ข่าวโซเชียล

กรมอุทยานฯ สั่งรื้อแล้ว ลาดยางมะตอยทับต้นไม้ เขตรักษาพันธุ์ฯ เชียงดาว

โดย attayuth_b

9 ก.พ. 2566

135 views

จากกรณีที่โลกออนไลน์ได้มีการเผยแพร่พร้อมเขียนข้อความภาพต้นไม้ขนาดใหญ่หลายสิบต้น ใกล้ๆ กับทางขึ้นที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ถูกลาดด้วยยางมะตอยจนมิดโคนต้น เพื่อปรับพื้นที่เป็นที่จอดรถ พร้อมแสดงความห่วงใยว่าต้นไม้จะยืนต้นตาย

หลังจากภาพดังกล่าวมีการเผยแพร่ออกไป นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้สั่งการให้ นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า พื้นที่ดังกล่าวคือ บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ต่อมานายอิศเรศ พร้อมด้วย น.ส.จิราภรณ์ มีวาสนา หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ และนายวิทธวัช ทะวาปี นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวตามข้อสั่งการของรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานฯ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดรวมพลของนักศึกษาธรรมชาติ ที่จะเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาว มีการลาดยางมะตอยไว้ เนื้อที่ประมาณ 300 ตารางวา และปกคลุมรากไม้ทั้งหมด 27 ต้น ต้นยางแดง ต้นอบเชย  ต้นประดู่ ต้นมะม่วง ต้นตะแบก และต้นพลับพลา ซึ่งพันธุ์ไม้เหล่านี้เป็นไม้ป่าดิบแล้งผสมป่าเบญจพรรณ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำการขุดยางมะตอยออกจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวทันที ตามคำแนะนำของนางสาวจิราภรณ์ มีวาสนา หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ ที่ให้ทำการแก้ไขด้วยการขุดยางมะตอยและหินกรวดออกให้หมด เพื่อคืนหน้าดินให้กลับเข้าสู่ปกติเพื่อให้รากต้นไม้ประสานกันเหมือนเดิม นอกจากนี้ยังได้นำเจ้าหน้าที่กลุ่มงานวิชาการ เข้าสำรวจพื้นที่ว่ามีต้นไม้ได้รับผลกระทบอีกหรือไม่

สำหรับการแก้ไขปัญหา จะจัดแบ่งพื้นที่เป็นออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1. พื้นที่ส่วนที่เป็นถนนและลานจอดรถจะคงไว้เป็นถนนทางเข้าและออก ขนาดทางกว้างประมาณ 2 เมตร ขณะที่ส่วนที่จะเป็นพื้นที่จอดรถหลักด้านหลัง โดยพื้นที่นี้เป็นรูปตัวยู ไม่มีต้นไม้ใหญ่อยู่แต่เดิม จะยังคงหินคลุกบดอัดไว้ แต่ลอกเอาชั้น Prime Coat ออกทั้งหมด และส่วนที่ 2. พื้นที่ส่วนที่เหลือ จะทำการลอกชั้นหินคลุกจนถึงระดับผิวหน้าดินเดิมออกทั้งหมด โดยไม่ขุดลึกลงไปมากกว่าระดับผิวดินเดิม ป้องกันไม่ให้กระทบระบบราก เพื่อคงสภาพพื้นที่ให้กลับมาเป็นสภาพเดิมตามธรรมชาติมากที่สุด

นายอิศเรศ กล่าวว่า หลังจากภาพดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกไปเมื่อช่วงเย็นวันที่ 8 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้สั่งการให้ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ตนจึงได้สั่งการให้หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวและผู้รับเหมาหยุดดำเนินการและหาวิธีแก้ไขโดยด่วน วันนี้จึงได้นำผู้เชี่ยวชาญในการดูแลต้นไม้เข้าตรวจสอบ

สำหรับพื้นที่บริเวณนี้เดิมเป็นจุดรวมพลของนักท่องเที่ยวที่จะเดินขึ้นดอยหลวงทุกปี ต่อมาทางหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ได้ทำเรื่องเพื่อขอจัดทำที่จอดรถและจุดรวมพลเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีที่พัก โดยในปีนี้ทางศูนย์วิศวกรรมเชียงใหม่ ได้เข้าดำเนินการ และต้องยอมรับว่าเป็นข้อผิดพลาดจากการประสานงาน ในการดำเนินการของพื้นที่ซึ่งมีการเทพื้นชั้นแรกชิดต้นไม้เกินไปเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และต้องขอขอบคุณผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าการดำเนินการจะเทพื้นจุดไหนต้องมีการสำรวจก่อนควรหรือไม่ควรอย่างไร

ทั้งนี้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้มีข้อสั่งการว่า ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ หากต้องการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคจะต้องคำนึงถึงต้นไม้ในพื้นที่ ตลอดจนความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ รวมทั้งต้องสำรวจก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก นอกจากนี้ยังได้สั่งการไปยังสำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ให้ปรับแผนการปรับปรุงพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ ในส่วนของการขุดยางมะตอยและหินคลุกในพิฃื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 40% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันพรุ่งนี้ (10 ก.พ. 66) โดยการปรับปรุงพื้นที่ในวันนี้ ได้มีสื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ทั้งนี้ได้สั่งการให้ ผอ.สบอ. 16 ลงโทษตักเตือนหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และให้ผอ.สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ ลงโทษเจ้าหน้าที่วิศวกรรมที่ปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

สำหรับที่มีการเผยแพร่ว่ามีการใช้งบประมาณ ในการปรับปรุงพื้นที่บริเวณดังกล่าว จำนวน 1.7 ล้านบาท นั้น ทาง สบอ.16 ได้ชี้แจงว่า งบประมาณดังกล่าว เป็นการดำเนินโครงการปรับพื้นที่ใน 4 จุดพร้อมเส้นทางลำลอง โดยได้สั่งการให้ปรับแผนไปเพิ่มเติมในส่วนอื่นแล้ว และได้กำชับกรณีการลาดยางในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ทำเท่าที่จำเป็น โดยใช้งบประมาณให้คุ้มค่า โปร่งใส และให้มีคณะกรรมการกลั่นโครงการด้วยทุกครั้ง

คุณอาจสนใจ

Related News