ข่าวโซเชียล

ผุดอีก! #หมอลาออก เซ่นระบบป่วย สะท้อนคุณภาพชีวิตหมอที่วันนี้ไม่ทนแล้ว

โดย paweena_c

7 มิ.ย. 2566

246 views

เป็นที่พูดถึงอยู่เสมอ สำหรับดราม่าระบบการทำงานในวงการแพทย์ ที่เรามักจะได้ยินหลายคนออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมในช่วงนี้ แต่ที่เป็นประเด็นร้อนที่สุด ได้ผุดขึ้นบนโลกทวิตเตอร์อีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 กรณีนักแสดงสาว ปุยเมฆ นภสร หรือ อดีตแพทย์หญิงนภสร วีระยุทธวิไล ตัดสินใจเขียนเรื่องราววินาทีที่ตนเองตระหนักได้ว่า ต้องลาออกจากการเป็นแพทย์ พร้อมแนบภาพหนังสือขอลาออกจากราชการ



ซึ่งปุยเมฆก็ได้ตอบกลับทวิตดังกล่าวไปอีกว่า

“คือเข้าใจว่างานมันเยอะ หนักทั้ง intern ทั้ง staff แหละ (staff เองก็ไม่ไหว ลาออกก็เยอะ) และมันดูไม่มีทางออกให้กับปัญหานี้เลย รพ.ไม่มีแนวโน้มจ้างคนเพิ่ม ลดลงทุกปี บอกกระทรวงลดงบ คนทำงานหารหน้าที่กันจนไม่รู้จะหารยังไง เหมือนอยู่เป็นแรงงานทาสไปเรื่อยๆ อะ ไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์”
โดยเรื่องราวดังกล่าวถูกเขียนไว้บนทวิตเตอร์ ท่ามกลางกระแสที่กำลังมีคนเรียกร้องประเด็นอยู่เป็นทุนเดิม กระแสจึงพัดพาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงยิ่ง และตอกย้ำให้มีการแก้ไขระบบการทำงานในวงการแพทย์เสียที

เพราะที่ผ่านมา หากเรายังจำกันได้ ถึงเหตุการณ์ปี 2564 ที่ยังคงสะเทือนใจมาถึงทุกวันนี้ กรณีแพทย์หนุ่มจบใหม่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรจุเข้าทำงานในโรงพยาบาลดังเมืองสระแก้ว เพียง 1 สัปดาห์ บ่นกับเพื่อนแพทย์ด้วยกัน ว่าตนรู้สึกเครียดสะสมจนป่วยซึมเศร้า ก่อนตัดสินใจในเช้าถัดมา จบชีวิตตัวเองด้วยการกระโดดตึก 8 ชั้น ณ หอพักแพทย์

หรือจะเป็นกรณีก่อนหน้า ในปี 2560 ที่คราวนั้นเกิดขึ้นกับนักศึกษาแพทย์ อายุน้อยวัย 21 ปีจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายธนาธิป ชุมพลวีระพงษ์ ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการใช้เชือกไนลอนผูกติดขาขวาและคอมเพรสเซอร์แอร์รถยนต์ ก่อนหย่อนร่างลงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณโป๊ะท่าเตียน โดยสาเหตุการฆ่าตัวตายในครั้งนี้พ่อของผู้ตาย เชื่อว่ามาจากความเครียดเรื่องการเรียน เพราะเดิมลูกชายเรียนอยู่คณะแพทยศาสตร์ ปี 3 เรียนไม่ไหว ต่อมาจึงพักการเรียน

อีกทั้ง เฟซบุคเพจ จริยธรรมนิสิตนักศึกษาแพทย์ ยังเคยกล่าวถึงเรื่องการฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า ของนักศึกษาแพทย์เอาไว้ว่า “การฆ่าตัวตายพบในโรงเรียนแพทย์บ่อยกว่าโรงเรียนอื่นๆ ในขณะที่นักเรียนแพทย์เรียนการไปดูแลรักษาช่วยเหลือปัญหาสุขภาพของคนอื่น พวกเขาเหล่านั้นกลับละเลย (ถูกละเลย) และหลงลืมที่จะดูแลตัวเองในด้านต่างๆทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การเรียนและงานที่หนักหน่วงทำให้อดกินอดหลับอดนอน เป็นปัญหาต่อร่างกาย ความกดดัน ความรับผิดชอบ การแข่งขัน ฯลฯ ทำให้เกิดความเครียดสะสมหรืออาการซึมเศร้า เป็นปัญหาต่อจิตใจ ซึ่งล้วนนำไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ไม่พึงปรารถนา…”

โดยเราจะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 เหตุการณ์แม้แตกต่างกันที่ช่วงเวลา แต่กลับมีรอยร้าวบนจุดเดียวกัน นั่นคือ การเป็น “กลุ่มนักศึกษาแพทย์ หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์”

สอดคล้องกับสถิติ จากวารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม - มีนาคม 2565 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เผยแพร่งานวิจัยของ ดาวรุ่ง คำวงศ์, จีระเกียรติ ประสานธนกุล, มุทิตา พนาสถิตย์, ธนิยะ วงศ์วาร ในหัวข้อ “ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับงานกับภาวะสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019” กล่าวว่า
ความชุกของ “ภาวะซึมเศร้า” คิดเป็นร้อยละ 21.1 แบ่งเป็น ระดับเล็กน้อยร้อยละ 8.9
ระดับปานกลาง ร้อยละ 9.8 และระดับรุนแรง ร้อยละ 0.7
ขณะที่ “ภาวะวิตกกังวล” รองลงมา คิดเป็นร้อยละ 22.5 แบ่งเป็น ระดับเล็กน้อยร้อยละ 10.3 ระดับปานกลาง ร้อยละ 5.0 และระดับรุนแรง ร้อยละ 4.1 และสุดท้ายความเครียด ร้อยละ 15.3 ระดับเล็กน้อยร้อยละ 5.0 ระดับปานกลาง ร้อยละ 6.5 และระดับรุนแรง ร้อยละ 1.0


โดยระบุเพิ่มเติมอีกว่า แพทย์มีปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนมีการระบาดโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์นี้ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนได้เห็นถึงความพังพินาศ ความโหดร้ายของระบบ โดยอัตราส่วนของหมอและคนไข้ที่ในประเทศไทย นับว่าแบกคนไข้ไวเยอะมาก

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า อัตราหมอต่อประชาชนที่เหมาะสม จะอยู่ที่ 1:1000 แต่หากย้อนกลับมาดูตัวเลขในประเทศไทยกลับพบว่า หมอในบางพื้นที่โดยเฉพาะเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี มีหมอและคนไข้ในอัตราย 1: 500-800  ส่วนในระดับประเทศซึ่งมีประชากร 70 ล้านคน มีหมอทั้งหมด 60,000 คนทั่วประเทศ เฉลี่ยจำนวนหมอต่อคนไข้อยู่ที่ 1:1200 ดูเหมือนจะไม่เกินจำนวนที่ควรจะเป็นมากหนัก แต่หากลองตัดจำนวนหมอที่ไม่ได้ลงมาปฏิบัติหน้าที่ตามวอร์ดจริงๆ อัตราส่วนจะเพิ่มขึ้นกว่านี้ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศไทย เช่น โรงพยาบาลในต่างจังหวัดจะพบว่ามีอัตราหมอต่อคนไข้มากถึง 1:2000 หรือบางจังหวัด 1:5000  นอกจากนี้ยังพบว่าในโรงพยาบาลชุมชนที่มีประชากร 25,000 คน แต่มีหมอเพียง 1 คน นั้นเท่ากับว่าหมอจะต้องรับคนไข้มากถึง 1:25000

เรื่องดังกล่าวสะท้อนคุณภาพชีวิตบุคลากรทางการแพทย์ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพจิต และสุขภาพกายที่ถูกละเลย หากในวันนี้ระบบโครงสร้างการทำงานในวงการแพทย์ยังคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ระบบยังคงป่วย เหตุการณ์ #หมอลาออก อาจจะไม่ใช่แค่ทางออกของบุคลากรทางการแพทย์ แต่จะกลายเป็นปรากฏการณ์ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องรับมือหาทางรอด จากการขาดแคลนบุคลากรทั้งประเทศ ซึ่ง ณ วันนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว



https://www.thecoverage.info/news/content/3405
https://www.komchadluek.net/quality-life/well-structured/550442
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1125359
https://www.thairath.co.th/news/local/east/2110510


คุณอาจสนใจ

Related News