ข่าวโซเชียล

เอ็นดูไม่ไหว! กระดาษคำตอบ นศ.ลายมือบรรจงเขียน อาจารย์ถึงกับลั่น "ตรวจข้อสอบ กลับถูกคำตอบสะกดจิต"

โดย petchpawee_k

9 ธ.ค. 2566

485 views

วานนี้ในโลกออนไลน์ฮือฮา เมื่อ ดร.เอกพงษ์ สารน้อย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม โพสต์ ภาพกระดาษคำตอบของนักศึกษา ที่เขียนตอบอธิบายความหมายของรัฐ และกฎหมายมหาชน  พร้อมกับโพสต์แคปชั่นว่า  “ตรวจข้อสอบกลับถูกคำตอบสะกดจิต ลายมือสวยแต่อาจารย์ถอดรหัสไม่ออก 55+  แต่อ่านได้ครับและนักศึกษาก็ตอบได้ดี”


ซึ่งกระดาษคำตอบดังกล่าว เขียนด้วยลายมือสวยงาม มีหัวโต ตัวอักษรเป๊ะเท่ากันทุกตัว จนชาวเน็ตบางคนเอาไปเปรียบเทียบกับหลักศิลาจารึก หรืออักษรขอม


ต่อมาอาจารย์เอก โพสต์เพิ่มเติมว่า “ผมโพสต์เมื่อตอนบ่าย วันที่ 7 ธ.ค.แล้วไม่ได้ดูเลย จนตื่นเช้ามา เปิด Facebook ตกใจมากครับ ที่มีคนกดไลท์กดแชร์มาก ผมเจตนาจะสื่อแค่ว่า อาจารย์ลงมือตรวจข้อสอบแล้ว ให้นักศึกษาทราบเท่านั้นเองครับ ตอนนี้ขอตามตัวก่อนว่า  เป็นลายมือของนักศึกษาท่านใด เพราะผมตรวจข้อสอบโดยปิดชื่อเพื่อให้คะแนนอย่างเป็นธรรมครับ” 

ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ออนไลน์สอบถามอาจารย์เอก  บอกว่าประทับใจลายมือนักศึกษา เพราะมีความตั้งใจในการเขียนมากๆ โดยข้อสอบดังกล่าวเป็นการสอบปลายภาค  วิชาหลักกฎหมายมหาชน ของนักศึกชั้นปีที่ 1  ตนเองสอนนักศึกษาวิชานี้กว่า 300 คน  จึงต้องตรวจข้อสอบเยอะมาก หลังจากตรวจข้อสอบได้ครึ่งทาง  ก็เจอกระดาษคำตอบเล่มนี้แล้วตาลาย เลยต้องหยุดพักสายตา  ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตรวจข้อสอบมาเยอะแล้ว  หลังจากพัก ก็กลับมาตรวจใหม่ ก็อ่านได้  และรู้สึกประทับใจลายมือของนักศึกษาด้วยซ้ำ เพราะมองว่าหลายคนอาจจะเขียนตัวพยัญชนะไม่มีหัว แต่นักศึกษาท่านนี้เขียนพยัญชนะมีหัว เพียงแต่หัวอาจจะโตไปหน่อย ทำให้ตอนอ่านครั้งแรกเลยตาลาย


อาจารย์เอกบอกด้วยว่า ปกติก็จะโพสต์หยอกนักศึกษา แต่เจตนาจริงๆ จะสื่อให้นักศึกษารู้ว่า  อาจารย์ได้ลงมือตรวจข้อสอบแล้วนะเท่านั้นเอง  เมื่อโพสต์ไปแล้วก็ไม่ได้สนใจ  แต่พอตื่นเช้า มาเปิดดู ตกใจที่มีคน คอมเมนต์และแชร์เยอะมาก


หลังจากนี้คงจะไปตามหานักศึกษาท่านนี้ว่าเป็นใคร เพราะเวลาตรวจข้อสอบจะปิดชื่อ  เพื่อไม่ให้ทราบว่ากำลังตรวจข้อสอบใคร  เพื่อจะได้ให้คะแนนกับนักศึกษาทุกคนอย่างเป็นธรรม จึงทำให้ยังไม่รู้เลยว่าเป็นลายมือชื่อนักศึกษาท่านใด เพื่อจะได้ทำความเข้าใจว่าอาจารย์ไม่ได้มีเจตนาไม่ดีต่อเขา แต่ประทับใจเขามากกว่าด้วยซ้ำ


เรื่องนี้ไปถึงศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี   ในฐานะที่ท่านก็เป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ได้โพสต์กระดาษคำตอบของนักศึกษารายนี้ เทียบกับตัวอักษรโบราณและแซวว่า


“จงอธิบายความแตกต่างระหว่างลายมือในภาพแรกกับอักษรปัลลวะในภาพที่สอง”


สำหรับอักษรปัลลวะ เป็นอักษรสระประกอบในตระกูลอักษรพราหมี ซึ่งพัฒนาขึ้นในตอนใต้ของอินเดียช่วงที่ราชวงศ์ปัลลวะมีอำนาจ  ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 ซึ่งอักษรปัลลวะ ถือว่ามีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับการถือกำเนิดขึ้นของอักษรครันถะในอินเดีย และอักษรต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อักษรบาหลี , อักษรชวา , อักษรมอญ, อักษรพม่า , อักษรเขมร , อักษรล้านนา , อักษรไทย , อักษรลาว  และ อักษรไทลื้อ  รวมทั้งอักษรสิงหล ในศรีลังกา  



รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/jaB7cjvepA4

คุณอาจสนใจ