สังคม

สอบสวนกลาง ส่งตัวพ่อมดการเงิน “ราเกซ” ให้ตม. เตรียมผลักดันออกนอกประเทศ

โดย paranee_s

10 ก.ย. 2567

387 views

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เจ้าหน้าที่ชุดรับตัว นำโดย ว่าที่ พ.ต.ต.พิชญากร แตงรอด สว.กก.5 บก.ปอศ. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ปอศ. ร่วมกันรับตัว นายราเกซ อายุ 72 ปี ผู้ต้องขัง คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 4138/2559 ความผิดฐานพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แขวงคันนายาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ


หลังจากเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 นายราเกซ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 9 กันยายน 2567


ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อไปรับตัวนายราเกซ ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่เนื่องจากนายราเกซ มีโรคประจำตัว คือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถเดินได้ และมีอายุมาก มีความเสี่ยงต้องอยู่ในความดูแลของผู้มีความรู้


ทางการแพทย์ ทางญาติและโรงพยาบาลจึงแนะนำให้ทางเจ้าหน้าที่ ประสานขอรถที่มีเครื่องมือทางการแพทย์ในการเคลื่อนย้ายตัวนายราเกซ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ประสานรถมูลนิธิและทำการเคลื่อนย้ายตัว โดยได้นำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจเพื่อตรวจร่างกาย ว่ามีความพร้อมในการเดินทางหรือไม่


โดยผลการตรวจร่างกาย แพทย์มีความเห็นว่า สามารถเดินทางได้ และไม่ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงได้ส่งตัวให้ยังกองกำกับการ 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (บก.สส.สตม.) เพื่อดำเนินการผลักดันออกนอกประเทศตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ต่อไป


โดยนายราเกซ ถูกจับกุม เนื่องจากเมื่อระหว่างปี 2537-2539 ขณะนายราเกซ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ (บีบีซี) โดยกระทำการทุจริตปล่อยวงเงินสินเชื่อเกินบัญชีกว่า 30 ล้านบาท กับเอกชน ร่วม 10 แห่ง โดยไม่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการสินเชื่อ หรือคณะกรรมการบริหารธนาคารบีบีซีก่อน และได้ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ขอกู้ โดยไม่มีหลักประกัน ตลอดจนไม่วิเคราะห์ฐานะของลูกหนี้ และความสามารถในการจ่ายหนี้คืน อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นเหตุให้ธนาคารบีบีซี ได้รับความเสียหาย ร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ดำเนินคดีกับนายราเกซ ในความผิดฐานพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ จนนำไปสู่การออกหมายจับ



หลังเกิดเหตุนายราเกซหลบหนีไปยังประเทศแคนาดาเป็นเวลา 13 ปี ต่อมาถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไทย ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาเมื่อปี 2555 จำคุกนายราเกซ 10 ปี และต่อสู้คดีเรื่อยมา กระทั่งคดีถึงที่สุด ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 335 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุก 20 ปี และสั่งคืนเงินผู้เสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท

คุณอาจสนใจ

Related News