สังคม

ผู้เชี่ยวชาญแนะวิธีวางแผนผ่อน-โปะบ้าน ให้หนี้หมดเร็ว หลังเหล่าเดอะแบกพ้อ ดอกเบี้ยสุดโหด

โดย panwilai_c

3 พ.ย. 2566

204 views

ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่อนชำระ ชี้ ตัดเงินต้น 5 บาท ดอกเบี้ย 1 หมื่น เป็นไปได้ แต่ไม่เป็นแบบนี้ตลอดสัญญา เมื่อผ่อนชำระผ่านไปเรื่อยๆ จะกลับมาเป็นปกติ แนะการโปะชำระเพิ่มแต่จะงวด พอครบ 3 ปี ควรรีไฟแนนซ์ หรือ รีเทนชั่น ช่วยลดดอกเบี้ยได้หลักแสน ถึง ล้าน



ทีมข่าวพูดคุยกับคุณวิน เจ้าของเพจ Guru living อธิบายถึงกรณีของผู้ผ่อนทำระค่าบ้านกับธนาคารแห่งหนึ่ง และมีการตัดเงินต้นเพียง 5 บาท ส่วนดอกเบี้ย 1 หมื่นกว่าบาทว่า สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะปกติดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน บางธนาคารอาจจะมีโปรโมชั่นยอดผ่อนต่ำๆ แต่ละธนาคารอาจจะกดยอดผ่อนให้ต่ำเป็น ล้านละ 3,000 หรือ 4,000 บาทต่อเดือน จากปกติตามหลักยอดหนี้ ล้านละ 7,000 บาท



ซึ่งในเคสนี้ อาจเป็นไปได้ว่า เพิ่งเริ่มผ่อนได้ 1-2 ปี เลยเป็นไปได้ว่า สัดส่วนเงินต้น หรือ ยอดหนี้ยังเหลือเยอะ ทำให้ดอกเบี้ยเยอะ เพราะหลักการผ่อนบ้านคือ ลดต้นลดดอก



ส่วนคำถามที่ว่า ผ่อนกี่ชาติจะหมดนั้น ทางคุณวิน อธิบายว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ดอกเบี้ยขาขึ้น จึงอาจจะทำให้หลายคนรู้สึกดอกเบี้ยมันสูง แต่ยืนยันว่าจะไม่ได้เป็นแบบนี้ไปตลอดสัญญา เพราะเมื่อผ่อนชำระผ่านไปเรื่อยๆ มันก็จะกลับมาเป็นปกติ อาจจะกลายเป็นเงินต้น 30% ดอกเบี้ย 70% ก็เป็นไปได้



สิ่งที่แนะนำสำหรับผู้ผ่อน ให้วางแผนการผ่อนบ้าน และโปะชำระ การจ่ายค่างวดบ้านที่มากกว่าธนาคารกำหนด ซึ่งไม่ได้มีจำนวนตายตัว ว่าควรจ่ายเพิ่มเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้กู้ แต่ถ้าแนะนำก็ควรจะประมาณ 10% ของยอดผ่อนแต่ละเดือน ซึ่งเงินโปะบ้าน จะไปโปะเงินต้นทั้งหมด และจะทำให้ดอกเบี้ยลดลง แต่จะไม่ได้เห็นผลทันที ต้องใช้ระยะเวลา 3-5 ปี จึงจะเห็นผล



นอกจากนี้ คือ การรีไฟแนนซ์ หรือปรับโครงสร้างหนี้ เมี่อครบระยะผ่อน 3 ปี โดยเป็นการย้ายธนาคารจากธนาคารเอ ไปธนาคารบี หรือการไปรีเทนชั่นกับธนาคารเดิม เพื่อขอลดดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับช่วงสามปีแรก ซึ่งการทำลักษณะนี้จะช่วยประหยัดดอกเบี้ยได้หลักแสน ถึงหลักล้าน



เพราะวันนี้ดอกเบี้ยกำลังจะกลายเป็นขาขึ้น และไม่น่าจะกลับมาต่ำอีกในเร็วๆ นี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนมีภาระสินเชื่อ ก็คือการวางแผนการผ่อนชำระการโปะบ้านให้ดี



ส่วนกลุ่มที่กำลังวางแผนจะซื้อบ้าน การเลือกดอกเบี้ยบ้าน อย่าดูดอกเบี้ยที่ถูกที่สุดแต่เพียงอย่างเดียว ควรพิจารณาเงื่อนไขในการรีไฟแนนซ์ ในการโปะชำระ หรือแม้แต่ค่าธรรมเนียมต่างๆต้องมาคำนวณประกอบกัน



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/GQnePqLG9VM

คุณอาจสนใจ