สังคม
ภูหลวงอันตราย พบกับดักช้างติดตะปู เร่งหาวิธีแก้ไข - คืบหน้าการรักษา 'คุณปู่ป่าละอู' ช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
โดย weerawit_c
22 ม.ค. 2565
198 views
วานนี้(21 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บกับดักช้าง พบเป็นไม้แผ่นกลม ติดตะปู ยาว 4-5 นิ้ว วางดักไว้บริเวณรอยต่อพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงและกลายเป็นกระแสมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึง กลุ่มที่กระทำดังกล่าว
ล่าสุด นายจิรชัย อาคะจักร หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง ดูแลงานสำรวจติดตามช้างป่าออกนอกพื้นอนุรักษ์ฯ กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณ รอบบ่อน้ำข้างวัดป่าศรีภูหอ ติดแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง บ.วังมน ต.ภูหอ อ.ภูหลวง จ.เลย
ซึ่งจุดนั้นมันจะมีบ่อน้ำและมีที่ทำกินของชาวบ้าน อยู่บริเวณรอบรอบและก็มีด่านช้างอยู่บริเวณดังกล่าว ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงและสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวงก็มีการติดตามสัตว์ป่าภูหลวงเช่นช้างอยู่แล้ว ต้องติดตามว่า มี ช้างตัวไหนออกไปนอกเขตบ้างหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ก็ไปเจอกับกับดักช้าง บริเวณรอบบ่อที่มีลักษณะเป็นตะปูตีกับไม้กลม มีการวางตะปูตีใส่กับแผ่นไม้ใหญ่ ซึ่งเป้าหมายน่าจะเป็นช้างอย่างเดียว
สำหรับพื้นที่นี้ ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านก่อนหน้านี้ว่า ไม่ให้ความรุนแรงต่อสัตว์ป่า แต่ยังพบว่าเกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง นำกับดักช้างออกไปรอบหนึ่งแล้วและเจ้าหน้าที่ของสถานีวิจัย ก็ลงไปติดตามและไปติดตามเก็บมาอีกรอบ ซึ่งมีการซ่อนไว้ตามพงหญ้าต่างๆบริเวณรอบบ่อน้ำ สามารถนับได้ประมาณ 80 ชิ้น
มีรายงานว่า ตะปูที่ประกอบเป็นกับดัก มีลักษณะขึ้นสนิท หากช้างเหยียบลงไป นอกจากจะได้รับบาดเจ็บแล้ว แผลที่เกิดจากตะปูทิ่มแทงอาจทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา
นายจิรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายกลุ่มอาสาเฝ้าระวังช้างในพื้นที่ภูหลวงซึ่งมีหมู่บ้านรอบแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงและทางอำเภอภูหลวง ช่วยประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจ ผ่านผู้นำชุมชน ชาวบ้าน เรื่อง การดูแลอนุรักษ์ช้าง อย่างปลอดภัย และ มีความเข้าใจ พร้อมแจ้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ถึงการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งไม่สมควร ซึ่งหากใครพบผู้กระทำลักษณะนี้ สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362
กรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เครือข่ายต่างๆได้ทำการรักษาช้างป่าคุณปู่ป่าละอูครั้งแรก เมื่อวันที่ 10-11 มกราคม 2565 การรักษาระยะใกล้พบว่ามีบาดแผลบริเวณลำตัวหลายจุด โดยเป็นบาดแผลจากการต่อสู้และถูกยิงหลายแห่ง แผลค่อนข้างลึก ติดเชื้อในกระแสเลือดระดับรุนแรง มีหนองไหลจากแผลบริเวณท้ายลำตัว ร่างกายอ่อนแอ ซูบผอม ประกอบกับช้างป่าที่อายุมากแล้ว อาการจึงอยู่ในภาวะวิกฤติ
วานนี้ (21 ม.ค.) ทีมสัตวแพทย์ นำโดย นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานร่วมกับทีมสัตวแพทย์จากส่วนกลางของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทีมสัตวแพทย์จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) ทีมสัตวแพทย์จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย จนท.ทหารเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ เจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า(WCS) ประเทศไทย และรองนายกอบต.ป่าเด็ง นายประจิน เสียงเพราะโดยเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ได้ผ่านการตรวจ ATK Covid-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในช่วงช่วงเช้ามีการประชุม วางแผนการช่วยเหลือ ที่ศูนย์ข้อมูลอนุรักษ์ช้างป่าแก่งกระจาน ณ ป่าละอู และมีการลงพื้นที่ติดตามอาการ รักษาช้างป่า คุณปู่ป่าละอู บริเวณ บ้านป่าแดง ใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำกระหร่าง 3 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หมู่ 3 ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
โดยเริ่ม ปฏิบัติการในช่วงเวลา 14.00 น. ทำการวางยาซึม เพื่อทำการรักษา แต่ด้วยสภาวะร่างกายของช้างป่าจากผลการตรวจเลือดครั้งที่แล้วพบว่าช้างป่าค่อนข้างอ่อนแอ มีภาวะติดเชื้อทั่วร่างกาย โลหิตจาง ค่าไตและตับขึ้นสูงมาก จึงทำให้การเข้าถึงตัวเพื่อค่อนข้างมีอุปสรรค หลังจากให้ยา ช้างป่าได้ล้มตัวลงนอนกับพื้น ซึ่งบริเวณที่ช้างล้มตัวนอนนั้นเป็นร่องพื้นภายในป่า การล้มนอนของช้างที่อยู่ในลักษณะที่หัวต่ำกว่าตัวเสี่ยงต่อภาวะสำลักและอาจมีภาวะอื่นๆแทรกซ้อนตามมา อาจทำให้ช้างเสียชีวิตได้
ดังนั้นการทำงานของทีมสัตวแพทย์ในวันนี้จึงค่อนข้างเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องทำงานแข่งกับเวลาและต้องมีการเฝ้าระวังอาการระหว่างที่ช้างป่าล้มตัวลงนอนอย่างใกล้ชิดเพราะทุกนาทีที่ช้างล้มนอนจากฤทธิ์ยาอาจจะทำให้เป็นอันตรายต่อช้างป่าได้
การรักษามีการเก็บเลือดเพื่อติดตามสภาวะของร่างกายปัจจุบัน ให้ยาปฏิชีวนะ ยาบำรุง สารน้ำ และยากำจัดปรสิต ซึ่งบาดแผลของช้างที่พบในวันนี้มีหนองลักษณะข้นไหลออกจากบาดแผลที่ด้านหลังทั้ง 2 แผล เป็นโพรงเข้าไปถึงชั้นกล้ามเนื้อลึกประมาณ 2-3 ฟุต ซึ่งคาดว่าเป็นรอยจากการต่อสู้ ส่วนแผลที่บริเวณหัว และบริเวณกลางลำตัว ตรวจด้วยเครื่องตรวจโลหะพบว่ามีโลหะอยู่ภายในบาดแผลทั่วทั้งร่างกาย โดยทีมสัตวแพทย์ได้ทำการล้างแผลและพบกระสุนภายในบาดแผลจึงได้ทำการนำกระสุนออกเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าเป็นกระสุนลูกปืนซองลูก 9 หรือ OO Buckshot
ปฏิบัติการครั้งนี้ ใช้เวลาตั้งแต่ช้างล้มจนทำแผล ให้ยาเสร็จเรียบร้อย ดำเนินการทุกอย่างในภาวะฉุกเฉินได้ครบถ้วน เป็นเวลา 20 นาที ด้วยการทำงานที่เป็นทีม มีระบบ ช้างป่า คุณปู่ป่าละอู สามารถฟื้นตัวและเดินกลับเข้าป่าได้ และหากินปกติ ในคืนนี้จะรอผลการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินสุขภาพของช้างป่าคุณปู่ป่าละอู โดยวันพรุ่งนี้จะมีการติดตามอาการของช้างต่อไป การประเมินสภาวะร่างกายของช้างพบว่าช้างยังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยเป้าหมายในการรักษาของทีมสัตวแพทย์ในครั้งนี้ คือช่วยให้ช้างพ้นจากภาวะวิกฤติที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการวันนี้ พบว่าช้างมีภาวะภูมิตกและมีการอักเสบอย่างรุนแรงทั่วร่างกาย ประกอบกับภาวะขาดน้ำอย่างยาวนานและร่างกายอยู่ในภาวะวิกฤติจึงมีการสร้างเม็ดเลือดขึ้นใหม่เพื่อชดเชยความผิดปกติของร่างกายที่เกิดขึ้น
สาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้ ที่ช้างป่าถูกทำร้าย เกิดจากการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เท่านั้น ชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ป่าละอูและป่าเด็ง มีความรักและเข้าใจต่อสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี และการแก้ไขปัญหาตามแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาช้างในในพื้นที่ก็กำลังดำเนินการไปสู่เป้าหมาย เพื่อให้คนและช้างป่าอยู่ร่วมกันในสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เกื้อกูลกัน
ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/Au89vRg7KuM