สังคม
แกนนำนักอนุรักษ์ผืนป่าทับลาน ชี้ปัญหาข้อพิพาทผืนป่าเกิดจากนโยบายรัฐบาลที่ไม่ชัดเจน
โดย kanyapak_w
12 ก.ค. 2567
42 views
แกนนำนักอนุรักษ์ผืนป่าทับลาน ชี้ปัญหาข้อพิพาทผืนป่าเกิดจากนโยบายรัฐบาลที่ไม่ชัดเจน ชาวบ้านถูกจับกุมไม่เป็นธรรม ยืนยันพื้นที่ที่ถูกจัดการเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านมาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ เรียกร้องรัฐให้ข้อมูลที่แท้จริงแก่ประชาชน
จากกรณีที่รัฐบาลเตรียมกันพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน กว่า 2 แสนไร่ ออกมา เพื่อออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้กับชาวบ้านที่ยังมีข้อขัดแย้งว่าบุกรุกที่อุทยานฯ หรืออุทยานฯ ประกาศทับที่ชาวบ้านหรือไม่ ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านกับนโยบายนี้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการติดแฮชแท็ก #Saveทับลาน
วันนี้ (12 กรกฎาคม 2567) ที่สวนไผ่ลุงโชค อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา นายโชคดี ปรโลกานนท์ นักอนุรักษ์ ผู้มีส่วนในการพลิกฟื้นผืนป่าเขาแผงม้า และอดีตผู้นำชาวบ้านพลิกฟื้นผืนป่า กว่า 10,000 ไร่ บนอุทยานแห่งชาติทับลาน อำเภอวังน้ำเขียว ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ปัญหาข้อพิพาทนี้ เกิดจากความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาล ว่า จะเอาเช่นไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายด้านความมั่นคง หรือส่งเสริมการท่องเที่ยว หรืออนุรักษ์ผืนป่า เพราะแต่ละยุคแต่ละสมัยก็แตกต่างกันไป เพราะยุคแรกก็เน้นไปที่นโยบายด้านความมั่นคง
โดยย้ายประชาชนมาอยู่เพื่อกันพื้นที่คอมมิวนิสต์ พอเวลาผ่านไปก็บอกว่า จะส่งเสริมการท่องเที่ยว ชาวบ้านก็ต้องปรับเปลี่ยนอาชีพให้เข้ากับนโยบายการท่องเที่ยว หลังจากนั้น ก็มาเน้นที่การอนุรักษ์ผืนป่าอุทยานฯ โดยการประกาศเขตอุทยานฯ ทับที่อยู่ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว จึงโดนจับกุมดำเนินคดีบุกรุกอุทยานฯ กันเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน
ซึ่งข้อเท็จจริง ตนอยู่ที่นี่มานานรู้ดี ถ้าเป็นการเฉือนผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ออกมา ตนนี่แหละจะเป็นคนแรกที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านสุดชีวิต แต่ข้อเท็จจริง พื้นที่ที่เขาจัดการออกมานั้นไม่มีความเป็นผืนป่าหลงเหลืออยู่แล้ว เพราะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่มาตั้งชุมชนอยู่ก่อนประกาศเขตอุทยานฯ แล้ว ซึ่งในอดีตบริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่งตำบลไทยสามัคคีนั้น เป็นภูเขาที่ไม่ได้มีป่าอุดมสมบูรณ์นัก
ส่วนหมู่บ้านไทยสามัคคีดั้งเดิมนั้น อยู่ลึกจากเขต One Map ปี พ.ศ.2543 ออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร หรือที่ชาวบ้านเรียก “เขตมูลหลงมูลสามง่าม” ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำน้ำมูล พอเกิดปัญหาด้านความมั่นคง กองทัพภาคที่ 2 ก็ได้ย้ายชาวบ้านมาอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านไทยสามัคคีในปัจจุบัน ต่อมาปี พ.ศ.2540 ตนได้ไปเห็นสภาพพื้นป่าบริเวณดังกล่าวเสื่อมโทรม ประกอบกับที่ขณะนั้นตนได้ทำการฟื้นฟูผืนป่าเขาแผงม้าได้สำเร็จ จึงได้นำโมเดลนี้ไปใช้ นำชาวบ้านขึ้นไปปลูกป่าฟื้นฟูสภาพพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งขณะนั้นก็ได้กำลังจากชาวบ้านในพื้นที่หมู่บ้านไทยสามัคคีปัจจุบัน
ช่วยกันเป็นอาสาสมัครขึ้นไปปลูกป่ากันเป็นจำนวนมาก หลายครอบครัวอาสาเข้าไปปลูกป่าทุกวัน เป็นระยะเวลา กว่า 3 ปี จนสามารถขยายพื้นที่ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ได้มากกว่า 10,000 ไร่ และได้กำลังชาวบ้านเหล่านี้ช่วยเป็นอาสาสมัครดับไฟป่า ดูแลผืนป่าช่วยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งมีกำลังไม่เพียงพอ มีการปลุกจิตสำนึกให้ชาวบ้านและเยาวชนรักผืนป่าอย่างเป็นรูปประธรรม ดังนั้น ชาวบ้านเหล่านี้จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูสภาพป่าในเขตอุทยานทับลานเป็นอย่างมาก แต่จากนโยบายขณะนี้ ทำให้ชาวบ้านหลายคนที่อยู่ในกลุ่มอนุรักษ์เหล่านั้น ต้องถูกจับกุมดำเนินคดี ขึ้นโรงขึ้นศาลกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นธรรมกับชาวบ้านเลย
ส่วนกรณีที่มีแคมเปญ #Saveทับลาน จนติดเทรนด์ในโซเชียลขณะนี้นั้น ตนมองว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจข้อเท็จจริง โดยเฉพาะข้อมูลเชิงลึกในพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาท ดังนั้นเรื่องนี้ ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนก่อน เพราะถ้าเสนอแค่ข้อมูลด้านการอนุรักษ์ส่วนเดียว ประชาชนจะเกิดความสับสน เพราะการอนุรักษ์ถือว่าเป็นกระแสที่แรงมาก คนที่แชร์โพสต์เซฟทับลานจะดูเป็นคนดีในสายตาของชาวโซเชียลขึ้นมาทันที แต่ชาวบ้านที่เขาอยู่ในพื้นที่ซึ่งเขาช่วยปลูกป่า ช่วยอนุรักษ์ผืนป่า และช่วยดับไฟป่า กลับถูกตราหน้าว่า เป็นผู้ร้ายในสังคมไปแล้ว
ส่วนข้อกังวลเรื่องจะมีนายทุนเข้ามาถือครองพื้นที่นั้น ก็มีกฎหมายที่จะดำเนินการเพิกถอนสิทธิ์และดำเนินคดีได้อยู่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องเอาจริงกับเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่การมาเหมาเข่งรวมกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น การกันที่เขตอุทยาฯ ตาม One Map ปี พ.ศ.2543 จึงเป็นทางออกที่ดีแล้ว
แท็กที่เกี่ยวข้อง เขตอุทยาน ,อุทยานแห่งชาติทับลาน ,#Saveทับลาน