สังคม

นายกฯ แจงปมเด้ง 'บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก' ต้องนำ 'คู่ขัดแย้ง' ออกจากระบบ ให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้า

โดย panwilai_c

20 มี.ค. 2567

92 views

นายกฯ แจง ย้าย "บิ๊กต่อ- บิ๊กโจ๊ก" ช่วยราชการสำนักนายกฯ 60 วัน พร้อมตั้งกรรมการสอบ ยัน ไม่ใช่การลงโทษ แต่เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าได้โดยไม่มีการแทรกแซง และต่อไปลูกน้องของทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่ออกมาพูดอีกแล้ว โดยให้ "บิ๊กต่าย" รักษาราชการแทน ผบ.ตร.



เวลาประมาณ 14.30 น.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการย้าย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุวิมล ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองบัญชาการตํารวจแห่งชาติ เข้ามามาช่วยที่สํานักนายกรัฐมนตรี ว่าจากที่ทราบว่ามีประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เรื่องคดีความต่าง ๆ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าไปได้โดยไม่มีการแทรกแซง



ซึ่งยืนยันทั้งสองท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเดินหน้าไปได้ด้วยความสะดวก ดูแลประชาชนได้เต็มที่ ไม่มีการก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม จึงขอโอนทั้งสองท่านมาช่วยราชการที่สำนักนายกฯเป็นการชั่วคราว น่าจะประมาณ 60 วัน ระหว่างการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ยืนยันเป็นการย้ายมาชั่วคราว ไม่ได้เป็นการลงโทษ



ทั้งนี้นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ได้ออกคำสั่งไป 2 ฉบับแล้ว ฉบับแรก เป็นคำสั่งย้ายทั้งสองท่านมาประจำสำนักนายกฯ / ฉบับที่สอง มอบหมายให้ พลตํารวจเอกกิตติรัฐ พันธุ์เพชร รอง ผบ.ตร.รักษาการ ผบ.ตร. / และฉบับที่ 3 จะออกเย็นนี้ คือตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจะมี 3 ท่าน คือ เป็นตำรวจ /อดีตปลัดมหาดไทย และ จากสำนักงานอัยการ



ทั้งนี้ นายกฯ เปิดเผยว่า ในตอนที่เรียกทั้งสองท่านมาพบที่ทำเนียบได้แจ้งเรื่องที่ย้ายให้มาประจำสำนักนายกฯด้วย ซึ่งทั้งสองรับปากว่าจะพยายามไม่พูดอีกแล้ว ให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมายให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าได้โดยไม่มีการแทรกแซง โดยไม่ให้ลูกน้องทั้งสองฝ่ายออกมาพูดอะไรอีกแล้ว



ถามว่า ในช่วง 60 วัน ห้ามให้สัมภาษณ์หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่แล้ว ท่านทราบว่าควรพูดอะไร ไม่ควรพูดอะไร และถามผู้สื่อข่าวว่า ท่านแถลงข่าวไปแล้วใช่ไหม ก่อนจะบอกว่า ก็เป็นไปตามที่แถลงข่าว และย้ำว่า ตอนนี้ให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าได้ ไม่ให้มีการก้าวก่าย ไม่ให้มีการล็อบบี้กันเกิดขึ้น



นายกฯ เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า ไม่สบายใจที่ต้องทำแบบนี้ แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพื่อให้ สตช.เดินหน้าทำหน้าที่ดูแลประชาชนได้ เชื่อว่าทุกอย่างจะคลี่คลายได้ หากภายใน 60 วัน หรือมากกว่า หากพิสูจน์ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมสามารถเดินหน้าได้โดยไม่มีการก้าวก่ายแทรกแซง ก็จะพิจารณาโอนย้ายกลับได้



ถามว่าให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีอะไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ก็คดีที่มีการพูดกัน ทุกคดีที่มีการกล่าวโทษซึ่งกันและกัน



ผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีของนายตำรวจใหญ่ทั้ง 2 ท่าน หลังจากรับทราบว่าจะให้ย้ายมาประจำสำนักนายกฯ ซึ่งนายกฯ กล่าวว่า เป็นธรรมดาว่าทั้งสองท่านก็มีความกังวลใจ และไม่สบายใจ แต่ก็ยอมรับด้วยดี ซึ่งตนได้แจ้งชื่อคณะกรรมการทั้ง 3 ท่านให้ทั้งสองทราบแล้ว ทั้งสองก็โอเค เป็นคนกลาง เป็นคนแฟร์ ทั้งสองก็ยอมรับ



นายกฯ ย้ำว่า ไม่มีธงว่าคณะกรรมการตรวจสอบจะต้องตัดสินออกมาอย่างไร แต่วันนี้ต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง และเรื่องการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่แถวสองแถวสามที่อาจจะเข้าข้างคนใดคนหนึ่ง ก็อาจจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มสภาพ การเอาคู่ขัดแย้งมาช่วยราชการที่สำนักนายกฯก่อน ทุกท่านจะได้ทำงานได้เต็มที่ โฟกัสอยู่ที่ปัญหาของประชาชน และให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปได้ โดยปราศจากการแทรกแซง



ทั้งนี้ นายกฯเปิดเผยด้วยว่า วันนี้ได้นัดพูดคุยกับคณะกรรมการทั้ง 3 ท่านด้วย และ วันพรุ่งนี้ ก็จะไปเป็นประธานการประชุม กตร. เพื่อชี้แจงนโยบายการทำงาน ซึ่งก็คงไม่จำเป็นต้องชี้แจงเรื่องนี้อีก



ถามว่าคำสั่งนายกฯที่ออกมาเป็นการยืนยันต่อสาธารณะว่าทั้งคู่เป็นคู่ขัดแย้ง จากที่ผ่านมาเป็น proxy war (สงครามตัวแทน) นายกฯ กล่าวว่า ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาสื่อก็เสนอข่าวอยู่แล้ว ทั้งนี้ นายกฯย้ำหลายรอบ ว่าทั้งสองคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ การสั่งย้ายไม่ได้เป็นการลงโทษ



ทั้งนี้มีรายงานว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและ ประกอบด้วย

1. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการ

2. นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด กรรมการ

3. พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ กรรมการ และเลขานุการ



ซึ่งเป็นคณะการชุดเดิมที่เคยตรวจสอบกรณีบุคค้นบ้านพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์


https://youtu.be/Iz-kzcpraFw

คุณอาจสนใจ

Related News