สังคม

เตรียมผลักดันเป็นแลนด์มาร์คกลางเมืองแห่งใหม่ หลังขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ-วัตถุโบราณ

โดย gamonthip_s

9 มิ.ย. 2567

616 views

วันนี้ (9 มิ.ย.) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางมาที่จุดบริเวณขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ อายุประมาณ 2,000 ปี ซึ่งอยู่บริเวณพื้นที่ปรับภูมิทัศน์คูเมืองด้านตะวันออก ถ.อัษฎางค์ เขตเทศบาลนครนครราชสีมา



ซึ่งการขุดพบดังกล่าวนั้น เกิดจากการที่ทางเทศบาลนครนครราชสีมามีโครงการปรับภูมิทัศน์และอยู่ระหว่างการปรับปรุงภูมิทัศน์ของคูเมือง เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว และเป็นแหล่งสันทนาการ จึงได้ร่วมมือกับกรมศิลปกรในการเข้ามาบูรณะทางคูเมืองเก่า และกําแพงเมืองต่าง ๆ จึงได้มีการขุดดินฐานราก และปรากฏว่ามาเจอโครงกระดูก พร้อมกับอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่อยู่กับโครงกระดูก อาทิ เครื่องปั้นดินเผา เศษกระเบื้อง กระดูกสัตว์หรือเครื่องเหล็ก ซึ่งเนื้อของถ้วยชาม ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปกร บอกว่าอายุประมาณ 2,000 ปี ซึ่งเป็นถ้วย ชาม ยุคพิมายดำ และสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถที่จะสะท้อนถึงความเก่าแก่ของชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว



ซึ่งล่าสุดก็ได้พบโครงกระดูกที่ 3 อยู่ใกล้กับโครงกระดูกที่ 1 ซึ่งเป็นเพศชาย สูง 173 ซม. โครงกระดูกที่ 3 เจ้าหน้าที่กรมศิลป์วิเคราะห์ว่าเป็นเพศหญิง เพราะพบเครื่องประดับเป็นต่างหูทองคำ, แหวนทองที่นิ้ว, สร้อยหิน อายุประมาณ 2,000 ปี แต่เมืองโคราช 556 ปี แต่การที่มีการค้นพบทั้งโครงกระดูกทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงความเก่าแก่มากกว่าอายุของเมืองนครราชสีมา ซึ่งอาจจะต้องมีการศึกษาค้นคว้ามากกว่านี้ เพื่อพิสูจน์ว่าบริเวณที่พบโครงกระดูก เดิมมีชุมชนที่มีชาวบ้านอาศัยก่อนที่หน้าที่จะย้ายเมืองนครราชสีมา จากพื้นที่อำเภอสูงเนินมาตั้งในพื้นที่ปัจจุบัน อาจจะอยู่กันมาเป็นพันปีแล้วก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมศิลป์กับทางเทศบาลฯ และมหาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งทําเรื่องฟอสซิล ทําเรื่องอุทยานธรณีโลก จะต้องช่วยกันมาวิเคราะห์ในเรื่องของรายละเอียดต่าง ๆ ประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ว่าเจอแหล่งโบราณอย่างนี้ เจอกระดูกโบราณ เจออุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ สามารถที่จะพัฒนาอะไรที่เป็นสิ่งที่จะเรียนรู้ ถึงอดีตก่อนที่จะเกิดเมืองโคราชในบริเวณเหล่านี้ได้อย่างไรหรือมีบางคนเสนอว่าควรจะมีเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จะบ่งบอกถึงประวัติของชุมชนที่จะสืบสานถึงประวัติศาสตร์ของคนโคราช



ทั้งนี้ทางเทศบาลนครนครราชสีมา กรมศิลปกร และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จะร่วมกันในการที่จะมาศึกษาต่อถึงแนวทางการดําเนินการที่จะศึกษาและเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไป

คุณอาจสนใจ