สังคม

ยังไม่ชี้ชัด 'ต้นเพลิง' ไฟไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์ ชาวบ้านเปิดใจไม่เหลืออะไรแล้ว อีกรายหิ้วแมวกว่า 30 ตัวหนี

โดย nattachat_c

8 ก.ค. 2567

192 views

กรณี เกิดเหตุเพลิงไหม้ ภายในชุมชนตรอกโพธิ์ ซอย 7 ถนนเยาวราช แขวงและเขตสัมพันธวงศ์ กทม. เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 20.41 น. วันที่ 6 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา


วานนี้ (7 ก.ค. 67) ทีมข่าวลงพื้นที่ พบว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงยังคงฉีดน้ำหล่อเลี้ยงไว้บางจุด เนื่องจากเกรงว่ากลุ่มควัน และไฟ จะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง และปิดกั้นพื้นที่ทางเข้าจุดเกิดเหตุ เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบ และเก็บพยานหลักฐาน เพื่อหาสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้


ทีมข่าวสำรวจสถานที่เกิดเหตุ ภายในชุมชนตรอกโพธิ์ พบว่า ลักษณะเป็นบ้านไม้ปลูกติดกันหลายหลัง ต้นเพลิงเกิดขึ้นภายในชุมชน เพลิงลุกไหม้เสียหาย 36 หลัง จากทั้งหมด 63 หลังคาเรือน  


บ้านเรือนที่เป็นเวิ้งอยู่ตรงกลาง ถูกไฟไหม้วอด และยังลามไปถึงอาคารพาณิชย์ที่อยู่ใกล้เคียง อย่าง โรงแรมนิวเอ็มไพร์ เสียหายที่ชั้น 4 - 6 / ร้านหูฉลามเฉลิมบุรี เสียหายชั้นที่ 3 - 5 และภัตตาคารไต่เซ็ง เสียหายชั้นที่ 4 - 5 รวมพื้นที่เพลิงไหม้เสียหายประมาณ 1 ไร่ 80 ตารางวา


จุดเกิดเหตุ พบว่า เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายยังอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และยังไม่อนุญาตให้เข้าไปภายในซอย เนื่องจากซากอาคารมีความเสี่ยงที่จะถล่มลงมา  


เบื้องต้น ยังไม่มีการตรวจพิสูจน์สาเหตุเพลิงไหม้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนที่เรียกว่า 'การดับถ่าน' เพื่อป้องกันการปะทุซ้ำของเชื้อเพลิง และประชาชนที่ได้รับผลกระทบยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินของตัวเองได้

---------------------------------

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทีมวิศวกร เข้ามาตรวจสอบ และประเมินโครงสร้างของอาคาร เพื่อความปลอดภัย ก่อนจะให้ประชาชนเข้าพื้นที่ โดยขึ้นไปสำรวจบริเวณด้านบนอาคารที่อยู่ใกล้เคียงด้วย


จากนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้น พอจะสันนิษฐานจุดต้นเพลิงได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ และเก็บพยานหลักฐานในจุดที่พบการเผาไหม้สมบูรณ์ และเสียหายเยอะที่สุด เชื่อว่าบริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นจุดต้นเพลิง


แต่เนื่องจากจุดที่คาดว่าเป็นต้นเพลิงนั้น มีโครงสร้างไม่แข็งแรง และมีเศษซากปรักหักพังทับถมอยู่จำนวนมาก ต้องตรวจสอบความปลอดภัย ก่อนจะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บหลักฐานอย่างละเอียดอีกครั้ง


เบื้องต้น เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้ตรวจตู้เบรกเกอร์ หรือตู้ควบคุมแผงวงจรไฟฟ้า พบว่า ปกติดี และเก็บอุปกรณ์ไฟฟ้า กับหลักฐานในที่เกิดเหตุจำนวนหนึ่ง ไปตรวจสอบแล้ว  


นอกจากนี้ ยังอาจจะได้ข้อมูลจากพยานที่เป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งถ่ายคลิปวิดีโอขณะเกิดเหตุไว้ ขณะนี้ กำลังติดตาม และเชิญมาให้ข้อมูล ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่า เดินทางกลับประเทศไปแล้วหรือไม่


ส่วนที่มีรายงานว่า จุดต้นเพลิงเป็นร้านขนมที่มีการต่อเติมนั้น พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า  ขณะนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่า ต้นเพลิงเป็นหลังไหน แต่สามารถจำกัดพื้นที่ได้ประมาณ 3-4 หลัง และยังมีบางจุดที่ยังเข้าไปเก็บหลักฐานไม่ได้ จึงต้องรอให้กู้ภัยรื้อซากที่พังทับถมออกมาก่อน


โดยจะนัดหมายกับ บก.น.6 อีกครั้งว่าจะเข้ามารื้อเมื่อไหร่ ซึ่ง พฐ.จะเข้ามาในเวลาเดียวกัน เพื่อจัดเก็บพยานหลักฐาน จะได้รู้ให้ชัดเจนว่า หลังไหนเป็นต้นเพลิง และขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุเพลิงไหม้ได้ รวมทั้ง ยังระบุไม่ได้ว่า เกิดจากความประมาท หรืออุบัติเหตุ

---------------------------------

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเพลิงไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์ พร้อมเปิดเผยว่า ชุมชนที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ล้อมรอบด้วยตึกแถว และมีทางเข้า-ออกแคบ และจำกัด  


ในคืนเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ในการดับเพลิง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ


1. ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติมาเช่าอาศัย  


2. ตึกที่ไฟลามไปด้านหน้า


3. โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิที่ตั้งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ ตัวตึกไม่ได้รับความเสียหายแต่ควันจากเพลิงไหม้ลอยเข้าไปในโรงพยาบาล จึงต้องทำการย้ายผู้ป่วยผู้สูงอายุจำนวน 26 ราย ไปอยู่ที่ศูนย์พักพิง ณ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร


ทั้งนี้ ในเช้านี้ ได้ย้ายผู้ป่วยทั้ง 26 ราย ดังกล่าว กลับเข้าโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว โดยเบื้องต้นต้องรีบเยียวยา และสั่งการให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้ประสบภัยเพื่อจะจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นให้ประชาชนต่อไป ทั้งนี้ ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ว่า ไม่มีผู้ติดค้าง หรือผู้สูญหาย จากเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้


และขณะนี้ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตั้งกองอำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร (วัดเกาะ) ถนนทรงสวัสดิ์ สำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคสิ่งของ อาหาร น้ำดื่ม ช่วยเหลือผู้ประสบภัย สามารถติดต่อได้ที่ คุณประภาพร นักพัฒนาชุมชนฯ โทร. 080-535-1929 งดรับบริจาคเสื้อผ้า เนื่องจากมีหน่วยงานบริจาคให้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว


นายชัชชาติ กล่าวว่า บ้านที่โดนไฟไหม้ ซึ่งมีอายุกว่า 60 ปี ถ้าจะปลูกใหม่ ไม่ได้ทำง่าย ๆ เพราะต้องใช้กฎหมายใหม่ ต้องให้ผู้เช่าไปหาที่เช่าใหม่

---------------------------------

วานนี้ (7 ก.ค. 67) เวลา 15.40 น. ที่อาคารเอนกประสงค์ วัดสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 100 ชุด ไปมอบแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ ภายในชุมชนตรอกโพธิ์ ถนนทรงสวัสดิ์ แขวงและเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อช่วยบรรเทาความร้อนเดือนร้อนเบื้องต้น


ในโอกาสนี้ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปกล่าวแก่ราษฎรที่ประสบอัคคีภัยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ได้รับทราบ กับสอบถามการเกิดเหตุเพลิงไหม้ และให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งพูดคุยสร้างขวัญกำลังใจ เพื่อให้สามารถกลับประกอบสัมมาอาชีพและดำรงชีวิตได้ตามปรกติสุขต่อไป ผู้ประสบอัคคีภัยและผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

---------------------------------

ทีมข่าวได้คุยกับนางทองจันทร์  บุญศรัทธา  อายุ 60 ปี ชาวบ้านที่อพยพมาอยู่ศูนย์พักพิงวัดสัมพันธวงศ์ เล่าว่า ช่วงเกิดเหตุ นอนอยู่ในบ้านกับสามี ได้ยินเสียงคนตะโกนบอกไฟไหม้ สามีจึงลุกขึ้นมาดู ก่อนจะวิ่งไปดึงตนออกจากที่นอน พากันหนีไปอยู่ที่ปลอดภัย ไม่ทันได้เก็บของใช้จำเป็น ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาอาการป่วยซึมเศร้าก็ไม่ทันหยิบออกมา ได้แต่ยืนมองดูไฟที่ลุกไหม้  


ตนพูดกับสามีว่า “หมดแล้วไม่มีอะไรเหลือแล้ว” มีเพียงเสื้อผ้าชุดเดียวที่ใส่ติดตัวออกมา ตอนนี้ ยังตกใจกินข้าวไม่ลง ครั้งนี้ไฟไหม้หนักที่สุดในชีวิต ก่อนหน้านี้ชุมชนก็เคยเกิดเพลิงไหม้ แต่ดับทัน พร้อมยกมือไหว้ขอบคุณทุกคนที่มีน้ำใจให้ความช่วยเหลือ

---------------------------------

ด้านนายวัภลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ เปิดเผยว่า ได้ตั้งจุดอำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ และให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนมาลงทะเบียน โดยชุมชนแห่งนี้ มีบ้านเรือนทั้งหมด 63 หลังคาเรือน จากการสำรวจเบื้องต้นคาดว่า ได้รับความเสียหาย 36 หลังคาเรือน  


ทั้งนี้ ในทะเบียนบ้านมีชื่อของประชาชนที่อยู่ในทะเบียนบ้าน 186 คน แต่ในความจริง หากรวมแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาเช่าพักอาศัย จะมีจำนวนหลายร้อยคน สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือแล้ว มีจำนวน 252 คน แบ่งเป็นคนไทย 133  ราย และคนต่างด้าว 119 ราย  ซึ่งอาจมีคนมาลงทะเบียนเพิ่มเติมอีก


ในส่วนการช่วยเหลือของเขตสัมพันธวงศ์ ได้ช่วยเหลือตั้งแต่วันเกิดเหตุ ทั้งเรื่องสถานที่พักในวัดสัมพันธวงศ์ วัดไตรมิตร และโรงเรียนวัดไตรมิตร รวมถึงวัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก) ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่ รองรับผู้ประสบภัยได้มากกว่า 400 ราย ถือว่ายังเพียงพอ


ขณะที่ สำนักพัฒนาสังคมของ กทม. ดูแลด้านอาหารของผู้ประสบภัยทั้ง 3 มื้อ  และขณะนี้ มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือด้านอาหารเพิ่มเติม ทั้งครัวทหาร ครัวพระราชทาน และอาสากู้ภัยต่าง ๆ


ทางสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ยังฝากแจ้งงดครับเสื้อผ้าที่จะนำมาบริจาค เนื่องจากมีคนนำเสื้อผ้ามาบริจาคจำนวนมากจนล้น ส่วนอาหารแห้งน้ำดื่มยังเปิดรับบริจาคอยู่


ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ เปิดเผยว่า ปัญหาหนึ่งของการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติ คือ เรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ เนื่องจากหนังสือเดินทาง และเอกสารอนุญาตในการทำงาน ถูกไฟไหม้ทั้งหมด  ซึ่งการจะได้รับความช่วยเหลือ ต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงาน เมื่อไม่มีเอกสาร ก็ทำให้เกิดความยากลำบาก การจะออกหนังสือรับรองใหม่ก็ต้องมีการสอบสวน และต้องมีบันทึกรับแจ้งความจากสถานีตำรวจว่าเป็นผู้ประสบภัยจริง  


โดยผู้ประสบเหตุจะต้องนำหนังสือแจ้งความจากสถานีตำรวจไปติดต่อหน่วยงานราชการ  ซึ่งการช่วยเหลือคนไทยและต่างด้าวจะมีความแตกต่างกัน ในส่วนของเงินช่วยเหลือนั้น คนต่างด้าวจะไม่ได้รับในส่วนนี้ จะได้รับเฉพาะคนไทยเท่านั้น เพราะเป็นไปตามระเบียบราชการ


จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า มีแรงงานข้ามชาติมาลงทะเบียนขอความช่วยเหลือ ณ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยวัดสัมพันธวงศ์  ทั้งสัญชาติลาว และเมียนมา  โดยส่วนใหญ่มีเอกสารหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงานถูกต้อง แต่มีบางส่วนที่เอกสารยังอยู่ในห้องเช่าซึ่งถูกไฟไหม้  ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่ได้รับความเดือดร้อนกลุ่มนี้ ยังจำเป็นต้องมีเอกสารใบอนุญาตทำงาน เพื่อทำงานอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย


สำหรับบ้านเรือนประชาชนที่ถูกไฟไหม้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะช่วยเหลือเงินค่าซ่อมแซมให้หลังละ 49,500 บาท ส่วนผู้ที่เช่าบ้านจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเช่าจากกรุงเทพมหานคร รายละประมาณ 3,000 บาท


ขณะที่ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยตั้งโต๊ะลงทะเบียน มอบเงินให้ผู้ประสบภัย คนละ 3,500 บาท (ทั้งคนไทย และต่างด้าว) พร้อมมอบชุดเครื่องครัว ให้ ครอบครัวละ 1 ชุด เปิดให้ลงทะเบียน วานนี้ (7 ก.ค. 67) ที่วัดสัมพันธวงศ์ฯ และนัดรับเงิน ในวันที่ 12 กรกฎาคม

---------------------------------

ด้าน เจ้าหน้าที่ กทม. ให้ข้อมูลว่า ชุมชนตรอกโพธิ์ เป็น 1 ใน 340 ชุมชนเสี่ยง ที่กำหนดเป็นชุมชนเป้าหมายฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ ในปีงบประมาณ 2567 โดยชุมชนแห่งนี้ ได้ดำเนินการฝึกซ้อมไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 67


ด้านรองศาตราจารย์ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจเมื่อปลายปี 65 - ปี 66 กทม.มีชุมชนจัดตั้ง ซึ่งเป็นชุมชนพื้นที่ไม่มาก แต่มีประชากรเยอะ ทั้งหมด 2,008 ชุมชน จะมีทั้งชุมชนแออัดที่มีทางแคบเข้า-ออกยาก และชุมชนเสี่ยง 400 กว่าชุมชน 


โดยปี 67 พบว่า ทั่วกรุงเทพฯ มีชุมชนเสี่ยงอัคคีภัย 340 ชุมชน อยู่ในเขตสัมพันธวงศ์ 8 ชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการฝึกซ้อมแผนป้องกันเหตุ และแผนอพยพ


ส่วนประเด็นหัวจ่ายน้ำที่ชุมชนตรอกโพธิ์ มีประปาหัวแดงอยู่โดยรอบ ทั้งหัว กลาง และท้ายชุมชนจุดละ 1 หัว แต่ตรงกลางที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุ โดนล้อมด้วยไฟ ทำให้ประปาหัวแดงกลางชุมชนใช้ไม่ได้ ต้องใช้รถน้ำขนาดเล็กพยายามเข้าไปด้านในให้มากที่สุด และต่อพ่วงสายฉีดน้ำ


ทั้งนี้ จากการสำรวจของ กทม.เมื่อปี 65 เบื้องต้น ต้องการประปาหัวแดงอย่างเร่งด่วน 258 หัว และได้ประสานการประปาเร่งดำเนินการติดตั้ง แต่มีความล่าช้า เพราะมีข้อบัญญัติในการติดตั้งประปาหัวแดง แต่อยู่ในแผนทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะสามารถนำประปาหัวแดง 258 หัว ทยอยลงในจุดเสี่ยง ภายในสิ้นปีนี้


นอกจากนี้ ยังพบว่า ชุมชนตรอกโพธิ์ มีถังดับเพลิง 25 ถัง เพราะเป็นชุมชนที่มีความหนาแน่นสูง และเป็นชุมชนที่ กทม.ระบุว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง  


โดยเมื่อกลางปี 66 ที่เกิดเหตุการณ์ถังดับเพลิงระเบิด ทาง กทม.ได้เก็บถังที่เสื่อมสภาพไป 30,000 ถัง และ กทม.สั่งซื้อถังดับเพลิง ปีงบประมาณ 66 รวม 2 ล็อต   ซึ่งเดือน ก.ค.นี้ จะได้รับก่อน 9,000 ถัง เมื่อตรวจสอบมาตรฐานแล้ว ก็จะกระจายไปติดตั้งตามชุมชนเสี่ยง

---------------------------------

ทีมข่าวได้พูดคุยกับ นางสุจารี และนายสันติ สวัสดิ์กิจไพโรจน์ ชาวบ้านริมถนนทรงสวัสดิ์ ที่เป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ จากเหตุเพลิงไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์  เล่านาทีระทึก ที่ต้องอพยพหอบหิ้วแมวกว่า 30 ตัวในบ้าน หนีตายออกมา เนื่องจากบ้านของทั้งคู่ อยู่ติดกับชุมชนตรอกโพธิ์


ทั้งสองคน เล่าว่า เหตุเกิดช่วงสองทุ่มกว่า ๆ เมื่อทราบว่าเกิดเพลิงไหม้ ตนรีบโทรศัพท์แจ้งตำรวจ และดับเพลิง จากนั้น ก็รีบขนย้ายแมวกว่า 30 ตัวที่อยู่ในบ้าน เอาออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย  แล้วก็เปิดประตูรั้วเหล็กหน้าบ้านเอาไว้  เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ลากสายฉีดน้ำผ่านตัวบ้าน เนื่องจากชุมชนดังกล่าวอยู่หลังบ้านพอดี ลากสายผ่านบ้านไปเลยจะใกล้กว่า


ตอนนั้น เจ้าหน้าที่บอกว่า จำเป็นต้องทุบกระจก ตนก็ยินดี เพราะหากว่าสามารถควบคุมเพลิงได้ บ้านของตนก็จะปลอดภัย แค่กระจกแตกถือว่าเล็กน้อย เมื่อเหตุการณ์สงบจึงทำความสะอาดบ้าน และทยอยเอาแมวกลับเข้าบ้าน


ขณะที่ นายศิวัช  อมรรัตน์พรรณ อายุ 31 ปี ลูกชายเจ้าของร้านหูฉลามเฉลิมบุรี พาทีมข่าวขึ้นไปดูความเสียหายบนอาคาร ซึ่งได้รับผลกระทบบริเวณชั้น 3 - 5 โดยกระจกหน้าต่างแตก หลอดไฟ-สายไฟ โดนความร้อนละลายหมด ข้าวของที่เก็บไว้ก็ถูกไฟไหม้ เนื่องจากทิศทางลมพัดมาทางตึกที่ตนอาศัยอยู่ ทำให้ไฟลามมา  


หลังเกิดเหตุ ภายในอาคารเต็มไปด้วยเขม่าควันสีดำ ตัวตึกก็ถูกไฟไหม้ ซึ่งกังวลเรื่องโครงสร้าง จึงอยากให้วิศวกรรมสถานมาตรวจสอบความปลอดภัย  


นายศิวัช  เล่าว่า ในคืนเกิดเหตุ ตน และครอบครัว อาศัยอยู่ชั้น 5 ซึ่งจะมีระเบียงหน้าต่างหลังตึกติดกับชุมชนตรอกโพธิ์ มองลงไปก็จะเห็นชุมชน  


ทีแรก ตนเห็นไฟเริ่มไหม้แค่หลังเดียว และได้ยินเสียงดังเป๊าะแป๊ะเหมือนสายไฟลัดวงจร  ตนจึงโทรแจ้ง 191 ผ่านไป 30 นาที ก็มีรถดับเพลิงมาถึงที่เกิดเหตุ ส่วนชาวบ้านในชุมชนต่างพากันวิ่งหนีเอาตัวรอดออกมา เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าไปในชุมชนไม่ได้ เพราะไฟล้อมทุกด้าน ตนจึงให้ลากสายดับเพลิงผ่านขึ้นไปชั้น 3 ซึ่งสามารถเปิดประตูหน้าต่างฉีดน้ำไปยังจุดที่เกิดเพลิงได้

---------------------------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/puIBkmqTSGk










คุณอาจสนใจ

Related News