สังคม

อย.สุ่มเก็บ 'องุ่นไชน์มัสแคท' มาตรวจซ้ำ หากพบปนเปื้อนเกินมาตรฐานดำเนินคดีทันที

โดย chawalwit_m

28 ต.ค. 2567

99 views

วันที่ 28 ตุลาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้แถลงมาตรการการกำกับและดูแลคุณภาพผักและผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศโดย อย. หลังจากผู้บริโภคออกมาเปิดเผยว่าพบองุ่นไชน์มัสแคทที่ขายในท้องตลาด มีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐาน และเรียกร้องให้ อย.เข้มงวดกับการตรวจจับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค



โดย นพ.สุรโชคกล่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าผักและผลไม้จากต่างประเทศจำนวนมาก อย.จึงมีมาตรการในทุกกองด่านอาหารและยา ซึ่งมีการกำหนดค่ามาตรฐานปริมาณสารตกค้างในผักและผลไม้ ที่ได้ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เพื่อดูว่าแต่ละสารไม่ควรเกินเท่าไร เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งสารบางชนิดไม่มีในประกาศของกรมวิชาการเกษตร ทาง อย. ก็ได้กำหนดมาโดยอ้างอิงจากปริมาณมาตรฐานในสากล ที่เรียกว่า โคเด็กซ์ (Codex) ซึ่งจะมีระบุว่าสามารถใช้สารอะไรได้ในปริมาณเท่าไร


แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสารไหนที่ไม่มีการกำหนดจาก 2 แหล่งอ้างอิงดังกล่าว อย. ก็จะกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำมาก คือ 0.01 ppm หรือ 0.01 ในล้านส่วน ซึ่งถือว่าน้อยมาก



หากเป็นสารที่เราไม่รู้จัก จะมีการกำหนดค่าที่ต่ำไว้เพื่อความปลอดภัย ส่วนแง่ของกฎหมาย เมื่อพบสารต่างๆ ก็จะมีการตรวจว่าพบมากหรือน้อย เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้น การนำเข้าผักและผลไม้จากต่างประเทศจะต้องมีการตรวจที่กองด่านอาหารและยา เป็นจุดสกัดสำคัญก่อนเข้าประเทศ



ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการสุ่มตรวจสินค้านำเข้ากว่า 10,000 รายการ เบื้องต้นได้ส่งตรวจจากห้องปฏิบัติการอีก 500 รายการ ซึ่งอาจเข้าข่ายพบการปนเปื้อนตกค้างของสารเคมีตามเกณฑ์กำหนด 177 รายการ ซึ่งได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกรายฐานนำเข้าเพื่อจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐานซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาทและจัดการสินค้าการทำลายหรือส่งคืนประเทศต้นทางไปแล้ว ส่นสินค้า ที่ผ่านการตรวจเบื้องต้นเมื่อนำเข้ามาในประเทศได้แล้วยังมีการสุ่มตรวจเฝ้าระวังเพิ่มเติมอีก


ส่วนกรณีที่ตรวจองุ่นไชน์มัสแคทพบสารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งจัดเป็นสารเคมีทางการเกษตรอันตราย ทาง อย.ได้ประสานขอข้อมูลเพื่อนำมาตรวจสอบ ตามขั้นตอนซึ่งทาง อย.ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผลไม้แล้ว เพื่อนำมาตรวจสอบหาสารตกค้างใหม่ หากพบความผิด จึงจะดำเนินการทางกฎหมายทันที ทั้งนี้คาดว่าประมาณ 1 สัปดาห์จะทราบผลตรวจ ส่วนในแง่ของผู้บริโภค ในกรณีพบสารปนเปื้อนแต่ไม่เกินค่าความปลอดภัยที่กำหนดก็ถือว่าการบริโภคได้ แต่ต้องมีการล้างให้ถูกวิธี


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/75xknly_0rA

คุณอาจสนใจ

Related News