สังคม
สรรพากรลั่นกลอง Easy E-Receipt เริ่ม 16 ม.ค.นี้ คาดกระตุ้นใช้จ่ายคึกคัก
โดย panwilai_c
15 ม.ค. 2568
53 views
เริ่มในวันพรุ่งนี้ (16 ม.ค.) แล้ว สำหรับโครงการ Easy E-Receipt กรมสรรพากร พร้อมเปิดระบบรับการใช้จ่าย มั่นใจกระตุ้นการใช้จ่ายคึกคัก แต่ก่อนควักกระเป๋าใช้จ่าย ต้องเช็กให้ชัวร์ก่อนช้อปว่า จะลดภาษีได้คุ้มหรือไม่ เพราะไม่ใช่การนำยอดซื้อทั้งหมดไปลดหย่อนภาษี แต่จะต้องนำไปคำนวณร่วมกับฐานภาษีแบบขั้นบันได ด้วย เช่น ถ้ามีรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี ก็จะไม่ได้สิทธิในโครงการนี้
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรพร้อมเดินหน้ามาตรการภาษี Easy E-Receipt 2.0 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ โดยผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธธรรมดา ย้ำว่าผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธธรรมดา สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 ตามจำนวนที่จ่ายจริง มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับเอกสารยืนยันการใช้จ่ายในรูปแบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เท่านั้น
โดยในค่าใช้จ่าย 50,000 บาท จะแบ่งออกเป็น (1.) 30,000 บาท สำหรับใช้ซื้อสินค้า หรือ บริการจากร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)
ส่วนอีก 20,000 บาท สำหรับซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP สินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชน สินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม และต้องใช้หลักฐาน e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เช่นกัน คือ ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการชัดเจน
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมระบบ e-Tax Invoice และ e-Receipt จำนวน 12,395 ราย โดยมีร้านค้ารวมทั้งสิ้น 108,873 ร้านค้า
ย้ำอีกทีสำหรับสินค้าและบริการที่ไม่สามารถใช้สิทิ์ Easy E-Receipt ได้ เช่น สุรา ยาสูบ ค่าน้ำมัน รวมถึงค่าชาร์จรถไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าแพ็กเก็จท่องเที่ยว Gift Voucher) หรือ ค่าทำศัลยกรรม เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ก่อนควักกระเป๋าช้อป ต้องเช็กให้ชัวร์ว่าลดหย่อนภาษีได้คุ้ม เพราะการใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีนั้น ไม่ใช่การนำยอดซื้อทั้งหมดไปลดหย่อนภาษี แต่จะเป็นการลดหย่อนจากจำนวนเงินได้พึงประเมินสุทธิที่ต้องนำไปคำนวณร่วมกับฐานภาษีแบบขั้นบันได
เช่น ถ้าคุณมีรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี คุณได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ไม่ได้ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ก็จะไม่ได้สิทธิ Easy E-Receipt นั่นหมายความว่า คุณต้องมีรายได้เกิน 150,000 บาทต่อปี ถึงจะได้สิทธิในโครงการนี้ ได้มาก-น้อย ขึ้นอยู่กับรายได้ เช่น ถ้ารายได้ไม่เกิน 300,000 บาท คุณอยู่ในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี 5% ใช้จ่ายครบ 50,000 บาท คุณจะได้คืนภาษี 2,500 บาท โดยกลุ่มที่จะได้ภาษีคืนสูงสุด คือ คนที่มีรายได้สุทธิเกิน 5 ล้านบาทต่อปี ใช้จ่ายครบ 50,000 บาท จะได้คืนภาษี 17,500 บาท เป็นต้น
ทีมข่าวลงพื้นที่ดูความพร้อมของร้านค้า พบว่า บรรดาห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ต่างเตรียมการรองรับการใช้จ่าย โดยเฉพาะการออกใบกำกับภาษี Easy E-Receipt มีการเสริมพนักงาน สามารถออกใบกำกับภาษีและส่งเข้าอีเมลได้ภายใน 30 วินาที พร้อมเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการโอท็อป และวิสาหกิจชุมชน นำสินค้าเข้ามาวางขายโดยไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย ที่สำคัญมีการจัด โปรโมชั่นเสริมร่วมด้วย เรียกว่ากระตุ้นการใช้จ่ายอย่างเต็มที่
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ ได้สำรองเงินสดช่วงนี้กว่าแสนล้านบาท เพื่อรองรับการใช้จ่ายในเทศกาลตรุษจีน รองรับการใส่ซอง "อั่งเปา-แต๊ะเอีย" ซื้อของไหว้ และการใช้จ่ายในโครงการ Easy E-Receipt 2.0 ซึ่งคาดว่าการจับจ่ายจะคึกคักอย่างมาก
แท็กที่เกี่ยวข้อง กรรมสรรพากร ,กระตุ้นการใช้จ่าย ,Easy E-Receipt