สังคม

ทลายโรงงานผลิตยาแก้ไอปลอม ผลิตวันละ 20,000 ขวด ยึดของกลางอื้อ เสียหายกว่า 50 ล้าน

โดย passamon_a

4 ส.ค. 2567

89 views

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิทยาศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. สั่งการให้ พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. พร้อมเจ้าหน้าที่ บก.ปคบ. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) และ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมปฏิบัติการจับกุมกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายยาแก้ไอปลอมรายใหญ่ ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร


สืบเนื่องจาก กก. 4 บก.ปคบ. ได้รับแจ้งเบาะแสจากสื่อสังคมออนไลน์ ว่ามีการแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิด 4×100 อย่างรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น โดยมีการนำยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม หรือยาบางชนิดมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำมาผสมกับน้ำกระท่อมดื่มเพื่อความมึนเมา และเสพติดเป็นจำนวนมาก ซึ่งยากลุ่มดังกล่าวจะต้องจำหน่ายโดยเภสัชกร เนื่องจากการเสพยาเสพติดชนิดดังกล่าวอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่มวัยรุ่นที่เสพยกระดับเป็นสารเสพติดรูปแบบอื่นที่รุนแรงมากขึ้นได้


เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิดดังกล่าวในกลุ่มวัยรุ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสืบสวนหาข่าว พบว่ามีการลักลอบผลิตยาแก้ไอปลอม และทราบถึงกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตว่ามีการลักลอบผลิต และบรรจุ อยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร


ต่อมา เมื่อวันที่ 2 ส.ค.67 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นำหมายเข้าตรวจค้น สถานที่ผลิตยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ตรวจยึดและอายัดยาแก้ไอปลอม วัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิตและบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 31 รายการ ดังนี้


1. ยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซินปลอม จำนวน 15,000 ขวด

2. ยาแก้ไอที่อยู่ระหว่างผลิต บรรจุลงขวด จำนวน 4,000 ขวด

3. วัตถุดิบในการผลิต Glucose syrup จำนวน 126 ถัง / Caramel colour  จำนวน 9 ถัง / Trisodium citrate จำนวน 3 กระสอบ / Ammonium chloride จำนวน 4 กระสอบ / Sodium cyclamate จำนวน 2 กระสอบ / Paraben จำนวน 9 ถุง / 55% High Fructose Syrup จำนวน 4 Gallon / Rasberry Flavor จำนวน 11 Gallon / Menthol จำนวน 2 ถุง / Glycerine จำนวน 22 ถัง

4. อุปกรณ์ในการผลิต หม้อต้ม จำนวน 2 ใบ / เครื่องผสม 500 ลิตร จำนวน 8 เครื่อง / เครื่องผสม 1000 ลิตร จำนวน 1 เครื่อง / ถังแก๊ส ขนาด 15 กก. จำนวน 12 ถัง / ถังแก๊ส ขนาด 48 กก. จำนวน 2 ถัง / เครื่องปิดฝาเกลียว จำนวน 4 เครื่อง / เครื่องบรรจุยา จำนวน 3 เครื่อง / เครื่องปิดฉลากยา จำนวน 2 เครื่อง / เครื่องแปลงไฟ จำนวน 9 เครื่อง / ปั๊มลม จำนวน 4 เครื่อง / เครื่องรัดสายบรรจุภัณฑ์ 2 เครื่อง

5. อุปกรณ์ในการบรรจุ ฉลากผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซิน จำนวน 48,000 ดวง / ขวดสีชา จำนวน 50,112 ขวด / ฝา จำนวน 450,000 ชิ้น / กล่องลังกระดาษ เล็ก จำนวน 10,290 กล่อง / กล่องลังกระดาษ กลาง จำนวน 8,080 กล่อง / กล่องลังกระดาษ ใหญ่ จำนวน 160 กล่อง / กล่องลังกระดาษ ทรงสูง จำนวน1,280 กล่อง / สายรัดพลาสติก จำนวน 17 ม้วน


และในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ขยายผลเข้าตรวจค้นสถานที่จับเก็บผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอ เพิ่มเติม จำนวน 2 จุด ดังนี้


จุดที่ 1 สถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาครตรวจยึด ยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซินปลอม จำนวน 3,600 ขวด


จุดที่ 2 สถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอม ขวดบรรจุภัณฑ์ และวัตถุดิบการผลิต ในพื้นที่ ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ตรวจยึดของกลางจำนวน 3 รายการ ได้แก่ ยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซินปลอม จำนวน 27,000 ขวด / ขวดสีชา จำนวน 47,280 ชิ้น / น้ำตาล 50 kg. จำนวน 3 กระสอบ


รวมตรวจค้น 3 จุด ตรวจยึดและอายัดยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซินปลอม จำนวน 45,600 ขวด, วัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิต และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 35 รายการ โดยโรงงานดังกล่าวมียอดการผลิตวันละ 20,000 ขวด และลักลอบผลิตมาแล้วประมาณ 2 เดือน มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 50,000,000 บาท


จากการสืบสวนพบว่า ผู้กระทำความผิด นำส่วนผสม วัตถุดิบ และบรรจุภัณฑ์จากสถานที่ต่าง ๆ มาผลิต และบรรจุในโกดังในพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร จากนั้นจะนำผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอมไปกระจายเก็บไว้ในโกดังพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน และ อ.เมืองสมุทรสาคร โดยจะเปลี่ยนสถานที่ในการผลิตไปเรื่อย ๆ รวมทั้งใช้กล่องผลไม้บรรจุยาแก้ไอปลอมในการขนส่งเพื่อตบตา และยากแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังสืบสวนทราบว่า กลุ่มผู้กระทำผิดดังกล่าว เป็นผู้ที่ได้รับการว่าจ้างผลิตยาแก้ไอปลอม ให้กับเครือข่ายผู้กระทำความผิด ในการผลิต และจำหน่ายยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้เข้าทำการตรวจค้นและดำเนินคดีไปแล้ว เมื่อประมาณเดือน เม.ย.67 ที่ผ่านมาอีกด้วย


เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ฐานผลิตยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท / ฐานผลิต และขายยาปลอม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 50,000 บาท



ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/JXLywIqTLJY

คุณอาจสนใจ