สังคม

ยอดชำระตก! กยศ.เตรียม 2 แผน รับมือกฎหมายใหม่ เว้นเก็บดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ

โดย nicharee_m

24 ก.ย. 2565

248 views

วานนี้ (วันที่ 23 ก.ย.) นายชัยณรงค์ กัจฉปานนท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในสมาชิกวุฒิสภาเร็วๆ นี้ ยังมีแนวโน้มทั้ง 2 ทาง คือ การที่ลูกหนี้ กยศ. สามารถชำระหนี้ได้เร็วขึ้น เนื่องจากไม่มีดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ทำให้การชำระหนี้เข้าเงินต้นทั้งหมด หรือ ลูกหนี้ กยศ. จะไม่ชำระหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม กยศ.จะดำเนินการตามกฎหมายเช่นเดิม

สำหรับผลการชำระหนี้ในปีงบประมาณ 64 อยู่ที่ 3.21 หมื่นล้านบาท และปีงบ 65 ตั้งแต่ 1 ต.ค.64-11 ก.ย.65 มีการชำระเงินคืนทั้งสิ้น 2.72 หมื่นล้านบาท ขณะที่การปล่อยเงินกู้ยืมในปีงบประมาณ 65 อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท จากผู้กู้ยืม 6.39 แสนราย แม้ปีงบประมาณ 65 กยศ. จะมีการปล่อยเงินกู้มากกว่า จัดเก็บรายได้ แต่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากยังคงมีสภาพคล่องอยู่ราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะปล่อยเงินกู้ได้ 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการเก็บดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ตาม พรบ.กยศ. ฉบับใหม่ จะทำให้รายได้จัดเก็บหายไปเฉลี่ยปีละ 6 พันล้านบาท และหากสภาพคล่องหมดมีโอกาสที่จะต้องกลับไปปล่อยกู้เฉพาะผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุด ตามจุดประสงค์ของ กยศ. จากปัจจุบันที่ปล่อยให้ผู้ประสงค์กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาทั้งหมด 100% หรือ หากต้องการปล่อยกู้ทั้งหมดจำเป็นต้องกลับไปใช้งบประมาณภาครัฐได้

ปัจจุบัน กยศ. เป็นกองทุนหมุนเวียน ที่ไม่ใช้งบประมาณภาครัฐมาตั้งแต่ปี 2561 มาจากความร่วมมือกับสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดเก็บเงินกับผู้กู้ในลักษณะการหักบัญชี ทำให้มีวงเงินชำระเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันกองทุนให้กู้ไปแล้วทั้งสิ้น 6,284,0005 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 702,309 ล้านบาท ประกอบด้วยผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและช่วงปลอดหนี้ 986,668 ราย คิดเป็นเงินมูลค่า 1.14 แสนล้านบาท อยู่ในช่วงการชำระหนี้ 3,559,421 ราย ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1,669,129 ราย  และและผู้กู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ 638,132 ราย  รวมเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 38,879 ล้านบาท  ผิดนัดชำระหนี้ 45% หรือ 2.37 ล้านราย คิดเป็นเงินต้นที่ผิดนัดชำระหนี้ 9.1 หมื่นล้านบาท และสำหรับผลการรับชำระหนี้ในปีงบประมาณ 2565 ได้ชำระคืนแล้วกว่า 27,844 ล้านบาท (ข้อมูลวันที่ 20 ก.ย.65) .

ขณะที่ “กองทุนได้จัดอันดับข้อมูลการชำระหนี้ของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน จำนวน 313 แห่ง พบว่ามีอัตราเงินต้นค้างชำระเฉลี่ย 61% โดยมีรายชื่อสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด 25 อันดับแรก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุดเป็นอันดับแรก ได้แก่ มหาวิทยาลัยพะเยา และมีมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับคือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยเรียงตามลำดับมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด ดังนี้

1. มหาวิทยาลัยพะเยา

2. มหาวิทยาลัยศิลปากร

3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

4. มหาวิทยาลัยนเรศวร

5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

6. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

7. มหาวิทยาลัยมหิดล

8. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

9. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

10. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

11. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

12. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

13. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

14. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

15. มหาวิทยาลัยบูรพา

16. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

17. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

18. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

19. มหาวิทยาลัยแม่โจ้

20. มหาวิทยาลัยขอนแก่น

21. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

22. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

23. สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

24. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

25. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน


ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/mkWwomxCaug

แท็กที่เกี่ยวข้อง  หนี้กยศ. ,กยศ.

คุณอาจสนใจ

Related News