เศรษฐกิจ
'อ.เจษฎา' กินโชว์ 'ไชน์มัสแคท' ยันล้างให้สะอาดก็ทานได้ - แม่ค้าเจ๊งระนาว พวงละ 27 ยังขายยาก
โดย nattachat_c
28 ต.ค. 2567
39 views
หลังข่าวสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานในองุ่นไชน์มัสแคท แม้กรมอนามัยจะอธิบายว่า มีวิธีล้างก่อนทานเพื่อความปลอดภัย แต่ผู้ค้าผลไม้ในหลายจังหวัด ก็ได้รับผลกระทบ เพราะขายองุ่นไม่ได้ บางเจ้าเปลี่ยนไปขายผลไม้อื่น บางเจ้ายอมลดราคา จาก กก.ละ 250 บาท เหลือไม่ถึง 100 บาท
ทั้งนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า
คงได้เห็นข่าวนี้แล้ว ที่มีการสุ่มตรวจ “องุ่นไซมัสคัส หรือ องุ่นไชน์มัสแคท” ในกรุงเทพและปริมณฑล แล้วข่าวระบุว่า พบสารเคมีตกค้างในทุกตัวอย่างที่ตรวจ ทำให้หลายๆ คนตกใจกับข่าวนี้มาก และทำเอาไม่กล้ากินองุ่นไชน์มัสแคทนี้ … พร้อมทั้งส่งหลังไมค์มาถามความเห็นผมด้วย
ซึ่งพอเข้าไปดูในรายละเอียดของผลการสำรวจแล้ว โดยส่วนตัว ผมยังไม่คิดว่าน่าวิตกอะไรมากนะครับ ! เพราะเรื่องสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ที่เพาะปลูกทั่วไป (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) มันเป็นเรื่องที่มีได้อยู่แล้ว แต่อย่าให้เกิดเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
และเมื่อไปเจาะดูในรายละเอียดของผลการศึกษาก็พบว่าจริง ๆ แล้ว แทบทุกตัวอย่างที่ตรวจนั้น มีค่าปริมาณของสารเคมีตกค้าง ยังอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ตามมาตรฐาน CODEX
หรือถ้ามีค่าเกิน อันเนื่องจากไม่มีค่า CODEX เลยต้องไปใช้ตามเกณฑ์ค่าต่ำสุดของ อย. ก็พบว่า เกินไปไม่มากนัก (แต่อิงตามกฏหมาย ก็ต้องเรียกว่า ไม่ผ่านเกณฑ์) จริงๆ มีแค่ 1 เจ้าเท่านั้น ที่มีค่าเกินไปมาก กับ 1 สารเคมี
ส่วนที่มีการเน้นเรื่องพบสาร คลอไพรีฟอส Chlorpyrifos ใน 1 ตัวอย่าง (จาก 24 ตัวอย่าง) และเน้นว่า ต้องไม่พบเลยนั้น ก็เนื่องจากประเทศไทยเลิกใช้สารนี้ไป หลังจากที่มีการประท้วงรณรงค์แบนสารเคมีทางการเกษตร 3 สาร ไปเมื่อหลายปีก่อน … แต่สารตัวนี้ ใน CODEX กำหนดให้มีตกค้างได้มากถึง 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งมีค่ามากกว่าที่ตรวจพบ (คือ น้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) มาก ๆ
เช่นเดียวกันกับที่มีการเน้นเรื่องพบสารอีกตัว คือ เอนดริน อัลดีไฮด์ Endrin aldehyde ในอีก 1 ตัวอย่าง (คนละตัวอย่างกับในข้อ 9.) และเน้นว่า ต้องไม่พบเลยนั้น … สารตัวนี้ ไม่มีระบุค่าใน CODEX แต่ค่าที่ตรวจพบนั้น ก็น้อยมากเช่นเดียวกันกับ สารคลอไพรีฟอส คือ น้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (น้อยกว่า ค่าดีฟอลต์ลิมิต ที่ผู้สำรวจวางไว้)
โดยสรุปแล้ว ผลการตรวจตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทครั้งนี้ ตัวอย่างส่วนใหญ่ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ CODEX หรือถ้าไม่มีการค่า CODEX แล้วไปใช้ค่า ดีฟอลต์ลิมิต แทน ก็ยังพบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่มีค่าไม่เกิน หรือถ้าเกิน ก็เกินไปไม่มาก (แต่ตามกฏหมาย ก็ยังถือว่า “ตกมาตรฐาน” นะ ) / มีเพียงแค่ตัวอย่างเดียว ที่เกินค่า ดีฟอลต์ลิมิต นี้ไปมาก
ความเห็นส่งท้าย : องุ่น ที่เพาะปลูกโดยวิธีปรกติ (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) นั้นเป็นผลไม้ที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช และทำให้มีสิทธิจะมีสารเคมีตกค้างได้ จึงควรล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนนำมาบริโภค โดยการล้างน้ำไหลผ่านมากๆ หรือนำไปแช่ในสารละลายเบกกิ้งโซดา ก่อนจะล้างออกอีกครั้งเพื่อกำจัดสารเคมีตกค้างออกให้มากที่สุด
หรือถ้ายังกังวลอยู่ ก็อาจจะต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคไปครับ
ด้าน เพจ ผู้บริโภค โพสต์ข้อความระบุว่า “ล่าสุด เห็นพวงละ 27 ยังออกยากเลย” นอกจากนี้ ทางเพจยังโพสต์ภาพองุ่นไชน์มัสแคทที่ขายในห้างสรรพสินค้า ลดราคาสุด ๆ เหลือ 89 บาท จากปกติ 159 บาท แต่สินค้าก็ยังเหลือเต็มแผง
ซึ่งก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมากว่า ผู้ค้าปลายทางน่าสงสาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดการตั้งแต่ต้นทางที่ผู้นำเข้า ไม่ใช่ปล่อยจนสุดท้ายความเสียหายมาตกที่แม่ค้าขายปลีก
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/5TtpFLR3qe4