สังคม

กรมควบคุมโรค เผยผลตรวจเชื้อ “Ennterrovirus” ผลเป็นลบ เคสเด็กหญิง 3 ขวบติดเชื้อไวรัสเสียชีวิต

โดย chutikan_o

13 ม.ค. 2568

620 views

กรมควบคุมโรค เผยผลตรวจเชื้อ “Ennterrovirus” จากอุจจาระ เคสเด็กหญิงวัย 3 ขวบติดเชื้อไวรัส ทำกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันจนเสียชีวิต ระบุ “ผลเป็นลบ” แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ใช่ไวรัสกลุ่มเดียวกัน - ส่วนวัคซีนป้องกันครอบคลุมทุกสายพันธุ์ยังไม่มี

จากกรณีที่พ่อและแม่เด็กหญิง อายุ 3 ขวบ โพสต์แชร์เรื่องราวบอกว่าลูกน้อยติดเชื้อไวรัสก่อนไปที่หัวใจ ทำกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันจนเสียชีวิต โดยหมอบอกไวรัสอยู่ในอากาศ ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ นพ.สาธารณสุขจังหวัดชุมพร ระบุว่า เป็นไวรัสชนิดมีอยู่ทั่วไป เรียกว่า “Ennterrovirus-เอนเทอโรไวรัส”

ล่าสุด พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ว่า เคสนี้ทางสถาบันบำราศนราดูรได้นำอุจจาระของเด็กหญิงวัย 3 ขวบที่เสียชีวิตนำมาตรวจโดยละเอียดเบื้องต้นพบว่า “ผลเป็นลบ” คำว่าเป็นลบ หมายความว่ายังไม่ยืนยันว่าเป็นไวรัสในกลุ่ม Ennterrovirus ซึ่งเคสนี้มีข้อจำกัด การตรวจต้องมีการส่งตรวจหลายครั้ง หรืออาจต้องตรวจส่วนอื่นร่วมด้วย คือ ตรวจเลือด ตรวจน้ำไขสันหลัง

ดังนั้น หากสรุปในตอนนี้ผลยังเป็นลบ แต่ยังไม่ได้บอกว่าไม่ใช่ไวรัสในกลุ่ม Ennterrovirus และยังคงบอกลำบากว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่ความจริงแล้วหากทางครอบครัวอยากพิสูจน์จริงๆ ต้องยอมให้ผ่าชันสูตรพลิกศพ

จากนั้น พญ.จุไร กล่าวถึง Ennterrovirus ว่า เป็นไวรัสกลุ่มใหญ่มาก หากติดเชื้อจะมีอาการตั้งแต่อ่อนๆ ไปจนถึงรุนแรงได้เลย ส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาการเหล่านี้สังเกตได้จากเมื่อเด็กมีอาการไข้ น้ำมูกน้ำลายยืด และไม่ค่อยกินอาหาร ครบทั้งมีตุ่มขาวๆ แดงๆ ขึ้นในลำคอ บางครั้งขึ้นบนมือ บนเท้า ขณะเดียวกันไวรัสในกลุ่มนี้สามารถแพร่เชื้อได้

ทั้งนี้ หากติดเชื้อ “มือ เท้า ปาก” ควรหยุดพักอย่างน้อย 7 วัน และหากพบว่าในโรงเรียนติดเชื้อตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ควรปิดห้องเรียนเพื่อทำความสะอาดพื้นผิว เนื่องจากว่าเชื้อในกลุ่มนี้มีเป็นร้อยๆ เชื้อ และเชื้อสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน

พญ.จุไร กล่าวต่อว่า Ennterrovirus นี้ มีบางกลุ่มที่ไม่มีอาการออกตุ่ม แต่มาด้วยอาการไข้ ซึม และอาเจียน ซึ่งกรณีแบบนี้เสียชีวิตได้เร็ว ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่เรากังวล

ขณะเดียวกันประเทศไทยเรามีระบบเฝ้าระวัง ซึ่งเราพบเชื้อครึ่งหนึ่งที่เจอ ส่วนใหญ่ เป็นไวรัส coxsackievirus A (คอกซากีไวรัสเอ) ประมาณ 60-70% รองลงมาคือ enterovirus 71 (เอนเทอโรไวรัส 71) ประมาณ 10-20% ซึ่งกลุ่มนี้มีวัคซีน คำถามตอบมาคือวัคซีน enterovirus 71 สามารถป้องกันได้หรือไม่ คำตอบคือ ป้องกันได้เฉพาะการติดเชื้อ  enterovirus 71  ซึ่งไม่ได้ป้องกันในส่วนของ coxsackievirus A

ดังนั้น หากได้รับวัคซีน enterovirus 71  ก็ตาม แต่ถือได้ว่ายังมีโอกาสเป็นโรคมือเท้าปาก และข้อมูลในประเทศไทยเอง เคสที่เสียชีวิตไม่ได้มีแค่ enterovirus 71 เท่านั้น แต่จะมี coxsackievirus A ด้วย เพราะฉะนั้นจึงอยากบอกว่าวัคซีนอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เราต้องมีมาตรการอย่างอื่นร่วมด้วย ซึ่งหลักใหญ่ของการแพร่เชื้อในกลุ่มของโรคมือเท้าปากและกลุ่มนี้คือ “การกินเชื้อเข้าไป” เช่นในเด็กเล็กอาจไม่ได้ล้างมือบ่อย บางครั้งเล่น กิน แล้วดูดนิ้ว เด็กเล็กการล้างมือเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งแอลกอฮอล์เจลไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ จากนั้น ค่อยตามด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของคลอลีน

อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องการกินอาหารและน้ำ ต้องปรุงสุกขวดน้ำขวดนมต้องต้มให้สะอาด เนื่องจากว่าไวรัสตัวนี้ผู้เสียชีวิตจะพบในเด็กเล็กแทบทั้งนั้น นี่คือสิ่งที่เราสามารถป้องกันได้นอกเหนือจากวัคซีน

พญ.จุไร กล่าวต่อว่า สำหรับวัคซีน enterovirus 71 ที่มีอยู่ ไม่ใช่วัคซีนหลักแต่เป็นวัคซีนทางเลือกซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งวัคซีนนี้ถือได้ว่าค่อนข้างปลอดภัยและจะฉีดกับเด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่แนะนำให้ฉีดในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ฉีด 2 เข็ม สำหรับ ประสิทธิภาพหากพูดถึงเรื่องการป้องกันถือว่ามีประสิทธิภาพที่ดีมาก ป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรงได้ 97% จากการศึกษาวิจัย ซึ่งวัคซีนนี้ขึ้นทะเบียนแล้วสามารถฉีดได้ แต่อย่างที่เรียนให้ทราบว่าจะสามารถป้องกันได้เฉพาะไวรัสกลุ่มนี้จริงๆ ซึ่งบ้านเรา 60-70% เป็นไวรัสกลุ่มอื่นหรือสายพันธุ์อื่น

ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวยังเข้าไม่มีโปรแกรมฟรีในประเทศ เป็นโปรแกรมหลัก เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งเราต้องดูและพิจารณาเช่นวัคซีนที่เข้ามาใหม่ๆ คือ วัคซีนป้องกันปอดบวม วัคซีน PCV หรือป้องกันเลือดออก และหากถามว่าวัคซีนดังกล่าวนี้อยู่ในสิ่งที่เราต้องพิจารณาหรือไม่ยืนยันได้ว่าต้องพิจารณา

ส่วนในอนาคตจะมีวัคซีนป้องกัน enterovirus แบบครอบคลุมหรือไม่นั้น พญ.จุไร ระบุว่า อาจต้องมีการพัฒนาและติดตามข้อมูลต่อไป แต่อาจจะยากเล็กน้อย ตามที่เรียนไปเพราะว่า enterovirus มีสายพันธุ์ย่อย ถ้าเปรียบเทียบคือมันไม่เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ที่มีไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หรือ B ซึ่งเป็นไปได้ในมุมการพัฒนาวัคซีนแต่หากเป็นวัคซีนที่ป้องกันโดยตรงเลย ณ ตอนนี้ ยังเป็นไปได้ยาก และหากถามอีกว่ามียาฆ่าเชื้อไวรัสหรือไม่ ความจริงแล้วเหมือนจะมียาที่ป้องกันได้ แต่ยังไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่นำมาขายเป็นการค้า เพราะฉะนั้น การรักษามือเท้าปากตอนนี้ ยังรักษาแบบประคับประคองเป็นหลัก

ขณะเดียวกันหากติดเชื้อ enterovirus ยังต้องระวัง ในเรื่องของภาวะแทรกซ้อนด้วย ทั้งระวังเข้าระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด หรือทำให้ปอดอักเสบ เพราะฉะนั้นมันบอกยากจริงๆ เพราะเราไม่ได้พิสูจน์ทุกรายว่าเกิดจาก enterovirus กลุ่มไหน



คุณอาจสนใจ

Related News