สังคม

“ทนายตั้ม” ยื่นหนังสือถึง ผบ.ตร. เร่งรัดคดีฟอกเงินเว็บพนัน บิ๊กต่อ-ภรรยา ลั่นถ้าละอายแก่ใจต้องลาออก

โดย gamonthip_s

25 มิ.ย. 2567

205 views

เมื่อเวลา 10.00 น. นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชน เดินทางมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอให้เร่งรัดดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล และภรรยาพร้อมพวก ที่ทนายตั้มเคยแจ้งความดำเนินคดีกล่าวหาว่า มีส่วนพัวพันกับคดีเว็บพนันออนไลน์ไว้ที่ สน.เตาปูน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา



โดยนายษิทรา ระบุว่า เนื่องจากตนเคยแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.เตาปูน ให้ดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และภรรยา พร้อมพวกที่เป็นบัญชีม้าอีก 2 คน แต่ปรากฏว่า ไม่มีความคืบหน้าทางคดีแต่อย่างใด ไม่ปรากฏการเรียกบุคคลมาให้ปากคำ ทั้ง ๆ ที่ตนได้นำพยานหลักฐานอย่างละเอียดมามอบให้กับพนักงานสอบสวน รวมทั้งไม่มีการเรียก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และพวกรวม 4 คน มารับทราบข้อกล่าวหา ทั้งที่เวลาล่วงเลยมากว่า 2 เดือน จึงทำให้ตนเชื่อว่า ทางตำรวจน่าจะมีการประวิงคดี เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูง จึงเกรงกลัว ไม่กล้าดำเนินคดี



ตนจึงตัดสินใจเดินทางมายื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อเร่งรัดการดำเนินคดี รวมทั้งให้พิจารณาการดำเนินการทางวินัยแก่ตำรวจพนักงานสอบสวน สน.เตาปูน เพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นการประวิงคดี โดยทนายตั้มยอมรับว่า เป็นการแก้เผ็ด แต่ตนมาร้องเรียนตามสิทธิ เพราะพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และถือเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีอำนาจที่จะสั่งการ ซึ่งต้องรอติดตามดูกันต่อไปว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จะดำเนินการอย่างไรกับคดีของตนเอง รวมทั้งจะกล้าออกมาให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ถึงกรณีการดำเนินคดีของตนหรือไม่ หรือจะยังคงหลบเลี่ยงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแบบนี้ต่อไป จึงขอฝากพี่น้องสื่อมวลชนว่า หากพบตัว พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ให้สอบถามประเด็นนี้ด้วย เพราะตนเชื่อว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ คงไม่สามารถจะตอบคำถาม โดยเฉพาะเรื่องเส้นทางการเงินที่เชื่อมโยงถึงภรรยา



ทนายตั้ม ยังกล่าวอีกว่า หากพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ยังคงมีความละอายแก่ใจ และเห็นแก่องค์กรตำรวจกับชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ควรจะต้องลาออกจากตำแหน่งและราชการตำรวจเสีย เพราะเนื่องจากมีพยานหลักฐานชัดว่า มีส่วนพัวพันกับส่วยและเงินเว็บพนันออนไลน์ ซึ่งท่านควรจะรู้ตัวเองและเห็นแก่ประชาชนที่คาดหวังจะมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ซื่อสัตย์สุจริตกับมีเกียรติมีศักดิ์ศรีให้ประชาชนพึ่งพาได้ จึงเห็นว่า ท่านควรใช้ดุลพินิจในการพิจารณาตนเองในการลาออกจากตำแหน่ง โดยที่ตนไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ แต่ขึ้นอยู่กับตัวท่านเองว่าจะพิจารณาตนเองอย่างไร



ส่วนกรณีที่ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ออกมาให้ความเห็นอ้างว่า พยานหลักฐานของตนนั้นไม่แน่นหนาพอ ที่จะเชื่อมโยงถึง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์และพวก จึงทำให้พนักงานสอบสวน สน.เตาปูน ไม่แจ้งข้อกล่าวหานั้น ทนายตั้มมองว่า ประเด็นดังกล่าว ไม่ควรออกมาพูด และรู้ได้ไงถึงพยานหลักฐานฝั่งของตนว่าไม่เพียงพอ โดยทนายตั้มย้ำว่า ตนมีพยานหลักฐานเป็นเส้นทางการเงินที่เชื่อมโยงถึงภรรยาของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และมีการนำเงินดังกล่าวไปสร้างบ้าน รวมทั้งทำบุญในนามของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จึงมองว่า พยานหลักฐานขนาดนี้จะไม่สามารถชี้ชัดได้อย่างไร หากเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปก็อาจจะถูกดำเนินคดีไปแล้ว



นอกจากนี้ ทนายตั้มยังได้ทวงถามไปยังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีว่า ท่านทำอะไรอยู่ ทำไมถึงส่งตัว พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับมาดำรงตำแหน่งตามเดิม ทั้ง ๆ ที่พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ถูกแจ้งความดำเนินคดี รวมทั้งตนยังได้นำพยานหลักฐาน ทั้งเส้นทางการเงิน และพยานบุคคล ที่เป็นสายลับไปมอบให้กับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาลแล้ว แต่ทำไมถึงยังพิจารณาส่งตัว พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับมา จึงเรียกร้องอย่างให้นายกรัฐมนตรีเปิดผลการพิจารณาของคณะกรรมการชุดดังกล่าวอย่างละเอียดแก่สาธารณชน ไม่ใช่ระบุเพียงแค่ว่า นายพลทั้งสองมีความขัดแย้ง แต่ต้องระบุผลว่า ใครถูกใครผิด เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ



โดยตั้งข้อสงสัยว่า หรือคณะกรรมการชุดดังกล่าวนั้น ได้ให้การช่วยเหลือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และมองว่า การส่งตัวกลับมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะส่งผลเสียต่อคดีมากกว่า เพราะขนาดช่วงที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ที่ถูกไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี คดียังไม่มีความคืบหน้า แล้วถ้าส่งตัวกลับมาแล้วนั้น คดีที่ตนแจ้งความจะคืบหน้าได้อย่างไร



สื่อมวลชนได้สอบถามเพิ่มเติมถึงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับคำสั่งพักราชการของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ว่า ทนายตั้มมีทัศนะอย่างไร ทนายตั้มมองว่า ความเห็นของกฤษฎีกานั้น ในทางปฏิบัติศาลไม่ได้รับฟังเป็นหลัก แต่หากมีความเห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ศาลก็จะรับฟัง เพื่อให้ความเป็นธรรม โดยตนมองว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบด้วยผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศหลายท่าน จึงมองไม่เห็นว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นจะเป็นการช่วยเหลือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อย่างไร ซึ่งท่านอาจจะมองว่า การออกคำสั่งของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ขณะดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ไม่ผ่านความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนนั้น เป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมาย เลยมีความเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คุณอาจสนใจ

Related News