สังคม

กรมประมงโชว์ตัวอย่างครีบ 'ปลาหมอคางดำ' เก็บไว้ตั้งแต่ปี 60 'หมอวาโย' ชี้ถ้ามีของปี 53-54 ปัญหาก็จบ

โดย panisa_p

23 ก.ค. 2567

74 views

วันนี้ คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ นำทีมโดย นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง และ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ลงพื้นที่ กรมประมง ประชุมและขอดูห้องเก็บตัวอย่าง DNA และห้องเก็บโหลดอง รวมถึงสมุดคุมที่เป็นประเด็น ปรากฏว่า วันนี้ ได้เห็นตัวอย่าง ครีบปลาหมอคางดำที่เก็บจากบริษัทเอกชนที่นำเข้าแล้ว แต่เป็นตัวอย่างที่เก็บไว้ตั้งแต่ปี 2560



กระบอกพลาสติกนี้ คือ ตัวอย่างครีบและเนื้อปลาหมอคางดำ ที่เก็บจากบ่อพักของบริษัทเอกชนที่เป็นผู้นำเข้าปลาหมอคางดำ โดยตัวอย่างนี้ เก็บตั้งแต่ 2560 โดยห้องที่เก็บดูแลนี้ เรียกว่า “ธนาคาร DNA” อยู่ภายใน กรมประมง



คุณอภิรดี หันพงศ์กิตติกูล นักวิชาประมงชำนาญการพิเศษ ยืนยันว่า ครีบดังกล่าว มีการนำไปเทียบกับ DNA ของปลาหมอคางดำที่ระบาดอยู่ในปัจจุบันแล้ว พบว่ามีความคล้ายคลึงกัน “พูดง่ายๆ ณ เวลานั้นที่มีการสุ่มสำรวจทั้งหมด 5-6 จังหวัด ลักษณะทางพันธุกรรมที่แพร่ระบาดมีความคลายคลึงกัน”



นพ.วาโย บอกว่า ณ ตอนนี้ เรามีตัวอย่าง DNA ปลาหมอคางดำ ปี 2560 และ ตัวอย่างในปัจจุบัน สิ่งที่ขาดคือ ตัวอย่างปี 53-54 หากมีครบ ปัญหา ณ ตอนนี้ก็จะจบ ส่วนตัวมองว่า ถ้าทำตามเอกสารก็จะไม่มีปัญหาเลย



หลัง นพ.วาโย พูดจบ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง พูดต่อทันทีว่า “เขาไม่ทำ” ก่อนที่อนุกรรมาธิการอีกคน จะพูดว่า “ทำไมไม่ทำตามขั้นตอน” นพ.วาโย กล่าวเสริมมาว่า แต่เขาบอกว่าเขาปฏิบัติตามเอกสารและขั้นตอน ซึ่งเราต้องรอดู เพราะก่อนหน้านี้ต่างฝ่ายต่างพูด แต่ตอนนี้ท่านอธิบดีมีหลักฐานและข้อมูลประกอบแบบละเอียดยิบ ก่อนที่ นพ.วาโย จะกล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอชื่นชมท่านอธิบดี”



ส่วนการลงพื้นที่ ห้องเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำที่ดองไว้เป็นตัวอย่างหลากหลายชนิด เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์อื่นๆ ประมาณ 160 ชนิด กว่า 5,000 โหล รวมถึงมี “โหลดองปลาหมอคางดำ” ที่เก็บมาจากบ่อธรรมชาติในพื้นที่ จ.นครปฐม ซึ่งเก็บมาล่าสุดในเดือน ก.ค.2567 นี้ด้วย แต่ไม่มีโหลดองของบริษัทเอกชน



ทั้งนี้ นอกจากลงพื้นที่ ทั้งอนุกรรมาธิการ และเจ้าหน้าที่จากกรมประมงยังร่วมประชุมกันนานกว่า 2 ชั่วโมง นพ.วาโย เปิดเผยว่า วันนี้ ทางกรมประมง ได้ตอบคำถามในหลายประเด็นที่ทวงถามไป ถือว่าตอบเกือบครบ แต่สิ่งที่ไม่ต้อง คือ ข้อแรกที่ถามไปว่า ขอดูรายงานการขออนุญาตของบริษัทเอกชน ตอนที่ขอนำเข้าปลาหมอคางดำมาวิจัย นพ.วาโย บอกว่า อยากดูรายละเอียดว่า ถ้อยคำที่ เขาเขียนคำขออย่างไร และ กรมประมงอนุญาตอย่างไร เพื่อที่จะดูว่า กรมประมง มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง ต้องเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองหรือไม่



นพ.วาโย ยังบอกอีกว่า กรมประมงมีการเปิดสมุดคุมได้ดูในทุกๆ ปีไล่มา แต่ไม่พบการนำส่งจากบริษัทเอกชนเลย แต่เพื่อความเป็นธรรม ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ที่จะเชิญบริษัทเอกชนมาชี้แจง



ส่วนสิ่งที่ นพ.วาโย ได้คำตอบจากกรมประมง ยืนยันว่ามีหลายประเด็น เช่น การส่งออกปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ช่วงปี 2556 ถึง 2559 ทั้งหมด 17 ประเทศ 320,000 กว่าตัว โดยบริษัทหรือเอกชน 11 ราย ตนเองขอเอกสารและรายชื่อทั้งหมดแล้ว ซึ่งก็ได้รายชื่อทั้งหมดมาแล้ว และก็ได้รายละเอียดมา



แต่โดยส่วนใหญ่ทางกรมประมงชี้แจงว่าเป็นการแจ้งผิด ซึ่งตรงนี้ก็เป็นข้อมูลใหม่และอึ้งไป โดยพบว่า ทางบริษัทที่ส่งออกมีการแจ้งอยู่ 3 ชื่อ ชื่อแรกคือ ชื่อวิทยาศาสตร์ S melanotheron ซึ่งก็คือปลาหมอคางดำ ชื่อที่สองคือชื่อ common name ภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อว่า Blackchin Tilapiaและสามคือชื่อทั่วไปภาษาไทย ตรงนั้นในเอกสารใช้ว่า “ปลาหมอเทศข้างลาย” มันก็เลยหลุดออกไป แต่ในสามชื่อนี้ สองชื่อแรกมันเป็นปลาหมอคางดำ แต่ทั้งหมด 11 กรณี กรมประมงสรุปว่า เป็นการแจ้งผิด ไม่มีความรู้ อ้างว่าชิปปิ้งเป็นคนทำ



ด้านนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. ในฐานะรองประธานอนุกมธ. ชุดนี้ เปิดเผยว่า วันนี้ข้อสงสัยที่สังคมเคลือบแคลงสงสัย ทางคณะอธิบดีได้มอบข้อมูลพยานหลักฐานทั้งหมด ซึ่งก็ได้ส่งให้คณะกรรมาธิการแล้วถือว่าเคลียร์ในระดับหนึ่ง ตอนนี้เหลืออีกฝั่งหนึ่งที่ต้องส่งข้อมูลคล้ายกันแบบนี้ ถ้าท่านมีก็ส่งมาให้คณะกรรมาธิการ ก็จะได้มีการเร่งสืบหาหาสาเหตุของการวิจัยครั้งนี้ว่าผลเป็นอย่างไร



ส่วนประเด็นที่เซอร์ไพรส์ที่สุด คือเรื่องของการส่งออก สุดท้ายแล้วมีการลักลอบ หรือเพาะเลี้ยงหรืออะไรต่างๆ ซึ่งวันนี้เป็นข้อมูลใหม่



ด้านนายบัญชา อธิบดีกรมประมง เผยหลังคณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ยื่นให้ตรวจสอบและขอหลักฐานจากกรมประมง เกี่ยวกับข้อมูลบริษัท CPF นำเข้าปลาหมอคางดำว่า ต่อจากนี้ก็ให้เป็นไปตามที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ซึ่งในฐานะกรมประมงมีหน้าที่เพียงให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ที่เป็นไปตามเงื่อนไข และภายใต้ระยะเวลาที่มี



พร้อมระบุว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พบว่าในปี 2560 เจ้าหน้าที่กรมประมงได้ขอเข้าตรวจสอบที่บ่อเพาะเลี้ยง ของบริษัทเอกชน ที่ตำบลยี่สาร เพื่อหาสาเหตุเกี่ยวกับการระบาดของปลาหมอคางดำ และเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างครีบและชิ้นเนื้อของปลาหมอคางดำมาเก็บไว้ที่กรมประมง ซึ่งข้อมูลนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่ตนเพิ่งได้รับทราบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากการประชุมคณะอนุกรรมมาธิการ พร้อมย้ำว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันความชัดเจนถึงจุดต้นตอการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้ ซึ่งเห็นว่าหน้าที่นี้ต้องขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมมาธิการ อว. เป็นผู้ออกมายืนยัน



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/OYtxHV4ogIQ

คุณอาจสนใจ

Related News