ข่าวโซเชียล
ดับฝัน! ‘อ.เจษฎ์’ กางข้อมูลแย้ง ไทยพบแร่ลิเทียมไม่ถึงอันดับ 3 ของโลก คำนวณตัวเลขจริงได้แค่ 6 หมื่นตัน
โดย nicharee_m
19 ม.ค. 2567
2.2K views
จากกรณี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า ไทยสำรวจพบ (Resources) แร่ลิเทียมกว่า 14.8 ล้านตัน (Million Tonne: Mt) ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา
ล่าสุด ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กแย้งข้อมูลดังกล่าวว่า “ประเทศไทยพบแหล่งแร่ที่มีธาตุลิเทียมจริง แต่ไม่น่าจะใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกนะครับ” พร้อมอธิบายว่า
มีรายงานข่าวเผยแพร่กันอย่างน่าตื่นเต้นว่า “ข่าวดีพบแร่ลิเทียมในไทย ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เพิ่มศักยภาพผู้นำผลิตรถยนต์ EV ในอาเซียน” ซึ่งก็นับว่าเป็นข่าวดีจริงๆ ครับ ที่เราค้นพบหินแร่ธาตุหายาก ที่กำลังเป็นที่ต้องการของทั้งในไทยเราเองและในต่างประเทศ อย่างเช่น ธาตุลิเทียม แต่ประเด็นคือ ไทยเรามีลิเทียมเยอะมาก ขนาดนับเป็นอันดับ 3 ของโลกเชียวหรือ?
ผมว่านักข่าวน่าจะเข้าใจผิดกันนะครับ เพราะตัวเลข “14.8 ล้านตัน” ที่เป็นข่าวกัน ว่าเยอะเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น เป็นปริมาณของหินแร่ที่ชื่อว่า “หินเพกมาไทต์” ซึ่งมีธาตุลิเทียมปะปนอยู่ เฉลี่ย 0.45% และจะต้องนำมาถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาก่อน เมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้ว ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมเท่านั้นครับ 6-7 หมื่นตัน แค่นั้นเองครับ!?
#ถ้าผมคำนวณหรือเข้าใจอะไรผิดพลาด รบกวนช่วยเข้ามาแลกเปลี่ยนอธิบายให้ฟังด้วยนะครับ
ตามรายละเอียดของข่าว ระบุว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียม ในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา พบหินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาว หรือ ‘หินเพกมาไทต์’ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพา ‘แร่เลพิโดไลต์’ สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียม มาเย็นตัวและตกผลึก จนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ ‘แหล่งเรืองเกียรติ’ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% (อยู่ในเกรดระดับกลาง) และ ‘แหล่งบางอีตุ้ม’ ที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียด เพื่อประเมินปริมาณสำรอง นอกจากนี้ ยังอาจจะพบได้ในอีกหลายแห่ง ในภาคใต้และภาคตะวันตก (จังหวัดราชบุรี) ที่ได้ออกใบอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียมไป 6 ราย
ซึ่งรายงานข่าวยังอ้างต่อว่า แหล่งลิเทียมเรืองเกียรตินี้ เป็นแหล่งที่มีปริมาณแร่ลิเทียม มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศโบลิเวีย และอาเจนตินา หากได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่แล้ว (ในอีก 2 ปี) คาดว่าจะเริ่มทำเหมืองได้ และสามารถนำลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน
ซึ่งถ้าเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าเทสล่า Tesla โมเดล S หนึ่งคัน ที่ใช้ธาตุลิเทียมสำหรับทำแบตเตอรี่ประมาณ 62.6 กิโลกรัม (อ้างอิง https://blog.evbox.com/ev-battery-weight) ถ้ามี 1 ล้านคัน ก็ใช้ลิเทียมไป 62.6 ล้านกิโลกรัม หรือเท่ากับ 62,600 ตัน แค่นั้นเอง !
ซึ่งตัวเลข 6.26 หมื่นตัน นี้ก็ใกล้เคียงกับปริมาณของธาตุลิเทียมที่คำนวณจากหินเพกมาไทต์ จากแหล่งเรืองเกียรติ ปริมาณประมาณ 14.8 ล้านตัน และมีเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% ซึ่งก็เท่ากับมีลิเทียมอยู่ 0.0666 ล้านตัน หรือ 6.66 หมื่นตัน!
ทีนี้ ถ้าเอาตัวเลข 6.66 หมื่นตันเป็นตัวตั้ง ว่าประเทศไทย ณ ขณะนี้ มีปริมาณธาตุลิเทียมที่น่าจะผลิตออกมาได้จากหินเพกมาไทด์ ไปเทียบกับข้อมูลแหล่งลิเทียมของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ USGS หรือ สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประมาณการไว้ล่าสุด ในปี 2023 ที่ผ่านมา จะเห็นว่ายังห่างไกลจากประเทศ Top 10 อื่นๆ เป็นอย่างมาก
ทั่วโลกมีแหล่งทรัพยากรธาตุลิเทียมประมาณ 98 ล้านตัน โดยอเมริกาใต้เป็นทวีปที่มีปริมาณทรัพยากรชนิดนี้มากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้ดังนี้ โบลิเวีย 21 ล้านตัน, อาร์เจนตินา 20 ล้านตัน, ชิลี 11 ล้านตัน, ออสเตรเลีย 7.9 ล้านตัน, จีน 6.8 ล้านตัน, เยอรมันนี 3.2 ล้านตัน, คองโก 3 ล้านตัน, แคนาดา 2.9 ล้านตัน, เม็กซิโก 1.7 ล้านตัน, สาธารณรัฐเชค 1.3 ล้านตัน, เซอร์เบีย 1.2 ล้านตัน, รัสเซีย 1 ล้านตัน, เปรู 880 000 ตัน, มาลิ 840 000 ตัน, บราซิล 730 000 ตัน, ซิมบับเว 690 000 ตัน, สเปน 320 000 ตัน, ปอร์ตุเกส 270 000 ตัน, นามิเบีย 230 000 ตัน, กานา 180 000 ตัน, ฟินแลนด์ 68 000 ตัน, ออสเตรีย 60 000 ตัน, และคาซักสถาน 50 000 ตัน
จริงๆ แล้ว ข่าวเกี่ยวกับการ “เปิดแหล่งลิเทียมภาคใต้คุณภาพสูง แหล่งผลิตแบตเตอรี่ EV แห่งใหม่ในอนาคต” นั้น มีมาตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนมกราคมแล้ว โดยเน้นเรื่องการผลงานวิจัยของ “ผศ.ดร.อลงกต ฝั้นกา” หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยแร่และศิลาวิทยาประยุกต์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่ศึกษาลักษณะเฉพาะและศักยภาพของแหล่งลิเทียมในจังหวัดพังงา
ซึ่งคณะผู้ศึกษาวิจัย ได้พบแหล่งลิเทียมอยู่ในรูปของแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมสูง เฉลี่ยประมาณ 0.4 % สมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก โดยเกิดจากการตกผลึกของแมกมา ที่ความสัมพันธ์กับหินแกรนิตที่กระจายตัวในพื้นที่ภาคใต้ และต่อเนื่องมายังพื้นที่อื่นๆ ของไทย มีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ดีบุกและธาตุหายาก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สามารถขยายผลสู่การ จึงน่ามีการสำรวจและพัฒนาทรัพยากรนี้ เพื่อกระตุ้นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ (อ่านรายละเอียดบทความวิจัย https://www.frontiersin.org/.../feart.2023.1221485/full)
แต่ตอนนั้นไม่มีการกล่าวอ้างเรื่องที่ว่าแหล่งแร่ลิเทียมในไทยใหญ่เป็น “อันดับ 3 ของโลก แต่อย่างไร พึ่งจะมามีอ้างกัน ก็ตอนแถลงข่าวช่วงสัปดาห์นี้เอง ไม่ทราบว่ามาจากไหนกัน
อย่างไรก็ตาม ดร.เจษฎา ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “เน้นอีกครั้งว่า #ถ้าผมคำนวณหรือเข้าใจอะไรผิดพลาด รบกวนช่วยเข้ามาแลกเปลี่ยนอธิบายให้ฟังด้วยนะครับ!”
แท็กที่เกี่ยวข้อง แร่ลิเทียม ,เหมืองแร่ ,เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ,หินเพกมาไทต์