สังคม

เปิดคำพิพากษา ศาลสั่งธนาคารใช้คืนกึ่งหนึ่ง หลังลูกค้าถูกมิจฉาชีพหลอกกดลิงก์ดูดเงิน

โดย nicharee_m

20 ก.ค. 2567

2.3K views

เปิดคำพิพากษาลูกความทนายเดชา ให้ธนาคารชดใช้เงินคืนกึ่งหนึ่ง หลังถูกมิจฉาชีพดูดเงิน ชี้การยืนยันตัวตนของแอพฯขณะเกิดเหตุ ไม่มีความรัดกุม ลูกความดีใจ หวังเรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้เสียหายรายอื่นให้ลุกขึ้นสู้ “เอาไม้ซีกงัดไม้ซุง”

วานนี้ (19 ก.ค.67) ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความสำนักทนายคลายทุกข์ โพสต์ผ่านเพจ ระบุว่า “ข่าวด่วนวันนี้! ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาให้ธนาคารใช้เงินคืนกึ่งหนึ่งให้กับลูกค้า กรณีมิจฉาชีพดูดเงิน”

ทีมข่าวได้คุยกับทนายเดชา และลูกความ คือ นางจุติรัช อายุ 50 ปี โดยนางจุติรัช ได้เล่าให้ฟังว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2566 มี SMS จากหมายเลข +6606783986 ส่งมาว่า “เรียนลูกค้า คุณได้รับสิทธิ์ลดเบี่ยประกันกรมธรรม์ละ 2,000 เนื่องในวาระครบรอบ 81 ปี ไทยประกันชีวิต ยืนยันรับสิทธิ์ พร้อมแนบลิงก์” พอกดเข้าไปเป็นแอพฯที่แอบอ้างเป็น ไทยประกันชีวิต

ส่วนสาเหตุที่กดลิงก์ ณ ตอนนั้นเพราะว่าเดือนนั้นต้องจ่ายค่ากรมธรรม์พอดี เมื่อดาวน์โหลดแล้วได้คุยผ่านแอพฯ เขาให้แจ้งชื่อ และเบอร์โทรศัพท์มือถือ ตนจึงให้ข้อมูลไป ก่อนที่มิจฉาชีพจะให้ดาวน์โหลด พอโหลดมาแล้วโทรศัพท์มือถือ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย

ทั้งนี้โทรศัพท์มือถือถูกควบคุมโดยมิจฉาชีพนานมาก ขณะเดียวกันช่วงที่โทรศัพท์มือถือถูกควบคุม ฝั่งมิจฉาชีพยังโทรศัพท์ให้สไลด์หน้าจอในมือถือให้ด้วย ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ได้เอะใจ จนอยู่ๆ โทรศัพท์มือถือกลับมาใช้ได้สักแปปนึง ปรากฏว่ามีไลน์แจ้งเตือนว่ามีเงินเข้า-ออก จากบัญชี จากนั้นจึงเริ่มเอะใจเพราะไม่ได้ทำธุรกรรมอะไร แล้วทำไมถึงมีเงินเข้า-ออก

จากนั้นได้เช็คทั้งหมดพยบว่าเงินออกจากบัญชีทั้งหมด 2 ธนาคาร และ 1 บัตรเครดิต รวมยอดจริงๆ ประมาณ 5 แสนกว่า บาท แต่มี 1 บัญชีประมาณหลักแสนที่ออกจากบัญชีชื่อสามี แต่อยู่ในแอพฯโทรศัพท์มือถือของตน หากฟ้องต้องฟ้องแยก จึงตัดสินใจฟ้องแค่ยอดเงินบัญชีตัวเอง รวม 4 แสนกว่าบาท

ส่วนประด็นที่หลายคนมองว่าเรื่องนี้อาจเป็นอีกหนึ่งบรรทัดฐานใหม่ นางจุติรัช บอกว่า ก็รู้สึกดีใจ และอยากให้ผู้เสียหายทุกคนที่โดนเหมือนเรา ลุกขึ้นมาต่อสู้ เพราะว่าเป็นเงินของเรา แม้ว่าเราจะได้มาครึ่งหนึ่งก็ดีใจแล้ว เพราะอยากให้ธนาคารชดใช้ให้เราบ้าง อย่าผลักภาระให้เรา และยิ่งเฉพาะบัตรเครดิต เวลาที่คุณอยากได้ลูกค้า คุณซัพพอร์ตเรามาก แต่เวลาเราเกิดเหตุกลับผลักภาระให้เรา

โดย ทนายเดชา ได้เผยคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ 468 / 2566 โดยพิพากษาให้ธนาคารและบริษัทบัตรเครดิตร่วมกันใช้เงินคืนลูกค้า กรณีกรณีมิจฉาชีพดูดเงินในบัญชีไป โดยให้รับรับผิดชอบกึ่งหนึ่งของเงินที่สูญเสียไปจากทั้งหมด เนื่องจากมีส่วนร่วมในการประมาท ระบุว่า

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะในการให้บริการรับฝากเงินและให้บริการแอปพลิเคชั่นกรุงไทย  ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะในการให้บริการด้านบัตรเครดิตและให้บริการ แอปพลิเคชั่น KTB กับลูกค้ารวมถึงโจทก์

แอปพลิเคชั่นของจำเลยทั้งสองดังกล่าว ควรจะต้องมีความปลอดภัย สามารถเก็บรักษาเงินฝากหรือเครดิตของลูกค้า รวมถึงของโจทก์ได้ โดยไม่ถูกคนร้ายหรือมิจฉาชีพโอนเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้า ซึ่งรวมถึงโจทก์ไปยังบุคคลอื่นได้โดยง่ายในระบบแอปพลิเคชัน แม้จะไม่ได้ถูกเจาะระบบแต่เชื่อได้ว่าโจทก์ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นปลอมลงโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงโจทก์ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆรวมถึงรหัสลับส่วนตัวของโจทก์ จนเป็นเหตุให้มิจฉาชีพสามารถเข้ามาดำเนินการควบคุมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจรจากระยะไกล  ทำให้มิจฉาชีพโจรกรรมเงินจากบัญชีธนาคารของโจทก์ผ่านแอปพลิเคชันกรุงไทย และ แอปพลิเคชั่น KTB

เมื่อพิจารณาถึงระบบการพิสูจน์ยืนยันตัวตนผู้ใช้งานของจำเลยทั้งสอง ซึ่งจำเลยทั้งสองใช้ระบบวิธีการจดจำเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรืออุปกรณ์สื่อสารของลูกค้า  ประกอบกับรหัสผ่านที่ลูกค้ากำหนดขึ้น และหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของลูกค้านั้น จะเห็นได้ว่าวิธีการดังกล่าวหากบุคคลอื่นสามารถเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของลูกค้า และทราบรหัสผ่านก็สามารถเข้าถึงบัญชีของลูกค้าได้ โดยระบบไม่ได้พิสูจน์ไปถึงตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้แอปพลิเคชั่นว่า เป็นรูปลูกค้าเจ้าของบัญชีหรือไม่ แตกต่างจากมาตรฐานการทำธุรกรรมที่หน้าธนาคาร  ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารจะต้องตรวจสอบว่าผู้มาติดต่อทำธุรกรรมนั้นเป็นเจ้าของบัญชีหรือได้รับมอบอำนาจมาจริงหรือไม่  มิใช่เพียงแต่มีสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารมาแล้ว จะสามารถทำธุรกรรมเกี่ยวกับบัญชีนั้นได้

เมื่อขณะเกิดเหตุคดีนี้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ติดตั้งระบบสแกนใบหน้าใน 2 แอปพลิเคชั่นดังกล่าวสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินที่มียอดค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศ

เมื่อพิจารณาถึงการโอนเงินออกจากบัญชีโจทก์แต่ละครั้งเป็นยอดสูงครั้งละหลักหมื่นและหลักแสนเช่นนี้จึงเห็นได้ว่าระบบการพิสูจน์หรือยืนยันตัวตนที่จำเลยทั้งสองเลือกนำมาใช้กับระบบแอปพลิเคชั่นของทั้งสองในขณะเกิดเหตุยังไม่มีความรัดกุมเพียงพอที่จะสามารถพิสูจน์ยืนยันตัวตนผู้ใช้งานจริง ง่ายจนบุคคลอื่นสามารถเข้ามาทำธุรกรรมทางการเงินกับบัญชีเงินฝากของโจทก์ โดยไม่ถูกตรวจสอบ ดังนั้น การที่เงินของโจทก์ถูกโอนออกจากบัญชีเงินผ่านระบบแอปพลิเคชันกรุงไทยและแอปพลิเคชั่น KTB ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตามลำดับนั้น ถือเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อโจทย์  

อย่างไรก็ดี เมื่อได้ความว่าโจทก์เองก็มีส่วนผิดก่อให้เกิดความเสียหาย โดยติดตั้งแอปพลิเคชั่นปลอมซึ่งมีลักษณะอันตรายจนเป็นเหตุให้มิจฉาชีพเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์และล่วงรู้รหัสลับในการเข้าใช้บัญชีระบบแอปพลิเคชั่นกรุงไทย และ แอปพลิเคชั่น KTB ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตามลำดับได้ กรณีย่อมฟังได้ว่าโจทย์เองก็มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายนี้ด้วยเช่นกัน

เมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของโจทก์และจำเลยทั้ง 2 โดยตลอดแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของความเสียหายที่เกิดขึ้น  ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนไม่ต้องร่วมกันรับผิดแต่อย่างใดสำหรับจำเลยที่ 1 จากยอดเงิน 42,193 บาทจำเลยที่ 2 จากยอดเงิน 80,000 บาทคิดเป็นจำนวนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับติดต่อโจทก์เป็นเงิน 201,096 บาท 50 สตางค์

จำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท ในส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีนั้นเห็นว่าเหมาะสมแล้วจึงกำหนดให้นับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 201,096.50บาท

จำเลยที่ 2 จำนวน 40,000 บาทให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีนับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปีแต่ไม่เกินดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ


https://youtu.be/oa2J95upras

คุณอาจสนใจ

Related News