ข่าวโซเชียล
นักวิชาการตั้งคำถาม ทำไมช่วงฝุ่นแรงไม่ทำอะไร พอฝุ่นเริ่มหายกลับทำ
โดย passamon_a
26 ม.ค. 2568
55 views
นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ตั้งคำถาม ทำไมมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นของรัฐบาลไทย ไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ค่าฝุ่นขึ้นสูง ทั้งที่ทำนายค่าฝุ่นล่วงหน้าได้ 3 วัน พอค่าฝุ่นแรง ๆ ไม่ทำอะไร แต่พอฝุ่นเริ่มหาย กลับมีมาตรการต่าง ๆ ออกมา
ดร.ธรณ์ ธำรงนาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวชทางทะเล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ตั้งข้อสังเกตถึงมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของไทย มีใจความสำคัญ ระบุว่า
"ผมไม่มีความคิดเห็น ต่อวิธีการแก้ไขปัญหาฝุ่นที่ออกมา เพราะมี 2 มุมมอง "แต่ที่สงสัยคือช่วงเวลาที่ทำ" ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน เราพอทำนายสถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน แต่มาตรการต่าง ๆ ที่ทำ ไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาของฝุ่นที่คาดเดาได้ เราโดนฝุ่นหนัก ๆ กันมาตั้งแต่กลางสัปดาห์ก่อน แต่ไม่มีมาตรการใดชัดเจน มาถึงวันเสาร์ เราขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ต่อเนื่องไปอีกทั้งสัปดาห์ ถึงวันที่ 31 มกราคม โรงเรียนบางแห่งปิด ให้เรียนออนไลน์ในสัปดาห์หน้า
แต่ดูจากโมเดลพยากรณ์ สถานการณ์ฝุ่นจะคลี่คลายในวันจันทร์ และต่อเนื่องถึงอังคารและพุธ ที่สงสัยคือช่วงฝุ่นแรง ๆ ที่พอรู้ล่วงหน้า เราไม่ทำอะไร พอฝุ่นเริ่มหายไป เรากลับทำนี่นั่นตามกระแส หากเรารอให้ฝุ่นเยอะจนเกิดกระแส จากนั้นค่อยทำ เวลามันจะเหลื่อมกันแบบนี้เสมอ ก็ได้แต่ตั้งคำถามไว้แบบมึน ๆ เหมือนกัน "ฝุ่นมา เราตกใจ ฝุ่นหาย เราทำ""
ขณะที่ อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เช่นกัน เรียกร้องให้ กทม. ประกาศเป็น "พื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ" เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่น โดยไม่ต้องไปรอหน่วยงานอื่นอนุญาต
โพสต์ดังกล่าว อาจารย์สนธิ ได้ระบุประเด็นสำคัญไว้ 3 ข้อ ข้อแรก ขณะนี้พื้นที่ กทม. ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงอยู่ในเกณฑ์อันตรายต่อสุขภาพ ระดับสีส้มและสีแดง และมีแนวโน้มจะเกินมาตรฐานอีกหลายวัน ข้อ 2. มาตรา 28/1 วรรค 2 ตาม พรบ.การสาธารณสุข 2560 กำหนดให้ท้องถิ่น สามารถประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญได้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชุมชน จนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน และข้อ 3. เมื่อประกาศเป็นพื้นที่ ควบคุมเหตุรำคาญแล้ว จะมีอำนาจเข้าไปควบคุมและจัดการฝุ่น PM 2.5 ได้ทุกแหล่งกำเนิด หากแหล่งกำเนิดใดฝ่าฝืน มีอำนาจสั่งจำคุกไม่เกิน 3 เดือน และปรับไม่เกิน 25,000 บาท
ช่วงท้ายของโพสต์ อาจารย์สนธิได้ ทิ้งท้ายไว้ว่า "ไม่ต้องไปรอหน่วยงานอนุญาต และไม่ต้องอ้างว่าไม่มีอำนาจ"
ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาระดับนานาชาติ มีความเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ จุดความร้อน หรือ Hotspot ส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ดังนั้น ในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน จะนำเรื่องนี้เข้าประชุมด้วย
ส่วนในประเทศ ก็ยังพบการเผาไหม้อยู่ ตนจึงสั่งให้กองทัพต่าง ๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาฝุ่น เช่น กองทัพอากาศ ให้นำเครื่องบินลาดตระเวนสำรวจ กองทัพบกก็ดูแลพื้นที่ต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ ครอบคลุมทั่วประเทศ
ด้าน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคประชาชน มองว่า รัฐบาลไม่ได้จริงจังกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาตรการที่ออกมามีเพียงระยะสั้น ยังไม่เห็นมาตรการระยะยาว ซึ่งต้องใช้ทั้งการรณรงค์ การบังคับใช้กฎหมาย และการชดเชยเยียวยาด้วย
ส่วนมาตรการระยะสั้น ก็ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรี 7 วัน ใช้งบกลาง 140 ล้านบาท จะต้องทำหลาย ๆ อย่างควบคู่กัน และหากจำเป็น ต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศให้กับเด็ก ก็ต้องอนุมัติงบกลางเพิ่มอีกหนึ่งก้อน ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมานั่งตระหนี่ ถี่เหนียว นาทีนี้เป็นปัญหา ที่เข้าถึงคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกสถานะ ยากดีมีจน ก็ต้องใช้อากาศหายใจเหมือนกัน
รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/5479aPd7W6o
แท็กที่เกี่ยวข้อง มาตรการแก้ฝุ่น ,นักวิชาการตั้งคำถาม