เลือกตั้งและการเมือง

'ทักษิณ' ได้รับพระราชทานอภัยโทษ มีผลทันที 'ทวี' ยัน ไม่ใช่สิทธิพิเศษ

โดย panwilai_c

17 ส.ค. 2567

59 views

ข่าวดีสำหรับญาติผู้ต้องขังกว่า 31,000 รายทั่วประเทศ ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม โดยหนึ่งในนั้น คือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะพ้นโทษก่อนครบกำหนดเดิมคือ 31 สิงหาคมเป็นวันนี้ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ชี้แจงว่าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ตัวนายทักษิณ เพียงคนเดียว แต่จะมีผู้ต้องราชทัณฑ์ที่เข้าเงื่อนไขเดียวกันรวม 31,000 คน เช่นผู้เหลือโทษไม่ถึงปี และเป็นผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ



ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาส แก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้



มาตรา1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2567



ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป

/ ผู้ต้องกักขัง/ ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ/ ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ



กรณีผู้ต้องกักขังตาม (1 ) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด และยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รัพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป ในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี



มาตรา 7 นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป

1. ผู้ต้องโทษจำคุก ไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ



2. ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้



เป็นคนพิการโดยตาบอดทั้งสองข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้งสองข้าง หรือเป็นบุคคลซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นคนทุพลภาพมีลักษณะอันเห็นได้ชัด



เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคอัมพาต โรคสมองเสื่อม โรคสมองพิการ โรคจิต โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังขั้นรุนแรง โรคตับวายเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) โรคโลหิตจางจากไขกระดูกไม่สร้างเม็ดโลหิต หรือโรคเรื้อน หรือเป็นคนเจ็บป่วยซึ่งมีภาวะติดเตียงหรือมีโรคที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่จำเป็นต้องรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางราชการได้ทำการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้



และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ



เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายหรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)ระยะสุดท้าย ซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นระยะสุดท้ายและไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้



เป็นคนเจ็บป่วยซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ที่จำเป็นต้องรักษาพยาบาลอยู่ในสถานพยาบาลของเรือนจำหรือสถานพยาบาลภายนอกเรือนจำอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าหนึ่งปีในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้



เป็นหญิงซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดีต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ



ขณะที่ในมาตรา 18 ระบุว่านักโทษเด็ดขาดซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว และนักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ และจะพ้นโทษในคราวเดียวกันตามพระราชกฤษฎีกานี้ จะต้องผ่านหรือเคยผ่านการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตามที่กรมราชทัณฑ์หรือกระทรวงกลาโหมกำหนด เว้นแต่โดยสภาพร่างกายหรือจิตใจไม่เป็นปกติจนไม่อาจรับการอบรมได้



อย่างไรก็ตาม พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป



ทางด้านพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม เปิดเผยว่า นายทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างการพักการลงโทษนั้น ถือเป็น 1 ในจำนวนผู้ที่ได้รับการอภัยโทษด้วย โดยเป็นการปล่อยตัวพ้นโทษทันที เป็นผู้บริสุทธิ์เเล้ว ส่วนเรื่องใบบริสุทธิ์ที่จะต้องมอบให้แก่ผู้พ้นโทษจะเป็นกระบวนการของกรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติที่จะต้องประสานงานกัน



ทั้งนี้การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะนายทักษิณเท่านั้น แต่เป็นเพื่อผู้ต้องขังทุกรายที่ผ่านเกณฑ์พิจารณา โดยมีสิทธิประโยชน์ต่อผู้ต้องขัง ทั้งการลดโทษ และการพ้นโทษ ซึ่งก็ต้องไปดูประเภทของผู้ต้องราชทัณฑ์รายนั้น ๆ เช่น หากเป็นผู้กักขังแทนค่าปรับ ก็ให้ปล่อยตัวพ้นโทษไป เป็นต้น ทั้งนี้ จำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์เบื้องต้นมีประมาณ 31,000 รายที่ได้รับประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาครั้งนี้ แต่ไม่ได้พ้นโทษทุกราย ส่วนรายละเอียดภาพรวมทั้งหมดทางกรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้ชี้แจงต่อสาธารณะ



ปรากฎว่ามีรายงาน วันนี้บรรยากาศที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เงียบไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆต่างจากเมื่อ2 วันที่ผ่านมาที่บรรดาแกนนำและหัวหน้าพรรคการเมืองเดินทางไปร่วมหารือเพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต่อจากนายเศรษฐา ทวีสิน



ส่วนพิธีรับสนองพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ในวันพรุ่งนี้ที่อาคาร วอยซ์ สเปซ ซึ่งจะเป็นที่ทำการใหม่ของพรรคเพื่อไทย​

คุณอาจสนใจ

Related News