ข่าวโซเชียล

ถกสนั่น! ข้อสอบ TGAT "เมนูไหนทำโลกร้อนน้อยที่สุด" นักวิชาการแห่แสดงความคิดเห็น

โดย passamon_a

11 ธ.ค. 2565

3K views

ฮือฮาข้อสอบ TGAT สอบวัดระดับความรู้ความถนัดทั่วไป ปี’66 คำถามเมนูใดสร้างก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด หลังสอบเสร็จ ข้อสอบถูกนำมาแชร์ จนถกสนั่นโซเชียลพุ่งติดเทรนทวิต นักวิชาการแห่แสดงความคิดเห็น ขณะที่ชาวเน็ตบางรายบอกเลือกตอบเพราะความหิวและเมนูที่อยากกิน


วานนี้ (10 ธ.ค.65) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีการสอบวิชาความถนัดทั่วไปหรือ TGAT และวิชาความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ TPAT ปีการศึกษา 2566


ต่อมามีการแชร์คำถาม 1 ในข้อสอบ ที่เรียกเสียงฮือฮา จนแฮชแท็ก #dek66 และ #TGAT ติดเทรนทวิตเตอร์ กับคำถามที่ถามว่า เมนูใดต่อไปนี้ที่สร้างก๊าซเรือนกระจกและส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด โดยมีคำตอบให้เลือก 4 ข้อ คือ


1. ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย

2. ราดหน้าหมู

3. สเต็กปลาแซลมอน

4. สุกี้ทะเลรวม


หลังจากมีการแชร์คำถามนี้ออกไป โลกออนไลน์รวมถึงนักวิชาการหลายคนต่างมาร่วมวิเคราะห์คำตอบ เริ่มต้นกันที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ให้ข้อมูลกับมติชนออนไลน์ ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อนี้ว่า


"ไก่ ปล่อยก๊าซมีเทน หมูนั้นยิ่งเป็นตัวปล่อยเลย ส่วนปลาแซลมอน เป็นปลาฟาร์ม นำเข้าทางเครื่องบิน ปล่อยก๊าซเยอะเลย สุกี้ทะเลรวมมิตร น่าจะดีที่สุด" ก่อนจะทิ้งท้ายว่า "อย่างไรก็ตาม ผิดไม่รับประกัน"


ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเช่นกันบอกว่า "ยากวุ้ย"  ก่อนจะระบุว่า ตัดช็อยส์ "ปลาแซลมอน" ทิ้งก่อนเลย เพราะต้องเอาขึ้นเครื่องบินนำเข้ามา สร้างก๊าซเรือนกระจกเยอะ ตัดซ๊อยส์ "หมู" ทิ้งตามมา เพราะเวลาเลี้ยง หมูจะมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนเยอะ จากตดและขี้หมูปริมาณมาก


เหลือ "ไก่" กับ "อาหารทะเล" เริ่มลำบากใจว่า การเลี้ยงไก่ 2 เดือน จะสร้างก๊าซเรือนกระจก มากกว่าหรือน้อยกว่า การใช้เรือ(ที่ต้องใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน) ไปจับมาจากทะเล วันสองวัน แต่ๆๆ "ข้าว" นั้น สร้างก๊าซเรือนกระจกมากเช่นกัน ในการทำนาแบบน้ำขัง งั้นเลือก "สุกี้ทะเล" แล้วกัน เพราะวุ้นเส้นทำจากถั่วเขียว สร้างก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า ปล.ไม่มั่นใจแต่อย่างไร ว่าจะถูก 555


เช่นเดียวกันเมื่อเพจเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว โพสต์เรื่องนี้ออกไป มีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น เริ่มจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่า "คงถามถึงปริมาณ Carborn Footprint แต่ปัญหาคือจะประเมินจากไหน น่าจะไม่สามารถตอบคำถามเดียวได้"


ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา บอกว่า "อ่านข้อสอบแล้วยังนึกคำตอบไม่ออกเลยครับ ยากจริง ถ้าสมัยผมข้อสอบยากแบบนี้ คงจะไม่มีโอกาสติดหมอ"


ส่วนความคิดเห็นในโลกออนไลน์ที่เข้ามาตอบและให้เหตุผลประกอบของทั้ง 4 คำตอบ ยกตัวอย่าง เช่น


1.ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย

บางส่วนที่ตอบให้เหตุผล ว่า ฟาร์มไก่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าฟาร์มอื่น ๆเยอะเลย ส่วนทะเลรวมมิตรนี่ก็มาจากฟาร์มไม่ก็ประมงซึ่งมีสัตว์หลายชนิด = ต้องออกไปจับ/เลี้ยงหลายแบบ = ใช้ทรัพยากรมากกว่า และการต้มต้องเผาก๊าซหุงต้มเป็นเวลานานกว่าการผัดซึ่งแปปเดียว เลยตอบ 1. อีกรายที่ตอบไก่กระเทียมพริกไทย เพราะคิดว่าไก่เป็นสัตว์เล็กไม่ปล่อยก๊าวเท่าหมูที่ตัวใหญ่และไม่มีค่าขนส่งแพงเหมือนสัตว์ทะเล


2.ราดหน้าหมู

บางส่วนที่ตอบให้เหตุผล เพราะเอาน้ำมันเก่ามาอยู่ในกระบวนการผลิตเส้น (เส้นใหญ่) ใช้ในกระบวนการผลิตที่ทำให้เส้นไม่ติดกัน  คนที่ทานเส้นใหญ่บ่อยๆ จึงได้รับไขมันทรานเข้าไปมาก ทำให้เป็นอันตรายกับร่างกาย อีกรายบอกว่า ราดหน้าหมู คิดว่าเพราะมันมีเนื้อสัตว์น้อยที่สุด


3.สเต๊กปลาแซลมอน

บางส่วนที่ตอบให้เหตุผลว่า ปลามันว่ายอยู่ในน้ำคงไม่สร้างแก๊สเหมือนพวกฟาร์มปศุสัตว์ส่วนสุกี้ทะเลเราคิดว่ามันเปลืองน้ำมันเรือที่ต้องจับสัตว์หลายตัวมันน่าจะสร้างผลเสียเยอะ อีกรายบอกว่า เพราะเมนูนี้ไม่มีพืชผัก (พืชช่วยซับก๊าซ CO2 และหากนำพืชมาทำอาหารและเหลือทิ้งก็จะเกิดการหมักหมมเป็นก๊าซได้) และปลาแซลมอนไม่ใช่สัตว์ใหญ่ที่สามารถปล่อยแก๊สได้เยอะ


4.สุกี้ทะเลรวมมิตร

บางส่วนที่ตอบให้เหตุผลว่า สุกี้ กรรมวิธีน้อยสุด ใช้พลังงานน้อยสุด / สุกี้ใช้ผักเยอะกว่าเมนูอื่น เป็นเมนูต้มที่ใช้เวลาและเชื่อเพลิงน้อยกว่าอีกสามเมนูที่เหลือ


ขณะที่โลกออนไลน์ทั้งในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ บางส่วนเห็นคำถามแล้ว คำตอบที่เลือกตอบเหตุผลเพราะความหิวและรู้สึกอยากกินก็มี เช่น คำตอบไม่รู้ครับ รู้แค่ว่าหิว สั่งแกร้บแปป / สุกี้รวมมิตรค่ะ...ไม่ใช่คำตอบนะคะแค่หิวเฉยๆ /  เราตอบราดหน้าหมู เพราะไม่กินนานแล้ว บวกหิวด้วย ฯลฯ


ทั้งนี้ ยังผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งยังแสดงความคิดเห็นด้วยว่า "ถ้าคนออกข้อสอบ เฉลยคำตอบข้อใดข้อหนึ่งว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง นั่นคือเผด็จการผูกขาดทางความคิด ไม่รับฟังข้อโต้แย้งหรือเหตุผลของคนตอบข้ออื่น"


ขณะที่ ทปอ. เผย ข้อสอบ เมนูใดต่อไปนี้ที่สร้างก๊าซเรือนกระจกและส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด มีคำตอบถูกเพียง 1 ข้อ แต่จะไม่มีการเฉลย ยันอ้างอิงตามหลักวิชาการ คีย์สำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้เรื่อง Carbon Footprint


ทีมข่าวได้พูดคุยกับ นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรับเข้าศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือทีแคส ปีการศึกษา 2566 ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า คำถามดังกล่าวเป็นการวัดระดับความรู้ด้าน SDGs (Sustainable Development Goals) หรือแผนพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 17 Goals หนึ่งในนั้นคือเรื่องของการลดโลกร้อน ซึ่งเรื่องนี้โดยปกติแล้วสามารถมีส่วนร่วมได้หลายวิธี เช่น การเดินทาง / การใช้ชีวิต / การบริโภค รวมถึงเรื่องการเลือกรับประทานอาหาร


ซึ่งอาหารแต่ละประเภทจะมี Carbon Footprint หรือ การผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นที่มาของอาหารแต่ละประเภท เช่น ไก่ อาหารทะเล ปลาแซลมอน จะมีปริมาณของ Carbon Footprint  ต่อ 1 หน่วยบริโภค ไม่เท่ากัน เท่ากับว่า คีย์สำคัญของเรื่องนี้คือการตระหนักรู้ในเรื่องของปริมาณ  Carbon Footprint ของชนิดต่างๆ


นายชาลี ระบุว่า คำถามนี้ใช้ คือการยึดหลักเกณฑ์การสร้างก๊าซกระจกมาตรฐานของโลกซึ่งมีการกำหนดปริมาณ Caborn Footprint ไว้อย่างชัดเจน


นายชาลี ยืนยันว่า มีคำตอบที่ถูกต้อง 1 ข้อ และเป็นไปตามหลักวิชาการ แต่ไม่สามารถออกมาเฉลยได้เพราะข้อสอบเป็นความลับ ตามหลักแล้ว ทปอ. ไม่สามารถเฉลยข้อสอบได้ แม้ว่าคะแนนสอบออกแล้วก็ไม่สามารถเฉลยได้ จริงๆค้นหาคำว่า Carbon Footprint ของเนื้อสัตว์ก็น่าจะรู้แล้ว โดยคะแนนสอบจะประกาศวันที่ 7 ม.ค. 2566


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/TWRje3EOx2s


คุณอาจสนใจ