สังคม

รวบผู้ต้องหาโพสต์ขายปืนบีบีกัน เหยื่อโอนเงิน 7,000 เจอบล็อกเฟซบุ๊กหนี

โดย thanaporn_s

9 มิ.ย. 2567

123 views

รวบผู้ต้องหาโพสต์ขายปืนบีบีกัน เหยื่อโอนเงิน 7,000 บาท เจอบล็อกเฟซบุ๊กหนี อ้างเป็นเพียงคนรับออเดอร์ไม่ได้เป็นคนจัดส่ง


ตามนโยบายของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ให้ปราบปรามกลุ่มเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดทุกรูปแบบซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนผู้สุจริตจำนวนมาก เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2567 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. พร้อมชุดปฎิบัติการที่ 2 จับกุมตัว

นายณัฐนันท์ อายุ 53 ปี ภูมิลำเนา ต.ทับสะแก อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดขอนแก่น ที่ จ.65/2563 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2563 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่อื่นหรือประชาชน”

จับกุมที่หน้าบ้าน หมู่ที่ 5 ต.ดอนยายหอม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม พฤติการณ์แห่งคดี คือ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.61 ผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.บุญสวน เหล่าจูม สว.(สอบสวน) สภ.เมืองขอนแก่น ว่าให้ดำเนินคดีกับนายณัฐนันท์ ในข้อหาฉ้อโกง ฯ เนื่องจากนายกิตติพัฒน์ ได้เปิดเฟซบุ๊กแล้วพบว่านายณัฐนันท์ประกาศขายปืนอัดลมบีบีกันผ่านเฟซบุุ๊ก จึงตกลงสั่งซื้อปืนบีบีกันในราคา 7,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีของนายณัฐนันท์ ผ่านไปกว่า 20 วัน นายณัฐนันท์ไม่ยอมส่งของให้ แรกๆ ติดต่อได้ ต่อมาวันที่ 23 มิ.ย. นายณัฐนันท์ก็ได้บล็อกเฟซบุ๊กของผู้เสียหาย และไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย จึงนำความเข้าแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่นให้ดำเนินคดีกับนายณัฐนันท์จนถึงที่สุด

ในชั้นจับกัมผู้ต้องหาให้การว่า เมื่อก่อนผู้ต้องหาได้ทำการส่งขายปืนอัดลม(ปืนบีบีกัน)จริง โดยทำการค้าขายกับคนที่รู้จักแล้วอ้างว่าเป็นคนรับส่งขายของจริงแล้วมีเงินเข้ามาที่ บัญชีของตนจริง จำนวนประมาณ 7,000 บาท ซึ่งผู้ต้องหาอ้างว่า ไม่รู้ว่าคนที่รู้จักได้ส่งสินค้าให้กับลูกค้าจริงหรือไม่ และอ้างว่าตนเป็นคนรับออเดอร์ลูกค้าแต่ไม่ได้เป็นคนส่ง ให้อีกคนเป็นคนส่งสินค้า จากนั้นได้นำตัวส่งไปยัง สภ.เมืองขอนแก่น  เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.ต.ธีรเดช ฝากเตือนว่า การซื้อขายสินค้าออนไลน์เป็นวิธีการซื้อของที่สะดวกและมีความหลากหลาย แต่ก็มีมิจฉาชีพที่หลอกขายสินค้าออนไลน์ โดยใช้รูปภาพ หรือคำอธิบายที่ไม่ตรงกับสินค้าจริง หรือขายสินค้าที่ไม่มีอยู่จริง แล้วหลังจากได้เงินแล้วก็หายตัวไป วิธีที่จะป้องกันการหลอกขายสินค้าออนไลน์ คือการซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ หรือผู้ขายที่มีความน่าเชื่อถือ โดยดูจากรีวิว คะแนน หรือความคิดเห็นของผู้ซื้อท่านอื่น และเลือกวิธีการชำระเงินที่มีการรับประกัน หรือมีการคืนเงินให้ในกรณีที่ไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามที่สั่ง


คุณอาจสนใจ

Related News