายโดนประตูตีเสมอ มันเลยทำให้เห็นว่า แนวทางการเล่นกับการจัดตัวมันยังไม่สอดคล้องกัน มันดูไม่ชัดเจน หลังจากนี้ยังพอมีเวลาให้แก้ไข ถ้าหาก เซาธ์เกต ยังเล่นเหมือนเดิม ก็มีสิทธิ์ที่จะตกรอบก่อนเวลาอันควร

สเปน

ต้องบอกว่าลูกทีมของ หลุยส์ เด ลา ฟูเอนเต ทำผลงานได้สุดยอดมากในรอบแบ่งกลุ่ม ชนะรวด 3 นัด ยิงได้ 5 ประตู ไม่เสียเลยแม้แต่ลูกเดียว  แบ่งเป็นชนะ โครเอเชีย 3-0 ชนะ อิตาลี 1-0 และ ชนะ แอลเบเนีย 1-0 แถมวิธีการเล่นก็ผิดความคาดหมายไปจากเดิมมาก เพราะภาพจำของ สเปน คือ เน้นการครองบอล ติกี้-ตาก้า เล่นบอลตามช่อง แต่พอเป็นชุดนี้ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ สเปน มีความดุดันมากขึ้น เน้นการโจมตีแบบฉาบฉวย ไม่น่าเบื่อ หลายคนไม่ค่อยคาดหวังกับ สเปน เท่าไหร่นักอาจจะด้วยตัวผู้เล่นที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่าย และ กุนซือโนเนม อย่าง เด ลา ฟูเอนเต แต่ถึงกระนั้น  สเปน ก็ยังถูกยกเป็นเต็ง 5 และ ดูเหมือนว่าเราจะมองข้าม ทัพกระทิงดุ ไปไม่ได้แล้ว


จุดแข็ง

ทีมชาติสเปนชุดนี้มีขุมกำลังที่น่าสนใจมาก ไล่ตั้งแต่ผู้รักษาประตู ที่มี อูไน ซิมอน จาก แอธเลติก บิลเบา และ ดาวิด ราย่า จาก อาร์เซนอล นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม สเปน ถึงยังไม่เสียประตู  แดนกลาง มีตัวคุมจังหวะเกมระดับพระกาฬอย่าง โรดรี้ แถมมี เปดรี้ และ ฟาเบียน รุยซ์ คอยทำเกมอยู่ด้านบน ทำให้การบิลด์อัพ ก่อนถึงแดนสุดท้าย ดูไหลลื่น นอกจากนี้ สเปน ยังเน้นโจมตีทางด้านข้างมากขึ้น โดยเฉพาะ ลามิน ยามาล เจ้าหนูวัย 16 ปี ที่ต้องบอกว่าฟอร์มกำลังจัดจ้านดีนักแล ส่วน นิโก้ วิลเลี่ยมส์ ประจำการทางฝั่งซ้าย ก็หาตัวจับยากเช่นกัน ฉะนั้นทีมไหนที่เจอ รับรองว่า เหนื่อยแน่นอน อีกหนึ่งจุดที่ดูจะเปลี่ยนไปก็คือ เมื่อยามใดที่เสียบอล สเปน จะใช้วิธีการ เพรสซิ่ง หรือไล่บอลอย่างดุดัน เพื่อแย่งบอลกลับมาให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งแตกต่างจาก สเปน ยุคก่อนโดยสิ้นเชิง

จุดอ่อน

ถ้าหากจะหาจุดอ่อนจากทีมสเปนชุดนี้คือด้วยความที่ สเปน เน้นวิธีการโจมตีจากทางด้านข้าง ซึ่งทั้ง ยามาล และ วิลเลี่ยมส์ ยังอายุน้อยด้วยกันทั้งคู่ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าหากเจอคู่แข่งเขี้ยวๆ ตั้งรับลึก อาจจะทำให้ เจ้าหนูวัยคะนอง 2 รายนี้ แผงฤทธิ์ไม่ออกก็เป็นได้ ซึ่งนั่นจะทำให้ ทัพกระทิงดุ อาจเจอปัญหาได้ รวมถึงเรื่องนอกสนามก็มีส่วนเช่นกัน เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวว่า สเปน อาจโดนกฏหมายของประเทศเยอรมันเล่นงานฐานใช้แรงงาน เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เกินเวลาที่กำหนด ฐานที่ส่งเจ้าหนู ยามาล ลงสนามเกินเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้ามีปัญหาตามมา ก็อาจจะส่งผลต่อสมาธิของนักเตะได้  

โปรตุเกส

อดีตแชมป์ยูโร ปี 2016 ที่ปีนี้ นำทีมโดย โรเบร์โต มาร์ติเนซ บอกเลยว่า ขุมกำลังมีให้เลือกเต็มไม้เต็มมือไปหมด ขุมกำลังแข็งแกร่งไม่แพ้ไม่ฝรั่งเศสเสียด้วยซ้ำ อยู่ที่ว่า มาร์ติเนซ จะเลือกวิธีการเล่นแบบไหน โปรตุเกส เข้ารอบด้วยการคว้าแชมป์กลุ่ม F ด้วยการ ชนะ สาธารณเช็ก 2-1 ชนะ ตุรกี 3-0 แต่นัดสุดท้ายดันมาแพ้ จอร์เจีย แบบพลิกล็อค 2-0 ช่วงแรก มาร์ติเนซ พยายามลองทีมด้วยการเล่นระบบ 3 เซ็นเตอร์ และพยายามจับเอา วิตินญ่า, บรูโน่ เฟอร์นันเดส ,แบร์นาร์โด้ ซิลวา เล่นร่วมกันในแดนกลาง และ เอา ดาโล่ต์ กับ กันเซโล่ มาเล่นเป็น อินเวอร์สฟูลแบ็ค ผลลัพธ์ที่ได้คือ ไม่เวิร์ค แม้ว่าจะชนะก็ตาม แต่การขึ้นเกมยังดูติดขัด เกมที่ มาร์ติเนช กลับมาใช้สูตรเดิมคือ 4 เซ็นเตอร์ และเอา แบร์นาร์โด้ ไปยืนริมเส้นฝั่งขวา บวกกับส่ง ปาลินญ่า ไปยืนเป็น มิดฟิลด์ ตัวรับ สรุปคือได้ผล เกมดูไหลลื่นขึ้นเห็นได้ชัด ส่วนนัดสุดท้ายที่แพ้ จอร์เจีย เข้าใจได้ว่า ส่งตัวสำรองลงไป แต่ก็ยังดูผิดฟอร์มไปหน่อย


จุดแข็ง

อย่างที่กล่าวไปคือ โปรตุเกส มีผู้เล่นเพียบพร้อมทุกตำแหน่งอยู่ที่ว่า มาร์ติเนซ จะเลือกใช้แบบไหน ลองนึกภาพว่ามีตัวเปิดบอลอย่าง บรูโน่ หรือ ตัวสร้างสรรค์เกมอย่าง แบร์นาร์โด้ มีตัวจบสกอร์อย่าง โรนัลโด้ มีตัวคุมเกมรับอย่าง เปเป้ แค่คิดก็สนุกแล้ว ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้คือจุดแข็งที่ โปรตุเกส ดูจะน่ากลัวอยู่เหมือนกัน คริสเตียโน โรนัลโด้ แม้ว่าจะอายุ 39 ปี แล้ว แต่ความเป็น โรนัลโด้ แน่นอนว่าย่อมสร้างความกังวลให้คู่แข่งไม่น้อย ในสถานการณ์ที่คับขันทีมต้องการเอาตัวรอด ประสบการณ์ของ โรนัลโด้ จะเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ตัวริมเส้นของ โปรตุเกส ก็น่ากลัวทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น ชูเอา เฟลิกซ์, ฟรานซิสโก้ คอนเซยเซา, ราฟาเอล เลเอา ผู้เล่นเหล่านี้แน่นอนว่าสร้างความอันตรายให้คู่แข่งเป็นอย่างมากเมื่อได้บอล


จุดอ่อน

เรียนตามตรงว่า การมี โรนัลโด้ เหมือนเป็นดาบสองคมเหมือนกัน เพราะบางครั้งการที่ต้องเล่นกับผู้เล่นระดับโลกอย่าง โรนัลโด้ ปัญหาที่จะตามมาคือความเกรงใจ อธิบายให้เห็นภาพ ถ้าหากคุณอยู่ในจังหวะที่ยิงได้ แต่ขณะเดียวกัน โรนัลโด้ ก็ขอบอลอยู่ ซึ่งถ้าหากคุณเลือกยิงเองโดยไม่จ่ายบอลให้ โรนัลโด้ แน่นอนว่าคุณจะโดนบ่นทันที ฉะนั้น ความเกรงใจ โรนัลโด้ บางครั้งอาจจะทำให้ทีมเสียจังหวะไป หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่บอลไปไม่ถึง โรนัลโด้ นั่นหมายความว่า โอกาสการจบสกอร์ของทีมก็ลดลงไปด้วยนั่นเอง แต่ไม่ได้ความว่าการมี โรนัลโด้ เป็นสิ่งที่แย่เสมอไป  

อิตาลี

แชมป์เก่ารายการนี้เมื่อปี 2020 ถูกยกให้เป็นเต็ง 7 ซึ่งอาจจะด้วยหลายปัจจัยที่ทำให้ อิตาลี อาจจะไม่ได้อยู่ในระดับหัวแถวทั้งๆที่เป็นแชมป์เก่ารายการนี้ ลูชาโน่ สปัลเล็ตติ เพิ่งเข้ามาทำทีมต่อจาก โรแบร์โต้ มันชินี่ เมื่อปีที่แล้ว ฉะนั้น การเข้ามาในช่วงการเปลี่ยนถ่ายนักเตะกับระยะเวลาแค่ 1 ปี มันอาจจะเร็วไปสักหน่อยที่จะหานักเตะรุ่นใหม่มาต่อยอดจากความสำเร็จเมื่อปี 2020 นักเตะหลายคนอายุเฉลี่ย 25+ แทบจะทั้งนั้น มีแค่ ริคคาร์โด้ คาลาฟิออรี แบ็คซ้ายจาก โบโลญญ่า ที่มีอายุเพียง 22 ปี ฉะนั้นการรับมือผู้เล่นตัวรุกของสเปนที่มีความสด ความจัดจ้าน จะทำให้ อิตาลี เจอปัญหา ผลงานในรอบแบ่งกลุ่ม ชนะ 1 แพ้ 1 เสมอ 1 เข้ารอบเป็นที่ 2 ของกลุ่ม โดยแบ่งเป็น ชนะ แอลเบเนีย นัดแรก 2-1 แพ้ สเปน 1-0 และ เสมอ โครเอเชีย 1-1 ในนัดสุดท้าย


จุดแข็ง

แม้เรื่องของคลาสบอลอาจจะสู้ปี 2020 ไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่า ทีมชุดนี้นักเตะมีความใจสู้ไม่ยอมแพ้ คาแรคเตอร์ชัดเจน คุมพื้นที่ของตัวเองได้ดีเน้นผลการแข่งขัน นักเตะเล่นเป็นระเบียบแบบแผน ตรงตามที่ สปัลเล็ตติ วางไว้ แถมผู้รักษาประตูอย่าง  จิอันลุยจิ ดอนนารุมมา ก็ยังไว้ใจได้เสมอ มองเผินๆอาจจะไม่ได้หวือหวา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่พลาดถูก อิตาลี ยิงนำก่อน รับรองว่าการจะทวงประตูคืนจาก อิตาลี บอกเลยว่าเหนื่อยแน่


จุดอ่อน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ด้วยระยะเวลาแค่ 1 ปี ของ สปัลเล็ตติ กับการที่มาทำทีม อิตาลี ชุดเปลี่ยนถ่ายมันอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะคาดหวัง เพราะต้องยอมรับว่า คลาสของผู้เล่นชุดนี้ ยังเป็นรองหลายทีม ด้วยวิธีการเล่นเน้นผลการแข่งขัน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เจอผู้เล่นจัดจ้านบดตลอดทั้งเกม ถามว่าจะไหวไหม? ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วในเกมที่พบกับ สเปน แถมเกมสุดท้ายที่เสมอ โครเอเชีย หลังเกม สปัลเล็ตติ ออกอาการไม่พอใจลูกทีม และมองว่ายังเล่นได้ต่ำกว่ามาตรฐาน และยังบอกอีกว่าบางครั้งเราเสียบอลในแบบที่เราไม่ควรเสีย ซิ่งก็แสดงให้เห็นว่า อิตาลี ยังคงมีปัญหา ในเรื่องความสม่ำเสมอในเกม และความเข้าใจเกม หลังจากนี้ สปัลเล็ตติ คงต้องไปปรับความเข้าใจกับลูกทีมกันใหม่


เนเธอร์แลนด์
สำหรับ ทัพ อัสวินสีส้ม ผ่านเข้ารอบมาในฐานะอันดับ 3  กลุ่ม D แข่ง 3 นัด ชนะ โปแลนด์ 2-1 เสมอ ฝรั่งเศส 0-0 และเกือบแย่ในนัดสุดท้ายเพราะดันไปแพ้ ออสเตรีย 2-3 แต่ก็ยังผ่านเข้ารอบมาได้ ก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มขึ้น เนเธอร์แลนด์ ถูกยกให้เป็นเต็ง 8 ของรายการนี้ ด้วยความที่ตัวผู้เล่นหลายคนก็เริ่มโรยราไปบ้าง แถมครั้งนี้ก็นำทีมโดย โรนัลด์ คูมัน ซึ่งถ้าจะให้เทียบกับชุดฟุตบอลโลก 2022 ที่นำโดย หลุยส์ ฟาน กัล ก็คงจะเทียบกันไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้เล่นที่ยังฝากความคาดหวังได้ โดยเฉพาะผู้เล่นเกมรุก เจเรมี่ ฟริมปง, ซาฟี ซิมอนส์, โกดี้ คักโป  เมมฟิส เดอปาย ที่สามารถปรับเปลี่ยนทดแทนตำแหน่งกันได้ตลอด


จุดแข็ง

เกมรุกที่นำมาโดย เจเรมี่ ฟริมปง, ซาฟี ซิมอนส์, โกดี้ คักโป  เมมฟิส เดอปาย ดอนเยลล์ มาเลน คือความหลากหลายในเกมรุกของ เนเธอร์แลนด์ เพราะนักเตะเหล่านี้สามารถทดแทนกันได้ในระหว่างเกม ซึ่งการสลับทดแทนตำแหน่ง จะทำให้คู่แข่งหลงตัวประกบ และเกิดพื้นที่เข้าโจมตีได้ ขยับมาที่เกมรับ การมี เฟอร์จิล ฟาน ไดค์ บัญชาการในแดนหลัง ก็ทำให้เพื่อนร่วมทีมอุ่นใจได้บ้างในยามที่แบ็คสองข้างดันเกมขึ้นสูง

จุดอ่อน

การขาด แฟรงกี้ เดอ ยอง ต้องบอกว่าเสียหายมาก เพราะ เดอ ยอง คือหัวใจในแดนกลาง ซึ่งคงเป็นเรื่องยากที่จะจับใครลงไปเล่น นั่นหมายความว่าการไม่มี เดอ ยอง ทำให้ แท็กติก ของ คูมัน ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย และดูเหมือนว่ายังหาจุดลงไม่ได้ด้วยซ้ำ ในขณะที่เกมรุก ลองนึกภาพสมัยก่อนที่ เนเธอร์แลนด์ เคยมีกองหน้าโป้งเดียวจอดอย่าง โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ หรือ รุด ฟานนิสเตลรอย แต่พอลองดูทีมชุดนี้แทบจะหาผู้เล่นที่อยู่ในระดับนั้นไม่ได้เลย ทำให้หลายครั้ง เนเธอร์แลนด์ ดูจะใช้โอกาสจบสกอร์ เยอะไปหน่อย แถมเกมรับ แน่นอนว่า ฟาน ไดค์  คือ กองหลังที่เพื่อนฝากความหวังได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ฟาน ไดค์ หลุดฟอร์มแบบดื้อๆ เกมรับของ เนเธอร์แลนด์ ก็มีปัญหา เช่นกัน


เบลเยียม


ปีศาจแดงแห่งยุโรป ถูกวางไว้ที่ เต็ง 6  เข้ารอบด้วยการเป็นอันดับ 2 ของ กลุ่ม E แข่ง 3 นัด แพ้ สโลวะเกีย 1-0 ชนะ โรมาเนีย 2-0 และเสมอ ยูเครน 0-0 ในนัดสุดท้าย การแพ้ในนัดแรกของ เบลเยียม ทำให้จากที่จะต้องเข้ารอบแบบสบายๆสุดท้ายตัวเองต้องมาเหนื่อยเอง และต้องบอกว่า กลุ่ม E    เป็นกลุ่มที่ลุ้นเข้ารอบสนุกเลย เพราะ 4 ทีม มี 4 แต้ม เท่ากันหมด ต้องมาวัดจากประตูได้เสีย จึงได้บทสรุป เป็น โรมาเนีย เบลเยียม และ สโลวะเกีย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ชื่อชั้นของ เบลเยียม ที่ดูเหมือนจะดีกว่า แต่กลับไม่ได้เปรียบคู่แข่งเลย แถมยังต้องมาเหนื่อยนัดสุดท้าย แต่ก็ยังโชคดีที่เข้ารอบมาได้


จุดแข็ง

การมี เควิน เดอ บรอยน์ และตัวริมเส้นอย่าง เฌเรมี่ โดกู รวมถึง เลอันโดร ทรอสซาร์ด ยังคงเป็นจุดแข็งที่ เบลเยี่ยม ใช้เป็นอาวุธในการโจมตีคู่แข่งได้ดี ทั้งการโจมตีจากแนวลึกและริมเส้น แน่นอนว่าเราสามารถคาดหวังการสร้างสรรค์โอกาสจาก เดอ บรอยน์ ได้ รวมถึงลูกหวือหวาฉาบฉวยจาก โดกู และ ทรอสซาร์ด โดยมี โรเมลู ลูกากู คอยสกรีนแนวรับคู่แข่งเพื่อให้เพื่อนได้มีพื้นที่เล่นเกมรุกมากขึ้น


จุดอ่อน
ต้องยอมรับตามตรงว่า เบลเยียม ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนฟุตบอลโลก 2018 ผู้เล่นหลายคนเริ่มโรยรา บางคนเลิกเล่นไปแล้ว ผู้เล่นที่ขึ้นมาก็ยังคงทดแทนไม่ได้ การมี เดอ บรอยน์ อยู่ในสนามแน่นอนว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าหากเพื่อนไม่เข้าใจเกม คลาสบอลไม่ถึง  ลำพัง เดอ บรอยน์ คนเดียวก็คงแบกไม่ไหว แถม ณ เวลา นี้ทรงบอลของ เบลเยี่ยม ก็ยังดูติดขัดไปหมด จะรุกก็ไม่สุด เสียบอลกลางทาง นักเตะดูไม่มีความกระหาย จังหวะจบสกอร์มีน้อย มีน้อยไม่พอยังใช้โอกาสเปลืองอีก ยังดีที่รอบนี้ยังไม่เจอทีมเขี้ยวลากดินมากนัก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เจอทีมระดับหัวแถวและยังเล่นด้วยบอลทรงนี้บอกได้เลยว่าไม่น่ารอด


อันดับทีมเต็งแชมป์ยูโร 2024 ก่อนเตะรอบแบ่งกลุ่ม

●    เต็ง 1 อังกฤษ

●    เต็ง 2 ฝรั่งเศส

●    เต็ง 3 เยอรมนี

●    เต็ง 4 โปรตุเกส

●    เต็ง 5 สเปน

●    เต็ง 6 เบลเยียม

●    เต็ง 7 อิตาลี

●    เต็ง 8 เนเธอร์แลนด์



อันดันทีมเต็งแชมป์ยูโร 2024 หลังเตะรอบแบ่งกลุ่ม

●    เต็ง 1 ฝรั่งเศส

●    เต็ง 2 อังกฤษ

●    เต็ง 3 เยอรมนี

●    เต็ง 4 สเปน

●    เต็ง 5 โปรตุเกส

●    เต็ง 6 เนเธอร์แลนด์  

●    เต็ง 7 อิตาลี

●    เต็ง 8 สวิตเซอร์แลนด์  



บทสรุปประกบคู่รอบ 16 ทีม สุดท้าย จะมีดังต่อไปนี้

29/6/67 เวลา 23.00 น. สวิตเซอร์แลนด์ - อิตาลี

29/6/67 เวลา 02.00 น. เยอรมนี - เดนมาร์ก

30/6/67 เวลา 23.00 น. อังกฤษ - สโลวะเกีย

30/6/67 เวลา 02.00 น. สเปน - จอร์เจีย

01/07/67 เวลา 23.00 น. ฝรั่งเศส - เบลเยียม

01/07/67 เวลา 02.00 น. โปรตุเกส - สโลวีเนีย

02/07/67 เวลา 23.00 น. โรมาเนีย - เนเธอร์แลนด์

02/07/67 เวลา 02.00 น. ออสเตรีย - ตุรกี


และนี่คือบทวิเคราะห์ที่เราเห็นได้จากผลงานในรอบแบ่งกลุ่ม แต่ละทีมคงเห็นจุดอ่อนของตัวเองบ้างแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย แต่ละทีมคงไปทำการบ้านกันยกใหญ่ในการปรับปรุงทีมให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป้าหมาย แชมป์ยูโร 2024 นั่นเอง


วิเคราะห์โดย : ชวัลวิทย์ มีพิปราย


คุณอาจสนใจ

Related News