สังคม

แพทยสภาสั่งสอบ ‘หมอเกศ’ อ้างเชี่ยวชาญความงาม - ‘ทนายเดชา’ แจ้ง สว.สาวปิดวาจา งดสัมภาษณ์

โดย petchpawee_k

19 ก.ค. 2567

488 views

แพทยสภาตั้งข้อกล่าวโทษ “สว.หมอเกศ” หลังมีคนร้องเรียน ผิด พ.ร.บ.วิชาชีพหรือไม่ ปมกรอกประวัติสมัคร สว. ระบุเป็น “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและความงาม” ยัน ไม่มีการรับรองคุณวุฒินี้ เผยอยู่ระหว่างตั้ง คกก.พิสูจน์ข้อเท็จจริง จ่อเรียกเจ้าตัวเข้าชี้แจง  โทษสูงสุดถึงขั้นพักใบประกอบวิชาชีพ - ด้านทนายเดชา โพสต์แจ้ง หมอเกศปิดวาจา ไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ ทั้งสิ้นอีกต่อไป

จากกรณีมีรายงานว่า พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย  สว.กลุ่ม 19 ที่ถูกร้องเรียนไปยังแพทยสภา เรื่องการกรอกประวัติระบุว่าเป็น “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและความงาม” เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการรับรองเรื่องนี้  ที่ประชุมแพทยสภา จึงมีมติตั้งข้อกล่าวโทษตามมาตรา 32 วรรคสาม พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มอบหมายให้เลขาธิการแพทยสภา ดำเนินการตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยวิธีพิจารณาจริยธรรมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม. พ.ศ. 2563 โดยจากนี้จะมีการนำเข้าที่ประชุมกรรมการแพทยสภาอีกครั้งในวันที่ 8 ส.ค.นี้ ตามรอบการประชุมกรรมการแพทยสภาทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือน ซึ่งตามขั้นตอนแล้ว หากมีมติรับรองก็จะส่งเข้าที่ประชุมอนุกรรมการจริยธรรมเพื่อพิจารณาต่อไป


วานนี้ (18 ก.ค.67) รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยกับทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้  ว่า คณะกรรมการแพทยสภานำประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาจริง เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบ ว่าผิด พ.ร.บ.วิชาชีพหรือไม่ กรณีที่ สว.หมอเกศ กรอกประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ในการทำงานระบุว่า เป็น “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและความงาม” ซึ่งในระบบของแพทยสภา และตามกฎหมายวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ไม่มีการรับรองไว้ และ ไม่อนุญาตให้โฆษณาในสิ่งที่แพทยสภาไม่ได้รับรอง


ขั้นตอนหลังจากนี้ ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล  ส่วนจะเรียกมาวันไหน ยังไม่กำหนด โดยกระบวนการจะเริ่มจากการสืบหาข้อเท็จจริงก่อนว่าผิดหรือไม่ ทั้งเอกสารที่นำมาร้องแพทยสภาเป็นจริงหรือไม่ และต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง   ซึ่งในระหว่างที่กระบวนการตรวจสอบทางจริยธรรมยังไม่เป็นที่สิ้นสุด ก็ยังคงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่  แต่หากพบว่าผิดจริยธรรมจริง จะกำหนดบทลงโทษ  มีตั้งแต่การว่ากล่าวตักเตือนภาคทัณฑ์ และถึงขั้นพักใช้ใบอนุญาต  


นพ.เมธี ยอมรับว่า เรื่องวุฒิทางการแพทย์มีปัญหาพอสมควร และแพทยสภาตระหนักเรื่องนี้ดี  ซึ่งมีกฎหมายแพทยสภา มาตรา 28  ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้คำหรือข้อความที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่าง ๆ เว้นแต่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขานั้น ๆ จากแพทยสภา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเสริมความงาม ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าหลักสูตรเหล่านี้ได้รับการอบรมหรือรับรองโดยแพทยสภา   


ดังนั้น แพทย์ควรโฆษณาเฉพาะคุณวุฒิที่แพทยสภารับรอง เช่น หากจบปริญญาตรีแพทย์ศาสตร์ หรือได้รับวุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังหรือศัลยกรรมตกแต่ง แบบนี้สามารถโฆษณาได้ เพราะเป็นคุณวุฒิแพทยสภารับรอง  ผ่านการอบรมหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภาและใช้เวลาหลายปี   รวมทั้งมีการทดสอบความรู้ความสามารถจริง ก่อนจะออกใบประกอบวิชาชีพ   แต่หากเป็นการอบรมกันเอง หรือไปต่างประเทศ เข้าคอร์สออนไลน์ที่ไม่อยู่ในระบบที่แพทยสภารับรอง ไม่ควรนำมาโฆษณาชักจูงผู้ใช้บริการ  


เมื่อถามว่า ตามหลักการทั่วไปหากมีการโฆษณาคุณวุฒิที่แพทยสภาไม่รับรอง  จะถึงขั้นเข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่  นพ.เมธี ระบุว่า เรื่องหลอกลวงหรือเข้าข่ายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมติเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการแพทยสภา  โดยหลักต้องดูเจตนาเป็นสำคัญ  เพราะบางเคสแพทย์อาจไม่ทราบข้อบังคับหรือกฎหมายนี้


เมื่อถามถึงคุณวุฒิ “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและความงาม” เหตุใดแพทยสภาไทยถึงไม่รับรอง นพ.เมธี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นหลักพื้นฐานของทุกวิชาชีพ ต่างประเทศก็เช่นกัน การที่แพทย์ไปหาความรู้เป็นเรื่องที่ดี   เพียงแต่การหาความรู้ การรักษาทางการแพทย์ มันเกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วย เพราะฉะนั้น หลักสูตรที่แพทย์จะไปหาความรู้  แม้กระทั่งวิทยากร ผู้สอน รวมทั้งสถาบันฝึกอมรบ  จะต้องได้รับการรับรองจากแพทยสภา  และต้องประเมินอีกว่า หลังจากฝึกอบรมแล้วมีความรู้จริงที่จะไปกระทำต่อร่างกายผู้ป่วยได้หรือไม่  เหตุผลคือเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย


นพ.เมธี ย้ำว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องวุฒิการศึกษาของ สว.หมอเกศ  แต่เป็นเฉพาะกรณีที่มีคนร้องเรียนเกี่ยวกับคุณวุฒิที่ระบุว่า “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและความงาม” เท่านั้น  ซึ่งคำนี้ ตำแหน่งนี้ ไม่มีอยู่ในคุณวุฒิที่แพทยสภารับรอง ตามมาตรา 28 ส่วนที่ สว.หมอเกศ กรอกในประวัติว่า “แพทย์เวชศาสตร์ป้องกันแขนงสุขภาพจิตชุมชน” เท่าที่ตนทราบเป็นหลักสูตรของกระทรวงสาธารณสุข  หากเรียนหรือผ่านการฝึกอบรมโดยกระทรวงสาธารณสุขจริง ก็น่าจะใช้ได้ไม่มีปัญหา


ด้าน พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “94 ความเชี่ยวชาญแพทย์ไทย และการแอบอ้างความเชี่ยวชาญ  แพทยสภาชวนมารู้จักความเชี่ยวชาญของแพทย์ไทย ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้ครับ”


1.แพทยสภาเป็นผู้กำกับดูแล หลักสูตรความเชี่ยวชาญของแพทย์ไทยด้านต่างๆ ผ่านราชวิทยาลัยแพทย์และวิทยาลัยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ทั้ง 15 แห่ง และ 1 สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันฯ เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน โดยมีคณะแพทยศาสตร์และสถาบันฝึกอบรมต่างๆเป็นผู้ จัดการเรียนการสอน ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน


2. แพทยศาสตร์บัณฑิต ที่จบการศึกษา 6 ปี  ถือว่าเป็นแพทย์ทั่วไป ยังไม่มีความเชี่ยวชาญใดๆ ต้องเข้าโปรแกรมการฝึกอบรมต่อ แพทย์ประจำบ้าน อีก 3 ถึง 7 ปี จึงเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามกฎหมาย โดยต้องสอบผ่าน ได้รับหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรก่อน ถึงจะใช้คำว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ โดยสามารถตรวจสอบ ชื่อและความเชี่ยวชาญ ของแพทย์แต่ละท่าน ได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา www.tmc.or.th หัวข้อตรวจสอบแพทย์


3.ปัจจุบันมีความเชี่ยวชาญ ที่ได้รับวุฒิบัตรและหนังสืออนุมัติ ตามกฎหมาย 94 สาขา(2567) เป็นสาขาหลัก 41 สาขาและอนุสาขา 53 สาขา ภายใต้อนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ ของราชวิทยาลัยและสมาคม (ตามเอกสารแนบ) โดยมีระยะเวลาการ อบรม ตั้งแต่ 3-5 ปี ในสาขาหลัก(สีฟ้า) และเรียนต่ออนุสาขา เพิ่มอีก 2 ปี(สีดำ) ปัจจุบันมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กว่า 40,000 คนจากแพทย์ทั่วประเทศ 76,000 คน โดยจบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปีละกว่า 2,000 คน


4. การอบรมระยะสั้น หรือฝึกอบรมโดยสถาบันวิชาการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่ไม่ได้รับการรับรองโดยแพทยสภา เป็นการอบรมเพื่อเพิ่มความรู้นั้น แม้ได้รับประกาศนียบัตรจากองค์กร ไม่สามารถใช้คำว่า เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขาหรือ ผู้เชี่ยวชาญตามกฎหมายได้ เช่นเดียวกับ แพทย์จะโฆษณาว่าทำมานาน จำนวนมากรายแล้ว จะโฆษณาเป็นผู้เชี่ยวชาญไม่ได้ ต้องผ่านการอบรมมาตรฐานเท่านั้น


5. การอ้างเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะสาขาหรือผู้เชี่ยวชาญถือเป็นความผิด ตามกฎหมาย ทั้งข้อบังคับ จริยธรรมแพทยสภา และพรบ. วิชาชีพเวชกรรม ดังนี้


5.1 กรณีเป็นแพทย์จะผิดข้อบังคับจริยธรรม ถูกตั้งคณะกรรมการจริยธรรม สอบสวนข้อมูล และมีมติกรรมการแพทยสภาลงโทษ มีโทษตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตจนถึงเพิกถอนทะเบียน ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งอยู่ ในอำนาจแพทยสภา และมีลงโทษ แทบทุกเดือน


5.2 ผิดกฎหมายเป็นคดีบ้านเมืองต่อจาก คดี 5.1 คือผิดตามพรบ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 28 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 44 คือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และหากมีความเสียหาย ต่อผู้ป่วยจะเป็นคดีแพ่งและอาญาต่อไป จะเป็นการดำเนินคดีโดยตำรวจ หลังผิด 5.1


6. ดังนั้นการอ้าง หรือโฆษณาต่อประชาชน ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ 1 ใน 94 สาขา โดยไม่ได้จบการศึกษาจริง ถือเป็นความผิด และการอ้างสาขา ความเชี่ยวชาญที่ไม่ได้อยู่ใน 94 สาขาตามกฎหมาย โดยตั้งขึ้นใหม่ ตามประสบการณ์ตนเอง เพื่อประโยชน์ ในการโฆษณา เป็นความผิดเช่นกัน เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้าน ความงาม ผิวพรรณ ร้อยไหม ปรับโครงสร้างใบหน้า ฯลฯ ซึ่งมีผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนและดำเนินคดีกันทุกเดือน ถ้าพบเห็นส่งหลักฐานแจ้งทางเว็บไซต์แพทยสภาได้ครับ


7.ในการประชุม แพทยสภา ครั้งที่ 7 วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ได้มีมติให้ตรวจสอบ คุณวุฒิแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายรายในโฆษณา รวมถึง ตรวจสอบความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ของวุฒิสมาชิก ที่ปรากฏในสื่อ หากไม่ถูกต้อง มีมติให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ


8.สำหรับ สาขาที่มีการสอบถามจากประชาชนบ่อยครั้งว่าเป็น สาขาเชี่ยวชาญหรือไม่ เช่น ชะลอวัย ความงาม  เสริมสวย เหล่านี้ ยังไม่อยู่ใน 94 สาขาความเชี่ยวชาญที่แพทยสภารับรองตามกฎหมาย จึงไม่สามารถใช้คำว่า เชี่ยวชาญด้านความงาม หรือ เสริมสวย หรือ ชะลอวัยได้ คุณหมอโปรดตรวจสอบและระมัดระวังด้วยครับ


ขณะที่ นายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือ ทนายเดชา ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ในฐานะทนายความของ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย หรือ หมอเกศ สว.กลุ่มวิชาชีพอิสระ วานนี้ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กเพจ “ทนายคลายทุกข์” ระบุว่า “เรียนพี่น้องสื่อมวลชนคุณหมอเกศ แจ้งมายังทนายเดชาว่า ไม่มีความประสงค์ที่จะให้ข้อมูลหรือให้สัมภาษณ์ใดๆ ทั้งสิ้นอีกต่อไป” 


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/8qJK5gfYn6s


คุณอาจสนใจ

Related News