สังคม
ชาวไร่อ้อย บุก ก.อุตสาหกรรม แจงยิบไม่ได้เป็นต้นเหตุ PM 2.5 ชี้ที่ไหนในโลกก็เผา
โดย nutda_t
11 ก.พ. 2568
1.5K views
กลุ่มชาวไร่อ้อยจากหลายจังหวัด เช่น กาญจนบุรี สระแก้ว พิษณุโลก อุทัยธานี นำโดย นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย , นายพนม ตะโกเมือง รองประธานสหพันธ์ฯ และนายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ฯ เดินทางมารวมตัวกันหน้ากระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมโต้ข้อกล่าวหาที่ว่าอุตสาหกรรมการผลิตอ้อยและน้ำตาล ไม่ได้เป็นต้นเหตุหลักในการก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5
นายกำธร กล่าวว่า ตามที่ปรากฏข่าวต่อสาธารณชนเรื่องอ้อยไฟไหม้นั้น ยอมรับว่าบางส่วนอยากตัดอ้อยได้เร็วและง่าย จำเป็นต้องเผาอ้อยบางแปลงเพื่อตัดให้ทันก่อนที่ฝนจะตกหนัก ไม่เช่นนั้นจะเสียหายและไม่สามารถส่งขายโรงงานได้ ทำให้ต้องทิ้งอ้อยทั้งแปลง แต่คิดเป็น 20-30% ของอ้อยไฟไหม้ที่เกิดขึ้น เพราะสาเหตุที่ทำให้ไฟไหม้มีมากมาย ทั้งคนเมา คนติดยา คึกคะนองเผาอ้อยเล่น คนทิ้งก้นบุหรี่ข้างทาง คนหาหนูหาแย้ จุดไฟลามเข้าไร่อ้อย ซึ่งชาวไร่ต้องจับกลุ่มรวมกันขับรถตรวจรอบแปลงไร่อ้อยเพื่อป้องกันโดนเผาอ้อยมาโดยตลอด
ทั้งนี้ในอดีต อ้อยไฟไหม้ทั้งประเทศมีราว 70% ซึ่งชาวไร่อ้อยก็พยายามลดและป้องกันการเผาอ้อยมาโดยตลอด โดยปีที่แล้ว อ้อยไฟไหม้ลดเหลือเพียง 30% และปีนี้ชาวไร่อ้อยก็ตั้งเป้าจะลดเหลือ 25% ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งปัจจุบัน ชาวไร่ให้ความร่วมมือช่วยกันตัดอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้ประจำวันเหลืออยู่ที่ 10% โดยมีค่าเฉลี่ยสะสมที่ 15% อย่างไรก็ตามไม่มีประเทศไหนในโลกที่ปลูกอ้อยทำน้ำตาลแล้วไม่มีอ้อยไฟไหม้เลย เช่น บราซิล ออสเตรเลีย และฟลอริดาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วน อ้อยไฟไหม้มากกว่าไทย และปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล สร้างรายได้ให้ประเทศปีละ 200,000 ล้านบาท ผลิตน้ำตาลขายให้กับคนไทยได้บริโภคในราคาที่ถูกที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก พร้อมอ้างอิง รายงานของกรุงเทพมหานคร พบว่าอ้อยไฟไหม้มีส่วนก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยเพียง 1% เท่านั้น มากสุด 51% คือรถยนต์รถบรรทุก โดยเฉพาะรถน้ำมันดีเซล/รองลงมา 21% มาจาก โรงงานอุตสาหกรรม
พร้อมตำหนิกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีหนังสือเมื่อช่วงปีใหม่ ว่าขอให้ชาวไร่หยุดเผาอ้อย เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์เป็นของขวัญวันเด็กให้แก่เด็กและเยาวชน โดยมองว่าเป็นการให้ข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริง ให้ร้ายชาวไร่อ้อยเกินจริง ซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทต่อชาวไร่อ้อย
ทั้งนี้ข้อมูลจากโครงการการศึกษาขายคาร์บอนเครดิตจากอ้อย พบว่าอ้อยเป็นพืชใบสีเขียวที่ปลูกระยะเวลาหนึ่งปีสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 5800 กิโลกรัมคาร์บอนต่อ 1 ไร่ และในขบวนการปลูกอ้อย ใส่ปุ๋ย ตัดอ้อยและขนส่งถึงโรงงาน มีการปล่อยก๊าซคาร์ออกไซด์ 1400 กิโลกรัมคาร์บอนต่อ 1 ไร่ ดังนั้นแล้วการปลูกอ้อยในระยะเวลาหนึ่งปี สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 4400 กิโลกรัมคาร์บอนต่อ 1 ไร่ และในกรณีอ้อยไฟไหม้ ก็จะปล่อยก๊าซทำดั้ยออกไซด์เพิ่มขึ้นอีก 3850 กิโลกรัมคาร์บอน ฉะนั้นแม้จะเป็นอ้อยไฟไหม้ก็ยังช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 550 กิโลกรัมคาร์บอนต่อ 1 ไร่ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ไร่อ้อยประมาณ 10 ล้านไร่ ก็จะสามารถดูดซับหาในออกไซด์ได้ปีละราว 40,000 ล้านกิโลกรัมคาร์บอน
พร้อมกันนี้ ชาวไร่อ้อยได้จัดเตรียมเอกสารคำชี้แจงและข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาวร่วมกันระหว่างภาครัฐและเกษตรกร เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ที่จะเกิดขึ้นในครั้งถัดไป แต่ยอมรับว่าไม่รู้จะประชุมเมื่อใด โดยตั้งข้อสังเกตว่า ตามระเบียบแล้วจะต้องประชุม เดือนละ 1 ครั้ง โดยส่งวาระการประชุมให้กับสมาชิกล่วงหน้า 5-6 วัน แต่ในปีที่ผ่านมาเรียกประชุมทั้งปีไม่เกิน 5 ครั้ง โดยครั้งหลังสุดช่วงเดือนตุลาคมมีการประชุมเกิดขึ้น เพราะชาวไร่อ้อยยื่นหนังสือขอให้จัดประชุม ในขณะที่วาระการประชุมก็ไม่ได้ส่งมอบสมาชิกล่วงหน้าแต่กลับให้ในวันประชุม ทั้งที่มีรายละเอียดเป็นร้อยหน้า และใช้เวลาประชุมนาน 6-7 ชั่วโมง และหลังจากนั้น เมื่อชาวไร่อ้อยคัดค้านผลการประชุม กลับถูกบีบว่าไม่สามารถคัดค้านได้ เนื่องจากเป็นมติของการประชุม
นอกจากนี้ ชาวไร่อ้อยยังเรียกร้องไปถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เร่งรัดอนุมัติเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย 120 บาทต่อตันอ้อย จากการขายอ้อยสด ลดเผาใบอ้อย ให้กับชาวไร่อ้อยโดยเร็วที่สุด เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการปลูกอ้อย เพื่อผลิตน้ำตาลสูงขึ้นอยู่ที่ตันละ 1360 บาท แต่กลับขายได้เพียง 1,160 บาท ทำให้ขาดทุน จากปีก่อนที่ขายได้ตันละกว่า 1,420 บาท ทำให้ชาวไร่อ้อยต้องแบกรับภาวะขาดทุน
แท็กที่เกี่ยวข้อง ชาวไร่อ้อย ,เผาไร่อ้อย ,ฝุ่นpm2.5