สังคม

'ปานเทพ' งัดหลักฐาน วิธี 'ทนายตั้ม' โกงเงินเจ๊อ้อย - กกต.ลุยสอบ ขาดคุณสมบัติสมัคร สว.

โดย passamon_a

14 พ.ย. 2567

192 views

นุ-สา คนสนิททนายตั้ม นอนคุก ไร้ญาติยื่นประกัน คดีโกงเงินเจ๊อ้อย 39 ล้าน - ปานเทพ งัดหลักฐาน เปิดโปงวิธีทนายตั้มโกงเงินเจ๊อ้อย - กกต.สมุทรสาคร เข้าเรือนจำ สอบปมขาดคุณสมบัติสมัคร สว.


ความคืบหน้ากรณี นายนุวัฒน์ ยงยุทธ หรือ นุ และนางสาวสารินี นุชนาถ หรือ สา คนสนิทของ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ถูกจับกุมในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ร่วมกันนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ร่วมกันฟอกเงิน ในคดีเงิน 39 ล้าน ของ นางสาวจตุพร อุบลเลิศ หรือ เจ๊อ้อย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา และถูกคุมตัวสอบปากคำเครียด ที่กองบังคับการปราบปราม นานเกือบ 17 ชั่วโมง ก่อนที่ช่วง 23.00 น. (12 พ.ย.67) เจ้าหน้าที่จะคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ลงมาคุมขังที่ห้องควบคุม ชั้น 1 ตึกกองบังคับการปราบปราม  


เมื่อวันที่ 13 พ.ย.67 เวลา 10.30 น. พนักงานสอบสวนคุมตัวนายนุและนางสาวสา ไปฝากขังที่ศาลอาญา พร้อมกับคัดค้านการประกันตัว โดยระหว่างที่ควบคุมตัวมาขึ้นรถ นายนุสวมใส่หน้ากากอนามัย มีสีหน้าเรียบเฉย และยกมือไหว้สื่อมวลชนทั้งด้านซ้ายและด้านขวาหลายครั้ง แต่เมื่อนักข่าวพยายามถามเกี่ยวกับเรื่องเงิน 39 ล้าน นายนุไม่ได้ตอบคำถามใด ๆ แล้วขึ้นรถไปทันที ส่วนนางสาวสาสวมหน้ากากอนามัย ใส่หมวกปิดบังใบหน้ามิดชิด และไม่ได้ตอบคำถามอะไรเช่นกัน


โดยก่อนที่จะนำตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนไปฝากขัง ทีมข่าวพบว่า มีชายหญิง 2 คน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นญาติ เดินทางเข้าเยี่ยมทั้ง 2 คน โดยนำข้าวของเสื้อผ้ามาให้ แต่ปฏิเสธที่จะพูดคุยกับนักข่าว และเดินกลับออกไปทันที


ด้าน พลตำรวจตรีสุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ ผู้ต้องหาทั้งสองคนยังคงให้การปฏิเสธ และไม่ได้ให้การเป็นประโยชน์ โดยรายละเอียดในสำนวนการสอบสวน ตำรวจขอสงวนไว้ ไม่สามารถเปิดเผย โดยตลอดการสอบปากคำของผู้ต้องหา มีทนายความของผู้ต้องหาร่วมรับฟังด้วย


ส่วนทนายตั้ม ซึ่งตำรวจมีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาทั้งสองคนในเรื่องนี้ อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย ซึ่งตำรวจจะยังไม่ไปพบทนายตั้มเพื่อแจ้งข้อหา ส่วนจะมีใครร่วมกระทำผิดอีกหรือไม่ อยู่ระหว่างการสืบสวน แต่หากหลักฐานพาดพิงไปถึงใครก็จะดำเนินคดีโดยไม่มีการละเว้น


ขณะที่เมื่อช่วงสาย วันที่ 13 พ.ย.67 นายนิติพัฒน์ ชูกล้ากสิกรณ์ ประธานคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน กกต.จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ กกต.จังหวัดสมุทรสาคร เดินทางเข้ามาสอบปากคำทนายตั้ม ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กรณีมีผู้ร้องเรียนว่าขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา กลุ่ม 17 เนื่องจากทำงานภาคประชาสังคมไม่ถึง 10 ปี  


นายนิติพัฒน์ ระบุว่า ช่วงประมาณเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีผู้ร้องเรียนทนายตั้มในช่วงสมัคร สว. เรื่องคุณสมบัติการสมัคร สว. ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว แม้ในช่วงการรับสมัครรับเลือกตั้ง สว. จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว แต่เป็นการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น ทั้งนี้เมื่อมีผู้ร้องคัดค้าน ก็จะต้องมาตรวจสอบโดยละเอียด ซึ่งเมื่อ กกต.จังหวัดสมุทรสาคร รับเรื่องจาก กกต.กลาง ก็มาดำเนินกระบวนการสอบสวนทันที โดยมีระยะเวลาทำงาน 20 วัน แต่ทนายตั้มขอเลื่อนชี้แจง และขอขยายระยะเวลาการเข้าขี้แจงข้อมูล 2 รอบ รอบละ 15 วัน รวมเป็นเวลา 30 วัน และนัดหมายจะให้ข้อมูลวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ แต่เนื่องจากกรอบระยะเวลามีถึงแค่วันที่ 25 พฤศจิกายน จึงทำให้ต้องมาดำเนินการสอบปากคำทนายตั้มวานนี้ ซึ่งหากมีการสอบปากคำแล้ว ก็จะส่งให้ กกต.กลาง วินิจฉัยต่อไป


ทั้งนี้ หากผลการตรวจสอบพบว่า ทนายตั้มขาดคุณสมบัติ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 74 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี และการเป็น สว.ตัวสำรอง ก็จะหลุดไปโดยปริยาย และจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาด้วย  


ขณะที่ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยในรายการโหนกระแส ทางช่อง 3 ว่า ในคดี 71 ล้านบาทนั้น ทางฝ่ายทนายตั้มอ้างว่า เป็นเงินที่พี่อ้อยโอนให้มาโดยเสน่หา แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นอ้างว่าเป็นเงินกู้ยืมเพื่อการลงทุน เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นให้เป็นคดีแพ่ง ซึ่งในรายการวานนี้ นายปานเทพ ได้เปิดเผยหลักฐานว่า ไม่ใช่การให้โดยเสน่หา หรือการให้ยืมเพื่อการลงทุน อย่างแน่นอน


ทั้งนี้ ทางฝ่ายทนายตั้มได้อ้างว่า มีแชทเป็นหลักฐานว่า พี่อ้อยได้ให้เงินทนายตั้มมาลงทุน แต่นายปานเทพได้โต้แย้งว่า ในความเป็นจริงแชทดังกล่าวเป็นการพูดคุยระหว่างทนายตั้มกับพี่น้อย ซึ่งเป็นเลขาฯของพี่อ้อย โดยทนายตั้มได้ร้องขอให้พี่น้อย ไปเจรจากับพี่อ้อยอีกขั้นหนึ่ง แสดงว่าพี่อ้อยยังไม่เห็นด้วย


นายปานเทพ กล่าวอีกว่า แชทดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28, 29 และ 30 มกราคม 2566 แต่หลังจากนั้น พี่อ้อยได้ตกลงตามนั้นหรือไม่ และหากเป็นการให้กู้ยืมตามที่อ้าง ทนายตั้มในฐานะเป็นทนายความที่รู้กฎหมาย จะต้องทำสัญญากู้ยืมให้ชัดเจน แต่กลับไม่ทำสัญญากู้ แสดงว่าไม่ใช่การกู้ยืม รวมทั้งถ้าบอกว่าเป็นการลงทุน ก็ต้องมีหลักฐานการจดทะเบียนหุ้นส่วน โดยที่อ้างว่าเป็นการลงทุนนั้น ตามแชทระบุว่า จะลงทุนทำแอปพลิเคชั่นหวยออนไลน์ โดยทนายตั้มอวดอ้างว่าตนเองมีเส้นสายรับทำสัมปทานหวยออนไลน์ได้


นายปานเทพ กล่าวอีกว่า หลังจากมีแชทดังกล่าวแล้ว พี่อ้อยได้เดินทางจากฝรั่งเศสมาไทย ช่วงวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเซ็นสัญญากับบริษัททำแอปพลิเคชั่นหวยออนไลน์ โดยในรายการ นายปานเทพได้เปิดเผยสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบริษัททำแอปพลิเคชั่น กับพี่อ้อย ในฐานะผู้ว่าจ้าง ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 แต่เซ็นจริงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งแสดงว่าทรัพย์สินนี้เป็นของพี่อ้อย ไม่ใช่ของทนายตั้ม และเงินลงทุนก็เป็นของพี่อ้อย ไม่ใช่ของทนายตั้ม ดังนั้นที่บอกว่าเป็นการให้ทนายตั้มกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนจึงเป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น


นายปานเทพ ย้ำว่า ข้อสำคัญสัญญานี้ ทำการปรับปรุงแก้ไขโดยสำนักงานทนายความษิทรา ลอว์เฟิร์ม ของทนายตั้มเอง รวมทั้งตามสัญญาดังกล่าวระบุด้วยว่า พี่อ้อย ตกลงว่าจ้างในราคา 2 ล้านยูโร ตรงตามจำนวนเงินที่โอนให้ทนายตั้ม และไม่ใช่สัญญาที่ทำให้มาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการโอนเงินจากต่างประเทศตามที่ฝ่ายทนายตั้มอ้าง เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินของพี่อ้อยเอง สามารถโอนเงินมาประเทศไทยโดยไม่ต้องเสียภาษีได้ จ่ายเพียงแค่ค่าธรรมเนียม ที่ผ่านมา พี่อ้อยก็เคยโอนเงินมาไทยหลายครั้งโดยไม่ต้องเสียภาษี บางครั้งโอนถึง 3 ล้านยูโร


ทั้งนี้ พี่อ้อยโอนเงิน 2 ล้านยูโร ให้ทนายตั้ม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เพราะทนายตั้มอ้างว่าเขาจะเป็นคนดำเนินการ เป็นคนติดต่อบริษัททำแอปฯ และติดต่อพี่อ้อย โดยไม่ให้ทั้งสองฝ่ายมาเจอกันโดยตรง ซึ่งฝ่ายพี่อ้อยหลงเชื่อว่าจะมีการเดินหน้าทำสลากออนไลน์ จึงโอนเงินให้


“กรณีแบบนี้จะเรียกว่าเป็นการกู้ยืมเงินได้หรือเปล่า ถือว่าเป็นให้โดยเสน่หาได้หรือไม่ หรือจะเรียกว่าล่อลวงตั้งแต่แรก เพื่อให้ได้ทรัพย์มาเป็นของตัวเอง เพราะอ้างในไลน์ตลอดว่าทำสลากออนไลน์ แต่ได้เงินมาเสร็จ หลังจากนั้นถอนเงินไปซื้อบ้าน ด้วยเงินสด แล้วมันจะสลากออนไลน์ตรงไหน ลงทุนตรงไหน แสดงว่าเรื่องเหล่านี้เป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกพี่อ้อย”


นายปานเทพ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นเมื่อบริษัทำแอปฯ ไม่ได้เงิน ก็มีการทวงถาม ทนายตั้มก็บอกว่า พี่อ้อยยกเลิกสัญญาแล้ว  ซึ่งในความเป็นจริง พี่อ้อยยังไม่ได้ยกเลิก แต่เมื่อบริษัทไม่รู้ว่ามีการจ่ายเงินมาแล้ว ก็เลยยุติสัญญา นี่คือที่มาที่ไปว่าทำไมถึงไม่ได้ทำหวยออนไลน์


นายปานเทพ เปิดเผยอีกว่า หลังจากทนายตั้มได้เงินก้อนนี้แล้ว วันที่ 22 มีนาคม 2566 ก็เอาเงินก้อนนี้ไปซื้อบ้านราคา 43 ล้านบาท ที่ขณะนี้ถูกอายัดแล้ว โดยเปลี่ยนสัญญาจากการซื้อผ่อนเป็นการซื้อด้วยเงินสด หลังจากได้เงินจากพี่อ้อยมา ซึ่งถ้าทำกันถึงขนาดนี้จะถือว่าเป็นการให้เงินมาลงทุนหรือให้โดยเสน่หาได้หรือไม่


นายปานเทพ กล่าวว่า หลังจากทนายตั้มได้รับเงินไปแล้ว จนใกล้ปลายปี 2566 ทนายตั้มก็เริ่มคิดเรื่องภาษีจากเงิน 71 ล้านบาท จึงเจรจากับบริษัทผู้ผลิตแอปฯว่า ขอเอาเงินผ่านเงินสัก 70 ล้านบาทได้ไหม แต่ไม่มีความคืบหน้า จนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ใกล้ถึงรอบวงจ่ายภาษี ทนายตั้มเสนอว่าจะเอาเงินผ่านโดยไม่บอกว่าเป็นสัญญาเดิม แบ่งเป็น 3 ครั้ง ครั้งที่หนึ่ง 30 ล้านบาท ครั้งที่สอง 30 ล้านบาท และครั้งที่สาม 11 ล้านบาท และจะให้ค่าตอบแทน 10 ล้านบาท บริษัทผู้ผลิตแอปฯ เห็นว่ายอดใกล้ 71 ล้านบาท สงสัยจะฟอกเงิน จึงปฎิเสธไป ซึ่งมีหลักฐานเป็นบทสนทนา


นอกจากนั้น ทนายตั้มได้พยายามหาทางออกให้ตัวเอง ด้วยการอ้างว่า ตนเองได้ว่าจ้างให้อีกบริษัททำแพลตฟอร์มหวยออนไลน์อีกตัวชื่อนาคี เหมือนกับแอปฯของบริษัทเดิม แต่มีโลโก้สีเขียว และบอกให้บริษัทนี้ส่งแอปฯนาคีสีเขียวให้พี่อ้อย แต่บริษัทปฏิเสธเพราะเป็นแอปฯของบริษัทอื่น ถ้าส่งให้พี่อ้อยก็เท่ากับหลอกพี่อ้อย จึงไม่ทำตาม


ส่วนกรณีฝ่ายทนายตั้มพยายามอ้างว่า นางปทิตตา เบี้ยบังเกิด ภรรยาของทนายตั้ม ไม่รู้เรื่องของเงิน 71 ล้านบาท เป็นแค่คนรับเงินมาซื้อบ้าน ไม่รู้ที่ไปที่มา เพื่อที่จะยื่นขอประกันตัวนั้น นายปานเทพ กล่าวว่า ไม่จริง เพราะตำรวจรู้แล้วว่ามีข้อมูลการใช้โทรศัพท์ และแชทไลน์ทั้งหมด นางปทิตตาอยู่ในคณะทำงานเรื่องหวยออนไลน์และรับทราบโดยตลอด


นอกจากนี้ นายปานเทพ ยังเปิดเผยถึงกรณีการว่าจ้างออกแบบทำโรงแรม 9 ล้านบาท ซึ่งทนายตั้มรับเงินจากพี่อ้อยไป 9 ล้านบาท แต่มีการเปลี่ยนบริษัทออกแบบเป็นบริษัทอื่น ซึ่งคิดราคา 3.5 ล้านบาท และทนายตั้มก็เอาเงินส่วนต่างนั้นไว้กับตัวเอง


ส่วนกรณีซื้อรถเบนซ์ G400d ทางทนายตั้มได้ให้บริษัทผู้จำหน่ายออกใบเสร็จให้ 2 ใบ โดยใบเสร็จที่จ่ายจริงระบุราคา 11.4 ล้านบาท และให้ออกใบเสร็จอีกใบราคา 12.9 ล้านบาท เอาไปหลอกพี่อ้อย โอนเงินให้ เพื่อกินส่วนต่างไป 1.5 ล้านบาท ซึ่งวิธีการเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการให้ค่านายหน้าอย่างแน่นอน


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/nb8XY6RzQtc

คุณอาจสนใจ

Related News