สังคม

กกพ.เปิดโครงสร้างค่าไฟ เชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักทำค่าไฟแพง

โดย attayuth_b

19 เม.ย. 2566

59 views

  • เลขาฯ กกพ. เคลียร์ชัด สาเหตุที่ต้องขึ้นค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 2566 เพราะยังค้างหนี้ กฟผ. และยืนยันสาเหตุหลักค่าไฟแพง คือ ต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ชี้แจงว่า สาเหตุที่ค่าไฟฟ้าแพงเกิดจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำที่เคยใช้ผลิตไฟฟ้าลดลงค่อนข้างมากต่อเนื่องจาก 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต เหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือ ลดลง 20-30% และต้องนำเข้า LNG ที่ราคาแพงทดแทน โดยย้ำว่า เชื้อเพลิงเป็นสาเหตุหลักของค่าไฟฟ้าแพง ส่วนต้นทุนอื่นที่วิจารณ์กัน โดยสัดส่วนไม่มีผลมากนัก อย่างเช่น ถ่านหินราคาปรับเพิ่มไม่มากนัก ค่าความพร้อมจ่ายที่พูดกันไม่ได้เพิ่มมากนักยังอยู่ระดับเดิม

มาดูว่า ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.77 บาทต่อหน่วยในงวด พ.ค.-ส.ค. ประกอบด้วย อะไรบ้าง 1.ค่าเชื้อเพลิงทุกประเภทเฉลี่ย 2.74 บาทต่อหน่วย 2.ค่าโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ 76 สตางค์ต่อหน่วย 3.ค่าต้นทุนระบบจำหน่าย 51 สตางค์ต่อหน่วย 4. ค่าภาระหนี้เชื้อเพลิง กฟผ. 35 สตางค์ต่อหน่วย 5. ค่าต้นทุนระบบส่ง 24 สตางค์ต่อหน่วย และ6. ค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น Adder ค่าไฟฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 16 สตางค์ต่อหน่วย

และเเม้ว่า ตั้งแต่เข้าสู่ปี 2566 เป็นต้นมา ราคาต้นทุนพลังงานจะปรับตัวลดลง แต่การคำนวณค่าไฟของสำนักงาน กกพ. ยังไม่สามารถปรับลดตามต้นทุนลงได้ เพราะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคำนวณค่าเอฟที ที่ใช้สมมติฐานตัวเลขต้นทุนในปีก่อนหน้า ในที่นี้หมายถึงปี 2565 ซึ่งเป็นการประมาณการต้นทุนในงวดถัดไป ในขณะที่การประกาศค่าไฟฟ้าในงวดก่อนหน้านี้ แนวโน้มเชื้อเพลิงขึ้นมาตลอด กกพ. เองใช้สมมติฐานค่าเชื้อเพลิงต่ำมาตลอด ทำให้ภาระหนี้เชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อราคาเชื้อเพลิงแท้จริงลดลง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นก็จะถูกนำไปหักลบกลบหนี้ในการประกาศค่าเอฟทีและค่าไฟฟ้าในงวดต่อไป ยืนยันว่าไม่มีใครได้กำไรและขาดทุน เพราะว่ารอบสุดท้ายก็จะนำมาหักลบกลบหนี้กัน ในทางตรงกันข้าม ขณะที่การทำประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำเกินไป จะส่งผลกระทบต่อภาระหนี้สินและสภาพคล่องของ กฟผ.ได้


https://youtu.be/GuLkjGoUimk

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ค่าไฟแพง ,กกพ. ,โครงสร้างค่าไฟ

คุณอาจสนใจ

Related News