สังคม

ดีเอสไอ นำเครื่องมือพิเศษ เก็บข้อมูล 8 จุด แม่น้ำเจ้าพระยา หาความจริงคดีแตงโม

โดย nutda_t

17 ก.พ. 2568

141 views

วันนี้ (17 ก.พ. 68) พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พันตำรวจตรีณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนคดีการเสียชีวิตของแตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ นำคณะพนักงานสืบสวนจำนวน 25 คน ที่เชี่ยวชาญในด้านการสืบสวนสอบสวน ด้านนิติวิทยาศาตร์ ด้านแผนที่ภูมิศาสตร์ และหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ลงพื้นที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุในแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยคณะพนักงานสืบสวน นำเรือปฏิบัติการรวม 5 ลำ ลงสำรวจเริ่มต้นจากอู่เรือบ้านเรือเล็ก อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี พร้อมนำอุปกรณ์โซนาร์จากกรมชลประทาน ไปสำรวจสภาพใต้น้ำ รวมถึงการใช้เครื่องสแกนเนอร์เพื่อตรวจสอบสภาพทางกายภาพบนฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาในจุดที่เกี่ยวข้องกับคดี เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ร่วมกับรายงานการตรวจสภาพศพของแตงโม ว่าสอดคล้องกันหรือไม่

พันตำรวจตรีณฐพล กล่าวว่า วันนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะพนักงานสืบสอบสวน มาตรวจพื้นที่ตลอดลำน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ตามที่เรือลำเกิดเหตุวิ่งไปตลอดลำน้ำเจ้าพระยา โดยจะใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ทั้งหมด มีเครื่องมือพิเศษที่จะใช้ในการตรวจสอบ เพื่อนำผลที่ได้ประกอบกับการตรวจวิเคราะห์และรายงานการชันสูตรพลิกศพ และภาพคลิปวิดีโอต่างๆ ว่ามีความสอดคล้องหรือแตกต่างกันอย่างไร

โดยวันนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งกรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และเรือที่จะอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการจำลองเหตุการณ์ครั้งนี้ และได้นำผู้เชี่ยวชาญด้าน ปฏิบัติการพิเศษทั้งการตรวจที่เกิดเหตุ และการตรวจภูมิศาสตร์พื้นที่ ร่วมกันหาข้อมูลเพื่อที่จะได้นำไปวิเคราะห์ ประกอบสำนวน

คณะตรวจที่เกิดเหตุจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ภาคเช้าและภาคบ่าย โดยภาคเช้าจะไปสำรวจทางทิศใต้ ซึ่งมีจุดสำคัญที่จากการสอบปากคำพยานมา มีข้อสงสัยมากที่สุด คือบริเวณท่าทรายและวัดค้างคาว ต้องตรวจสอบว่าสอดคล้องกับที่พยานให้การมาหรือไม่ ส่วนภาคบ่ายจะเป็นการสำรวจขึ้นไปทางทิศเหนือ ไปจนถึงร้านอาหารบ้านตานิด ซึ่งมีจุดที่สงสัยประมาณ 4 จุด

โดยหากผลการตรวจสอบวันนี้ พบว่ามีจุดใดที่น่าสงสัย หรือมีสิ่งบอกเหตุ จะให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาลงพื้นที่เก็บรายละเอียดอีกครั้ง

นอกจากนี้ วันนี้จะเก็บตัวอย่างน้ำในจุดที่สงสัยไปตรวจสอบด้วย เพื่อดูว่าตรงกันกับน้ำที่เข้าไปในปอดของแตงโมหรือไม่ โดยกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ จะสามารถพิสูจน์ชนิดของน้ำได้ ซึ่งจะสามารถบอกจุดตกเรือที่แท้จริงได้

ด้าน นายไกรศรี สว่างศรี ผู้อำนวยการส่วนแผนที่และเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า อุปกรณ์ในวันนี้ จะใช้เครื่องมือสแกนจำลองพื้นที่เกิดเหตุทั้งหมด โดยใช้โดรนถ่ายภาพทางอากาศ อุปกรณ์ถ่ายภาพใต้น้ำ เพื่อทำบันทึกเส้นทางที่เรือวิ่งทั้งหมด ออกมาเป็นแผนที่ทางอากาศแบบ 3 มิติ

นอกจากนี้ ยังมีตัวเลเซอร์สแกน ซึ่งจะมีค่าพิกัดโลกทั้งหมด และมีเรือสำรวจใต้น้ำ ด้วยโซนาร์ของกรมชลประทาน ทำการเก็บภูมิประเทศใต้น้ำทั้งหมด จะเห็นความลึกตื้น เป็นหิน เป็นดินหรือเป็นทราย เครื่องมือจะสามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งหมด และจะนำข้อมูลที่ได้ในวันนี้มารวมกันแสดงในรูปแบบของ 3 มิติ หรือ VR ก็จะทำให้เห็นเส้นทางเรือ จีพีเอสเรือ ตำแหน่งของสัญญาณโทรศัพท์ ตำแหน่งกล้องวงจรปิดในการบันทึกภาพทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โดยคณะพนักงานสืบสวนจะลงพื้นที่แยกกันเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มสำรวจพื้นที่ใต้น้ำ กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มสแกนเก็บพื้นที่ ภูมิประเทศทั้งหมด และกลุ่มที่ 3 จะเป็นการใช้โดรนสแกนพื้นที่ทุกจุด

เมื่อถามว่ามีความกังวลเรื่องระยะเวลาในวันเกิดเหตุและปัจจุบัน ว่าจะมีความแตกต่างกันหรือไม่นั้น นายไกรศรี กล่าวว่า เรากำลังจำลองเหตุการณ์ทั้งหมดด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์ เราสร้างพื้นที่เกิดเหตุขึ้นมา และพยานหลักฐานต่างๆ ที่พนักงานสืบสวนได้รวบรวมเอาไว้ จะนำมาไว้ในระบบ เพื่อวิเคราะห์ให้ชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตบางส่วน พนักงานสืบสวนได้ข้อมูลมาแล้วไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางโทรศัพท์ และกล้องวงจรปิดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือที่นำมาใช้ในวันนี้ เป็นครั้งแรกที่ใช้ในคดีอาชญากรรม เพราะที่ผ่านมา เคยใช้แต่ในคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การตรวจกรณีการทำเหมืองแร่เถื่อน หรือบุกรุกพื้นที่ป่าไม้

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ดีเอสไอ ,คดีแตงโม

คุณอาจสนใจ

Related News