กีฬา

นักกีฬาผู้พิการไทย เดินทางถึงอินโดนีเซีย พร้อมแข่งขัน "อาเซียน พาราเกมส์" ครั้งที่ 11

โดย paweena_c

26 ก.ค. 2565

165 views

ทัพนักกีฬาผู้พิการของไทย เดินทางถึงเมืองโซโล ประเทศอินโดนีเซีย แล้ว เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันอาเซียน พาราเกมส์ ครั้งที่ 11 เป็นรายการสร้างนักกีฬาผู้พิการ ต่อยอดไปสู่พาราลิมปิก เกมส์ 2024


คุณณัฐธวัช อิงควิธาน ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ทัพนักกีฬาผู้พิการ ของไทยเดินทางถึงเมืองโซโล ประเทศอินโดนีเซียแล้ววันนี้ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 11 ซึ่งจะมีพิธีเปิดวันที่ 30 ก.ค. นี้ ไทยส่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น 479 คน ตั้งเป้าไว้ที่ 70 เหรียญทอง จาก 14 ชนิดกีฬา


โดยก่อนเดินทางนักกีฬาผู้พิการของไทยแสดงความมุ่งมั่นในช่วงซ้อมอยู่ที่ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา นครราชสีมา หนึ่งในกีฬาสร้างชื่อของไทย คือ วีลแชร์เรซซิ่ง ครั้งนี้ ประวัติ วะโฮรัมย์ ตำนานวีลแชร์เรซวัย 41 ปี ซึ่งเคยได้ 7 เหรียญทองโอลิมปิกผู้พิการ และแชมป์โลก 2 สมัย ยังมีไฟเต็มเปี่ยมสำหรับอาเซียนพาราเกมส์สมัยที่ 4 ของตัวเอง


ขณะที่ พงศกร แปยอ นักวีลแชร์เรซซิ่ง เจ้าของสถิตินักกีฬาไทยคนแรกที่คว้า 3 เหรียญทอง ในพาราลิมปิก ครั้งเดียว บอกว่า พร้อมเต็มที่สำหรับอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 3 ของตัวเอง ฝึกซ้อมกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลับมาจากพาราลิมปิก ที่ญี่ปุ่น เมื่อปีที่แล้ว ตั้งเป้าคว้า 3 เหรียญทองให้ได้


อีกหนึ่งกีฬาที่ไทยประสบความสำเร็จในวงการกีฬาคนพิการโลก นั่นคือ บ็อกเซีย กีฬานี้คล้ายกีฬาเปตอง คือ แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายพยายามโยน กลิ้ง ขว้าง หรือปล่อยลูกบอลสีแดงหรือสีน้ำเงิน บางประเภทปล่อยไปตามราง (ตามลักษณะความพิการ) ฝ่ายไหนปล่อยลูกใกล้เป้าหมายสีขาวมากที่สุด ภายในเวลาที่กำหนด เป็นฝ่ายชนะ โดย วัชรพล วงษา นักบอคเซียทีมชาติไทยวัย 30 ปี เจ้าของ 2 เหรียญทองพาราลิมปิก ตั้งเป้าจะคว้าเหรียญทองให้ได้



ไม่ใช่แค่ตัวนักกีฬาบ็อกเซียไทยที่โดดเด่นในเวทีโลก ขณะเดียวกันศูนย์ฝึกกีฬาบอคเซียแห่งชาติ ยังได้รับรางวัล Asia Pacific Property Awards รางวัลที่ใหญ่ที่สุดและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดในวงการออกแบบสถาปัตยกรรมและอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่ง Boccia Training Center ได้รับรางวัลระดับสูงสุดในหมวดงานออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อสันทนาการ


ปัจจุบันศูนย์ฝึกฯ แห่งนี้ซึ่งอยู่ภายในการกีฬาแห่งประเทศไทย นอกจากจะใช้เป็นที่เก็บตัวของนักกีฬาบอคเซียแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของสมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทยอีกด้วย


ขณะที่อายุเป็นเพียงแค่ตัวเลขสำหรับนักกีฬาวีลแชร์เทนนิสไทย อย่าง ชนันท์กานต์ เตชะมณีวัฒน์ เคยได้เหรียญเงินกีฬาโอลิมปิกของผู้พิการ ประเภทวีลแชร์เทนนิสหญิงคู่ ตั้งแต่เมื่อปี 2004 ที่กรีซ ปัจจุบันเธออายุ 65 ปี แต่ยังคงมุ่งมั่นแข่งขัน ต่อไป


รวมแล้วนักกีฬาไทยไปแข่งขันอาเซี่ยนพาราเกมส์ ที่อินโดนีเซีย 14 ชนิดกีฬา กรีฑา ยิงธนู ,แบดมินตัน, บอคเซีย ,ฟุตบอล, หมากรุก , โกลบอล , ยโดู, ยกน้ำหนัก, ว่ายน้ำ , เทเบิลเทนนิส , วีลแชร์เทนนิส, วอลเลย์บอลนั่ง และ วีลแชร์บาสเกตบอล คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี


ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอดีตกว่าจะหานักกีฬาพาราของไทยได้ 1 คนต้องใช้เวลา 10 ปี แต่ปัจจุบันด้วยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ทำให้ไทยมีนักกีฬามากมาย ซึ่งอาเซียน พาราเกมส์ เป็นรายการที่ช่วยพลักดันคลื่นลูกใหม่ ขณะเดียวกันยังเป็นการเตรียมความพร้อมของนักกีฬาสำหรับพาราลิมปิก เกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส


สำหรับอาเซียน พาราเกมส์ จัดทุกสองปี มีนโยบายให้เจ้าภาพซีเกมส์ จัดต่อเนื่องในปีเดียวกัน ซึ่งในปี 2019 เจ้าภาพฟิลิปปินส์ยกเลิกการแข่งขัน และในปีนี้ อินโดนีเซีย ขอจัดการแข่งขันแทนเวียดนาม โดยนักกีฬาผู้พิการของไทย ขอแรงใจจากคนไทยส่งกำลังใจเชียร์ในการแข่งขันอาเซียน พารามเกมส์ ครั้งที่ 11 ที่เมืองโซโล อินโดนีเซีย 30 ก.ค. - 6 ส.ค. นี้


คุณอาจสนใจ

Related News