อาชญากรรม
ทลายโรงงาน ผลิตยาแก้ไอปลอม ความเสียหายมูลค่ากว่า 50 ล้าน
โดย olan_l
3 ส.ค. 2567
297 views
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก, เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) และ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมปฏิบัติการจับกุมกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายยาแก้ไอปลอมรายใหญ่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้ ได้รับแจ้งเบาะแสจากสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีการแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิด 4x100 อย่างรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น โดยมีการนำยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อมหรือยาบางชนิดมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำมาผสมกับน้ำกระท่อมดื่มเพื่อความมึนเมา และเสพติดเป็นจำนวนมาก ซึ่งยากลุ่มดังกล่าวจะต้องจำหน่ายโดยเภสัชกร เนื่องจากการเสพยาเสพติดชนิด 4x100 อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่มวัยรุ่นที่เสพยกระดับเป็นสารเสพติดรูปแบบอื่นที่รุนแรงมากขึ้นได้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิดดังกล่าวในกลุ่มวัยรุ่นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีการเฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยากลุ่มแก้แพ้ แก้ไอเรื่อยมา
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนหาข่าวพบว่า มีการลักลอบผลิตยาแก้ไอปลอม และทราบถึงกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตยาแก้ไอปลอมว่ามีการลักลอบผลิต และบรรจุ อยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นำหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจค้น สถานที่ผลิตยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ตรวจยึดและอายัดยาแก้ไอปลอม วัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิต และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 31 รายการ ดังนี้
1. ยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซินปลอม จำนวน 15,000 ขวด 2. ยาแก้ไอที่อยู่ระหว่างผลิต บรรจุลงขวด จำนวน 4,000 ขวด 3. วัตถุดิบในการผลิต - Glucose syrup จำนวน 126 ถัง - Caramel colour จำนวน 9 ถัง - Trisodium citrate จำนวน 3 กระสอบ - Ammonium chloride จำนวน 4 กระสอบ - Sodium cyclamate จำนวน 2 กระสอบ - Paraben จำนวน 9 ถุง - 55% High Fructose Syrup จำนวน 4 Gallon - Rasberry Flavor จำนวน 11 Gallon - Menthol จำนวน 2 ถุง - Glycerine จำนวน 22 ถัง
4. อุปกรณ์ในการผลิต - หม้อต้ม จำนวน 2 ใบ - เครื่องผสม 500 ลิตร จำนวน 8 เครื่อง - เครื่องผสม 1000 ลิตร จำนวน 1 เครื่อง - ถังแก๊ส ขนาด 15 กก. จำนวน 12 ถัง - ถังแก๊ส ขนาด 48 กก. จำนวน 2 ถัง - เครื่องปิดฝาเกลียว จำนวน 4 เครื่อง - เครื่องบรรจุยา จำนวน 3 เครื่อง - เครื่องปิดฉลากยา จำนวน 2 เครื่อง - เครื่องแปลงไฟ จำนวน 9 เครื่อง - ปั๊มลม จำนวน 4 เครื่อง - เครื่องรัดสายบรรจุภัณฑ์ 2 เครื่อง
5. อุปกรณ์ในการบรรจุ - ฉลากผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซิน จำนวน 48,000 ดวง - ขวดสีชา จำนวน 50,112 ขวด - ฝา จำนวน 450,000 ชิ้น - กล่องลังกระดาษ เล็ก จำนวน 10,290 กล่อง - กล่องลังกระดาษ กลาง จำนวน 8,080 กล่อง - กล่องลังกระดาษ ใหญ่ จำนวน 160 กล่อง - กล่องลังกระดาษ ทรงสูง จำนวน 1,280 กล่อง - สายรัดพลาสติก จำนวน 17 ม้วน และในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ขยายผลเข้าตรวจค้นสถานที่จับเก็บผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอ
เพิ่มเติม จำนวน 2 จุด ดังนี้
จุดที่ 1 สถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ตรวจยึด ยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซินปลอม จำนวน 3,600 ขวด
จุดที่ 2 สถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอม ขวดบรรจุภัณฑ์ และวัตถุดิบการผลิต ในพื้นที่ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ตรวจยึดของกลางจำนวน 3 รายการ ได้แก่ 1. ยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซินปลอม จำนวน 27,000 ขวด 2. ขวดสีชา จำนวน 47,280 ชิ้น 3. น้ำตาล 50 kg. จำนวน 3 กระสอบ
รวมตรวจค้น 3 จุด ตรวจยึดและอายัดยาแก้ไอ ยี่ห้อดาทิสซินปลอม จำนวน 45,600 ขวด, วัตถุดิบอุปกรณ์การผลิต และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 35 รายการ โดยโรงงานดังกล่าวมียอดการผลิตวันละ 20,000 ขวด และลักลอบผลิตมาแล้วประมาณ 2 เดือน มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 50,000,000 บาท
จากการสืบสวนพบว่า ผู้กระทำความผิด นำส่วนผสม วัตถุดิบ และบรรจุภัณฑ์จากสถานที่ต่างๆมาผลิต และบรรจุในโกดังในพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร จากนั้นจะนำผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอมไปกระจายเก็บไว้ในโกดังพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน และ อ.เมืองสมุทรสาคร โดยจะเปลี่ยนสถานที่ในการผลิตไปเรื่อยๆ รวมทั้งใช้กล่องผลไม้บรรจุยาแก้ไอปลอมในการขนส่งเพื่อตบตา และยากแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังสืบสวนทราบว่า กลุ่มผู้กระทำผิดดังกล่าว เป็นผู้ที่ได้รับการว่าจ้างผลิตยาแก้ไอปลอม ให้กับเครือข่ายผู้กระทำความผิด ในการผลิต และจำหน่ายยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้เข้าทำการตรวจค้นและดำเนินคดีไปแล้ว เมื่อประมาณเดือน เมษายน 2567 ที่ผ่านมาอีกด้วย
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
1. ฐาน “ผลิตยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2. ฐาน “ผลิต และขายยาปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 50,000 บาท
โดยภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) กล่าวว่าปฏิบัติการครั้งนี้ อย. ต้องขอขอบคุณตำรวจสอบสวนกลาง บก.ปคบ. ที่ช่วยสืบสวนจนสามารถจับกุมเครือข่ายลักลอบผลิตยาน้ำแก้ไอปลอมได้ในวันนี้ ซึ่งที่ผ่านมา อย. ได้มีมาตรการในการตรวจสอบ เฝ้าระวังการผลิตและขายกลุ่มยาน้ำแก้ไอซึ่งเป็นยาอันตรายกลุ่มเสี่ยงที่มีการนำไปใช้ในกลุ่มวัยรุ่น เพื่อหวังผลให้เกิดอาการมึนเมา และมีการลักลอบขายทั้งทางอินเทอร์เนตและร้านขายยากลุ่มเสี่ยงมาโดยตลอด
สำหรับการจับกุม ณ สถานที่ผลิตยาแก้ไอปลอมในวันนี้ จะเห็นได้ว่ายาปลอมเหล่านี้เกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัย จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนในการเลือกซื้อยา อย่าเสี่ยงสั่งซื้อยาจากสื่อออนไลน์หรือซื้อจากร้านที่ไม่มีใบอนุญาตขายยา ซึ่งนอกจากจะได้รับยาที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่สามารถใช้รักษาโรคได้แล้ว ยังไม่ปลอดภัย หรือเกิดอันตรายจากการบริโภคยาดังกล่าวได้ ขอให้เลือกซื้อยาจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะมีกระบวนการคัดเลือกยาที่มีคุณภาพ มาตรฐานนำมาขายในร้านยา รวมถึงเภสัชกรจะเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำในการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลให้กับผู้ป่วย
สำหรับการเฝ้าระวังการลักลอบผลิตและขายยาแก้ไอ หรือยาอันตรายกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มนำไปใช้ในทางที่ผิดนั้น อย. มีมาตรการเข้มงวดในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการจับกุมทั้งผู้ที่ลักลอบผลิต ขาย ยาน้ำ แก้แพ้ แก้ไอปลอมหลายครั้ง และหากพบว่าผู้กระทำผิดเป็นผู้รับอนุญาต นอกจากจะถูกดำเนินคดีทางอาญาอย่างเคร่งครัดแล้ว จะถูกพักใช้ใบอนุญาต ห้ามผลิต และขายยาด้วย
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ยาเป็นปัจจัย 4 ที่ประชาชนจะใช้รักษาเยียวยาเมื่อป่วยไข้อันดับแรก และส่งผลโดยตรงกับสุขภาพของประชาชน หากรับประทานยาปลอมที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล ไม่หาย และอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต ผู้ผลิตและขายยาจะต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่ายาที่ผลิตมาสู่ท้องตลาดมีมาตรฐาน และรักษาโรคได้จริงบก.ปคบ.จะดำเนินกวดขันจับกุมผู้ผลิตและขายยาปลอม รวมถึงกวาดล้างผู้ที่ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถึงที่สุด
ขอฝากความห่วงใยถึงกลุ่มเยาวชน ที่นำยายาแก้ไอ ยาแก้แพ้ หรือยาแก้ปวดไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ในลักษณะสารเสพติดที่เรียกว่า “4x100” แล้วนำมาดื่มเพื่อให้เกิดอาการมึนเมา เสียสุขภาพและอาจก่อเกิดเหตุอาชญากรรมสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนตามมา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินกวดขันจับกุมเครือข่ายที่นำยาดังกล่าวไปขายเพื่อตัดตอนการเข้าถึงยาเสพติดชนิด 4x100 ให้ถึงที่สุด ทั้งนี้การดำเนินการด้านการปราบปรามเป็นการแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง ต้องอาศัยผู้ปกครองหมั่นสอดส่องดูแลบุตรหลาน โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค
แท็กที่เกี่ยวข้อง ยาแก้ไอปลอม ,ทลายโรงงาน