สังคม

หมอธีระ-หมอมนูญ เปิดงานวิจัย ใช้ 'ฟาวิพิราเวียร์' รักษาโควิด เทียบ 'ยาหลอก พบผลไม่แตกต่างกัน

โดย weerawit_c

10 ก.ย. 2565

758 views

วันที่ 9 ก.ย.65 นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุ



“เราทราบจากสื่อต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 ผลการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมเปรียบเทียบ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ กับยาหลอกที่ทำในประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และบราซิล สร้างความผิดหวังให้กับบริษัทยาของญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ยาตัวนี้



ในที่สุด ผลงานวิจัยนี้เพิ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Clinical Infectious Diseases เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 การศึกษาทำในช่วงพฤศจิกายน 2563-ตุลาคม 2564 เป็นการศึกษาขนาดใหญ่ในคนติดเชื้อไวรัสโควิด 1,187 ราย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (ชาวอเมริกัน 963 คน เม็กซิกัน 163 คน บราซิล 65 คน) โดยให้ยาภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ ให้ยาทั้งหมด 10 วัน โดย 599 คนรับ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ , อีก 588 คนรับยาหลอก


ผลการศึกษาพบว่า ‘ยาฟาวิพืราเวียร์’ ไม่แตกต่างจากยาหลอก ไม่ช่วยทำให้อาการของโรคโควิดดีขึ้น ไม่ลดความรุนแรงของโรค ไม่ลดการป่วยหนักเข้านอนในโรงพยาบาล ไม่ลดจำนวนไวรัสในร่างกาย



แต่คนที่กิน ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ มีกรดยูริกสูงขึ้นถึง 19.9% เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก 2.8%



ในการศึกษานี้ พูดถึงประเทศที่ยังใช้ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ มีประเทศรัสเซีย อินโดนีเซีย ดูไบ และประเทศไทยรวมอยู่ด้วย



บทสรุปของการศึกษานี้ ไม่ควรนำ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ มาใช้ในการรักษาโรคโควิด-19



ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรหยุดใช้ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ในการรักษาโรคโควิด-19 ‘ยาโมลนูพิราเวียร์’ ปัจจุบันราคาไม่แพงกว่า ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ประเทศเพื่อนบ้านของเราเลิกใช้ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ นานแล้ว และเข้าถึงยา ‘โมลนูพิราเวียร์’ และ ‘ยาแพ็กซ์โลวิด’ ซึ่งมีหลักฐานพิสูจน์ลดความรุนแรงของโรค ลดการเข้านอนในโรงพยาบาล องค์การเภสัชกรรมควรเลิกผลิต นำเข้า’ยาฟาวิพิราเวียร์’ และไม่ควรส่ง ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ให้ร้านขายยาและโรงพยาบาลอีกต่อไป”



ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 ก.ย.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นเดียวกันนี้ระบุ

“Favipiravir สำหรับโรคโควิด-19...จบเสียที...



Golan Y และคณะ ได้เผยแพร่ผลการวิจัยที่สำคัญมาก เผยแพร่ในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อระดับโลก Clinical Infectious Diseases วันที่ 6 กันยายน 2565



เป็นการศึกษาทางคลินิก แบบสุ่ม และมีกลุ่มควบคุม (Randomized double-blinded controlled trial) โดยทำแบบสหสถาบัน 27 แห่งในอเมริกา , 7 แห่งในเม็กซิโก และอีก 7 แห่งในบราซิล



ในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่จำนวน 1,187 คน ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งมีอาการน้อยถึงปานกลาง และศึกษาประสิทธิผลของ Favipiravir เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก



สาระสำคัญคือ ทั้งสองกลุ่มไม่ได้แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องระยะเวลาที่ใช้จนอาการดีขึ้น , ระยะเวลาจนตรวจไวรัสไม่พบ , สัดส่วนของคนที่ตรวจไม่พบไวรัสหลังสิ้นสุดการรักษา



ทั้งนี้ กลุ่มที่ใช้ยา Favipiravir นั้น พบว่ามีอัตราการเกิดปัญหากรดยูริคในเลือดสูง มากกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอกถึง 7 เท่า (19.9% ในกลุ่ม Favipiravir และ 2.8% ในกลุ่มที่ได้ยาหลอก)



ผลสรุปจากการวิจัยคือ กลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง ที่ได้รับยา Favipiravir นั้น มีผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้ยาหลอก



...ผลการศึกษานี้มีความสำคัญต่อเรื่องนโยบายการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ของแต่ละประเทศ



และที่สำคัญยิ่งคือ เป็นความรู้ที่จะช่วยให้ประชาชนและผู้ป่วยได้ใช้ในการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติ ตัดสินใจระหว่างการรับบริการดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม


https://youtu.be/PLsUajMWGrk

คุณอาจสนใจ

Related News