สังคม

อดีตตุลาการศาลรธน. ชี้ 'ทรู' ฟ้อง 'พิรงรอง' หวังผลให้ถอนตัวจากการพิจารณา 'ควบทรูดีแทค'

โดย nattachat_c

13 พ.ค. 2567

46 views

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ศาลนัดฟังคำสั่งชั้นไต่สวนคดี ที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


โดยฟังคำสั่งวันนี้ ฝ่ายโจทก์มีทนายความเดินทางมาศาล ฝ่ายจำเลยมีพนักงานอัยการที่มาช่วยแก้ต่างเดินทางมาฟังคำสั่ง โดยศาลมีคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า ทางไต่สวนได้ความว่า โจทก์ (ทรู) เป็นผู้ประกอบกิจการ OTT (over the top ซึ่งเป็นบริการสื่อที่นําเสนอโดยตรงกับผู้รับบริการผ่านทางอินเตอร์เน็ต โอทีทีข้ามแพลตฟอร์มโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม)


เป็นการให้บริการที่ กสทช.ยังไม่ได้มีประกาศ หรือออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดู และจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าการให้บริการของโจทก์แม้จะถือว่าเป็นการให้บริการประเภท OTT ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทางไต่สวนมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการให้รักษาการรองเลขาธิการ กสทช.ในขณะนั้น ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 127 ราย มีข้อความว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย


ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่างๆ ที่โจทก์ส่งไปออกอากาศ พฤติการณ์ของจำเลยส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบมิชอบ คดีโจทก์มีมูลจึงให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีดำ อท.167/2566


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมูลเหตุการฟ้องคดีนี้เนื่องจากเดิม บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เป็นผู้บริการแพลตฟอร์มมือถือมีรายการหนัง และเพลงรวมทั้งถ่ายทอดรายการทีวีช่องต่างๆ รวมทั้งการสัมภาษณ์นักการเมือง ซึ่ง กสทช.ยังไม่ได้มีประกาศ หรือออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดู และจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าการให้บริการของโจทก์แม้จะถือว่าเป็นการให้บริการประเภท OTT


ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จึงยังไม่ยื่นขออนุญาต ต่อมา กสทช.ประกาศว่าต้องผ่านการอนุญาต ทางทรูก็ไม่ขัดข้องเพียงแต่เมื่อเข้ากระบวนการอนุญาตก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย (มีการตรวจเซ็นเซอร์เนื้อหา)


แต่จำเลยเป็นผู้สั่งการให้รักษาการรองเลขาธิการ กสทช.ในขณะนั้น ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 127 ราย มีข้อความว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์


ทั้งที่ขณะนั้นยังไม่ต้องมีการขอใบอนุญาต พร้อมมีการกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมที่มีถ้อยคำเป็นเหตุบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้รับความเสียหาย สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้เมื่อคดีมีมูลและศาลมีคำสั่งให้ประทับฟ้องแล้ว ต่อไปจะดำเนินกระบวนการสอบคำให้การ และนัดตรวจหลักฐานต่อไป

----------------

ความคืบหน้าล่าสุด ในคดี ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ประทับรับคำฟ้องคดี อท 147/2566 ซึ่ง บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นจำเลย ในข้อหาความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 สืบเนื่องจากมีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมส่งผลให้เอกชนเสียหาย


แหล่งข่าวจากกสทช. เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะเริ่มมีกระบวนการนัดแถลงของฝ่ายโจทก์ คือ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งให้การไว้ว่า ศ.พิรงรอง เป็นกรรมการ กสทช. และคณะอนุกรรมการ กสทช. ดำเนินการให้กสทช.ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุ 127 แห่ง ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดว่าโจทก์กระทำผิดกฎหมาย จนอาจถูกระงับเนื้อหารายการต่างๆ ที่ได้ส่งไปออกอากาศ


ที่ผ่านมา ในการไต่สวนทั้งที่เป็นพยานบุคคลและพยานเอกสาร ถือว่ามีน้ำหนักตามคำฟ้องของโจทก์ มีมูลเพียงพอที่ศาลฯประทับรับฟ้องในที่สุด ซึ่งฝ่ายจำเลยยังสามารถโต้แย้งและพิสูจน์ได้ แต่หากสุดท้ายศาลฯตัดสินว่า ศ.พิรงรอง มีความผิดจริงก็อาจทำให้ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย ต้องพ้นจากตำแหน่ง


ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 7 (6) เรื่องลักษณะต้องห้ามของกรรมการกสทช. คือ “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิด” เว้นแต่ความผิดอันได้กระทำ โดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท


รายงานข่าว ระบุว่า ข้อเท็จจริง ตามคำฟ้องของทรูฯ คือ การให้บริการภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (OTT) เป็นบริการที่ กสทช. ยังไม่ได้มีการประกาศหรือกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ในการควบคุม ซึ่งจำเลยทราบดี และในฐานะที่เป็นคณะอนุกรรมการซึ่งมีหน้าที่ต้องนำมติไปเสนอต่อที่คณะกรรมการ กสทช. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าว


นอกจากนั้น เมื่อมีการถอดข้อความเสียง การประชุม กสทช. ปี 2566 พบการใช้ถ้อยคำที่สื่อสะท้อนถึงทิศทางดำเนินการ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับบริษัทอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นพฤติการณ์ทั้งหมดถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ เจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย


อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาหลังศาลฯได้ประทับรับฟ้อง เกิดการเคลื่อนไหวจากองค์กรเครือข่ายเอกชน อย่างสภาองค์กรของผู้บริโภค วันที่ 18 มีนาคม 2567 รณรงค์ให้ประชาชนและพนักงานกสทช.มาร่วมให้กำลังใจด้วย แต่สุดท้ายมีเพียงสมาชิกเครือข่ายผู้บริโภคที่นำดอกไม้มามอบเท่านั้น


แต่อย่างไรก็ดี วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นี้ เป็นการที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้นัดให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ( กสทช พิรงรองฯ และ บริษัท ทรูดิจิตอลฯ) เข้ากำหนดประเด็นการพิจารณาคดี ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณาอีกระยะหนึ่งจนกว่าคดีจะถึงที่สุดว่า กสทช พิรงรองฯ ผิดจริง ถึงจะเข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย จึงต้องรอให้ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดก่อน ดังนั้น ก่อนที่กระบวนการยุติธรรมจะสะเด็ดน้ำ คาดว่า กสทช พิรงรองฯ ก็ยังคงปฎิบัติงานต่อไปได้

----------------

ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกกรณีศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ที่ถูกฟ้องจากบริษัทเอกชน ซึ่งการฟ้องดังกล่าว ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดผลแพ้ชนะแต่อย่างใด แต่หวังผลให้เกิดขึ้นใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่


1. กสทช.มีจำนวน 7 คน แบ่งเป็น 2 ฝ่าย 3 : 4 เคยเกิดเหตุการณ์ผลประชุมเท่ากัน และเกิดการออกเสียงซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ศาลรัฐมธรรมนูญมีกฎหมายระบุไว้ว่าไม่สามารถทำได้ ประธานไม่สามารถออกเสียงซ้ำได้ จะต้องมีการเกลี่ยกล่อมกันจนเกิดฉันทามติ

2. เคยมีประเด็นควบรวม ทรู ดีแทค (ล่มมา 6 ครั้ง) ยังอยู่ที่ศาลแต่ดำเนินการไปแล้ว

3. หากกรณีพิจารณาเรื่อง ทรู กสทช. 7 คน ทรู (ซึ่งมีส่วนได้เสีย) จะคัดค้านว่าอาจารย์พิรงรองเป็นคู่กรณีต้องถอนตัวเพื่อให้กรรมการเหลือ 6 คน เมื่อคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานออกเสียงเพิ่ม 1 เสียง

4. กรณีนี้จึงมิใช่ต้องการให้คดีแพ้หรือชนะ แต่ต้องการฉวยโอกาสเอาเวลาจากความล่าช้าของการพิจารณาคดีมาเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนโดยใช้ศาลเป็นเครื่องมือ

----------------

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/W_viDLfwNbI

คุณอาจสนใจ