สังคม

ต้องให้สูญเสียอีกเท่าไร? ฝุ่นเชียงใหม่ คร่าแล้ว 4 อาจารย์ มช. เผยคณบดีสถาปัตย์ พบ ‘ยีนส์กลายพันธุ์’ จาก PM 2.5

โดย thichaphat_d

6 เม.ย. 2567

1.4K views

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ประเทศไทย วันที่ 6 เม.ย.67 เวลา 10.00 น. เชียงใหม่ ค่าฝุ่น 262 AQI อยู่ในระดับสีแดง คุณภาพอากาศแย่อันดับ 1 ของโลก โดยที่ อ.สันทราย มีค่าฝุ่นสูงถึง 354 AQI ทำให้เชียงใหม่ติดอันดับ 1 ของโลกติดต่อกัน 5 วันแล้ว ในช่วงต้นเดือนเมษายน

มีรายงานกรณีของ ศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี อายุ 55 ปี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อมูลว่า อ.ระวิวรรณ ไม่สูบบุหรี่ และย้ายจาก กทม. มาอาศัยที่ จ.เชียงใหม่ ได้ 22 ปี แล้ว

นายจิตรกร โอฬารรัตน์มณี สามีของ อ.ระวิวรรณ ได้เปิดเผยว่า ภรรยาได้เริ่มป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดเมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ตอนแรกคิดว่าภรรยาป่วยเป็นลองโควิด แต่ช่วงหนึ่ง อ.ระวิวรรณ ได้มีอาการไอ และมีเลือดติดออกมาจึงตัดสินใจเข้าตรวจสุขภาพที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะที่ 4 หลังจากนั้นทางแพทย์เจ้าของไข้จึงได้วางแนวทางในการรักษาเริ่มจากการหาสาเหตุของการเกิดมะเร็งว่ามะเร็งปอดตัวนี้มันเกิดจากอะไร

โดยการนำตัวอย่างเนื้อเยื้อไปตรวจพบว่าเป็นผลจาก PM 2.5 ทำให้เกิดยีนส์กลายพันธุ์เกิดขึ้น ซึ่งยีนส์กลายพันธุ์ตัวนี้มักจะเกิดผู้หญิงเอเชีย อย่างไรก็ตามอยากจะฝากถึงรัฐบาลว่าจริงๆ เราพบปัญหา PM 2.5 มานานแล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เกิดผลกระทบกับเราอย่างชัดเจนเราจึงไม่ให้ความสำคัญกับเรา แต่เมื่อวันหนึ่งถ้าคนในครอบครัว หรือตัวเราเองป่วยเป็นมะเร็งปอด เราจะรู้ทันทีว่า PM 2.5 มันเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงมาก

อย่างไรก็ตามอยากให้กรณีของ อ.ระวิวรรณ เป็นกรณีศึกษาว่า หลังจากนี้ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าใส่ใจในการแก้ไขปัญหามากกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดมันอาจจะไม่ทำให้ปัญหาหมอกควันหายไปแต่หวังว่าให้ลดความรุนแรงลงได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี

นายจิตรกร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากคืนที่ผ่านมา (5 เม.ย.) ได้มีการทำบุญกุศลศพ อ.ระวิวรรณ เป็นคืนสุดท้าย วันนี้ (6 เม.ย.) ตนและครอบครัวจะมอบร่าง อ.ระวิวรรณ ให้กับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อไปตามที่ อ.ระวิวรรณ เคยตั้งใจไว้  

ขณะที่ อ.นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ (หมอหม่อง) อายุรแพทย์โรคหัวใจ และที่ปรึกษาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีข่าวร้ายเกี่ยวกับการเสียชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งพบว่าเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด 4 ราย จากการตรวจสอบพบว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดโดยที่ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ ซึ่งปกติจะมีสัดส่วนที่น้อย แต่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดเชียงใหม่ กลับพบผู้ป่วยโรคมะเร็งมีสัดส่วนที่สูงมากกว่าที่อื่น

และจากการศึกษาวิจัยจากต่างประเทศพบว่าการมาอยู่ในพื้นที่ ที่มี PM 2.5 ในระดับที่ไม่ปลอดภัยเป็นระยะเวลานานมีโอกาสกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีนส์ทำให้มีโอกาสที่เกิดมะเร็งปอดสูงขึ้นอย่างมากเป็นระยะเวลา 2-3 ปีก็มีความเสี่ยงแล้ว ซึ่งไม่ใช่เป็นการได้รับผลกระทบระยะสั้นหรือแค่แสบตา ตาแดง แสบจมูก หากเป็นการสะสมของพิษ และส่งผลกระทบกับสุขภาพอย่างรุนแรงทั้งโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ เป็นเรื่องซึ่งมันไม่ได้เกิดช่วงที่หมอกควันปกคลุมแต่เป็นการสะสมของพิษระยะยาว

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี สำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า

“รายนามคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด

มีนาคม 2565 .. รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กันยายน 2566 .. รองศาสตราจารย์ ดร.มงคล รายะนาคร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และท่านเป็นอดีตคณบดีของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ..ท่านริเริ่มศึกษาฝุ่นพิษมาตั้งแต่ปี 2550 ที่ยังไม่มีใครรู้จัก PM2.5 ในชื่อโครงการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์เพื่อหามลพิษทางอากาศในอนุภาคฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ทุนวิจัยจาก สกว.

ธันวาคม 2566 .. นพ.กฤตไท ธนกฤตสมบัติ อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมษายน 2567 .. ศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ยังต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไร จึงจะแก้ปัญหาการเผาและ PM2.5 ????”

ล่าสุดเพจ ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง โพสต์ข้อความระบุว่า “ในรอบ 10 ปีนี้ บุคลากร ม. เชียงใหม่ เป็นมะเร็งปอดตายไปกี่คนแล้วคะ”

ทำให้ประเด็น “ฝุ่น” ของภาคเหนือกลับมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง โดยมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ประชาชนส่วนใหญ่ต่างตั้งคำถาม และอยากให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการแก้ไขโดยเร็ว

ขณะเดียวกันเพจ 'สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว' ได้มีการนำเสนอประเด็นดังกล่าวออก ซึ่งมีแฟนข่าว (Somchai Pitthayapreechanont) เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า "พี่สาวผมอยู่กรุงเทพฯ เป็นมะเร็งชนิดยีนส์กลายพันธุ์ ปอดมิวเตชั่นตัวเอง กลายเป็นเนื้อร้ายโรคนี้เป็นเฉพาะผู้หญิงเอเชีย ต้องไม่ดื่มเหล้าสูบบุรี่ด้วย วันที่พบว่าเป็นมะเร็งปอด อยู่ได้อีก 1 ปี 5 เดือน คีโมแล้วพบเชื้อมะเร็งตอบสนองต่อการรักษาแค่ 38% จากนั้นมันกลับมา พบกระจายไปสมอง จนกระทั่งจากไปอย่างสงบ...สุดท้ายขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวอาจารย์ด้วยครับ"


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/YLRNweB5nfs

คุณอาจสนใจ

Related News