สังคม

'ทนายตั้ม' แฉแหลกเส้นเงินส่วย 18 ธุรกิจสีเทา-ดำ ถึง 'บิ๊ก ต.' ได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน

โดย nattachat_c

27 มี.ค. 2567

28 views

วานนี้ (26 มี.ค. 67) นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ตั้งโต๊ะแฉเส้นทางการเงินส่วยถึงบิ๊กตำรวจ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า รับเงินจาก 2 กองบังคับการ และ 1 กองบัญชาการ เรียกเงินจากธุรกิจสีเทา-สีดำ 18 ประเภท รวมแล้วได้เงินกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน


โดยการแถลงข่าวครั้งนี้ ใช้เวลา 1 ชั่วโมงกับอีก 9 นาที โดยเริ่มแถลงในเวลา 11 โมงตรง ที่สำนักงานษิทรา ลอว์ เฟิร์ม โดยนายษิทรา หรือทนายตั้ม ใส่เสื้อยืดสีขาวมานั่งแถลง พร้อมบอกว่า มาแถลงในฐานะของเลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ


และก่อนแถลง ได้ปรึกษาครอบครัวแล้ว เพราะเรื่องที่จะแถลงเกี่ยวกับนายตำรวจใหญ่ที่ไม่มีใครอยากยุ่ง หลายคนบอกว่า 'โง่' หรือเปล่า ยืนยัน 'ยอมโง่' เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ถ้าท่านผู้พิพากษาดูอยู่ ช่วยเห็นใจด้วย เพราะในอนาคตอาจจะถูกฟ้อง และการแถลงข่าววันนี้ ไม่รู้ว่าจะช่วยให้ปัญหารับส่วยดีขึ้นไหม แต่อย่างน้อย อยากให้ประชาชนได้รับรู้


การแถลงครั้งนี้ มีตัวละครหลัก 3 คน คือ

1. 'ดาบ ย.' สังกัดคอมมานโด ทำหน้าที่รวบรวมเงินทุกทีมส่งข้างบน


2. 'รอง ฟ.' คนสนิทของ 'บิ๊ก ต.' เป็น นรต.รุ่น 61 รุ่นเดียวกับพ่อบ้านของ 'บิ๊ก จ.'


3. 'บิ๊ก ต.' นายตำรวจใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเชื่อว่า ถ้าดูอยู่น่าจะโมโหแน่นอน แต่ตัดสินใจแล้วว่าจะทำ


จากนั้น เริ่มเล่าย้อนว่า เมื่อก่อน 'บิ๊ก ต.' มีอำนาจดูแลเพียง 2 กองบังคับการ คือ กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) และ กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ (คอมมานโด)


ต่อมา พลตำรวจโท กรไชย คล้ายคลึง หรือบิ๊กแจง ผู้บัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้เลื่อนขึ้นไปเป็นตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.


'บิ๊ก ต.' จึงส่งลูกน้องเข้าไปดูแลงานใน สอท.แทน ซึ่งมีผลประโยชน์มากมายมหาศาล เพราะดูแลเว็บไซต์พนันออนไลน์ทั้งใน และต่างประเทศ


3 หน่วยงานนี้ คือ หน่วยงานหลัก ที่เก็บส่วยให้กับนายตำรวจระดับสูง หรือที่เรียกว่า 'ตีตั๋ว' จาก 18 ธุรกิจสีเทา-สีดำ ได้แก่

1. เว็บพนัน


2. บ่อนการพนัน-ไพ่


3. เงินกู้ไทย-แขก


4. หวยใต้ดิน


5. สถานบันเทิง สถานบริการ ผับ


6. ร้านนวดแฝงขายบริการ


7. อาบอบนวด


8. โรงซาวน่า


9. ร้านเหล้าที่มีพีอาร์


10. บุหรี่ไฟฟ้า


11. บุหรี่หนีภาษี


12. ตลาดนัด


13. สถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าว


14. จุดรับซื้อน้ำมันเถื่อน


15. น้ำมันเขีย


16. โต๊ะสนุ๊ก


17. แขกขายโรตี


18. คนขายยา และธุรกิจขายเซ็กซ์ออนไลน์


ทั้งนี้ จะมี 'ทีมแม่บ้าน' จำนวน 5 ทีม ทำหน้าที่ดูแลเรื่องเงิน แบ่งตามชุดที่เก็บเงินได้มากที่สุด คือ


1. ชุดภาคตะวันออก มี 'จ่า ก.' เป็นหัวหน้าชุดแม่บ้าน ในทีมีดาบ ท. ดาบ พ. ดาบ ต. และดาบ จ. ส่งตั๋วเดือนละ 8-9 ล้านบาท


2. ดูแลภาค 3 ภาค 4 และภาค 7 หรือโซนอีสานตอนบน กับภาคใต้ตอนบน มี 'ดาบ ช.' เป็นแม่บ้าน


3. ดูแลภาค 1 หรือรอบกรุงเทพ และนครบาลบางพื้นที่ มี 'ดาบ ส.' เป็นแม่บ้าน


4. ดูแลภาค 5 และ ภาค 6 คือโซนภาคเหนือ และอีสานตอนบน มี 'ดาบ บ.' เป็นแม่บ้าน


5. ดูแลภาค 8 และ ภาค 9 คือ โซนภาคใต้ พื้นที่นี้เก็บได้ไม่เยอะ จึงใช้วิธีเหมาจ่าย เช่น เหมาเดือนละแสนเป็นต้น ที่เหลือเอาไป มี 'ดาบ ย.' เป็นแม่บ้าน


ทั้ง 5 ทีม จะโอนเงินเข้าบัญชีม้า 3 บัญชีหลัก ได้แก่


1. บัญชีชื่อ นายณัฐพงค์ มี 'ดาบ ย.' เป็นผู้ดูแล


2. บัญชีชื่อ นายมงคล มี 'ดาบ ย.' เป็นผู้ดูแล


3. บัญชีชื่อ นายคชาชาญ มี 'รอง ฟ.' เป็นผู้ดูแล


นอกจากนี้ ยังมี 'จ่า ก.' ที่ถือบัญชีม้าอีก 4 บัญชี เป็นบัญชีของคนตาย 2 บัญชี และทั้งหมด ต้องส่งเงินให้นายตำรวจใหญ่ ทุกวันที่ 25 ของเดือน


ส่วนจุดรับเงิน มี 2 แห่ง คือ


1. สอท. เมืองทองธานี ในห้องทำงานของ รองผู้บัญชาการ ซึ่งมีห้องทำงานของ  'รอง ฟ.' อยู่


2. อาคารคอมมานโด กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ บอกว่า อยู่ที่ชั้น 6 ห้อง ในสุด คือ จุดที่รับเงินมี 'ดาบ ย.' คอยอยู่

------------------

ทนายตั้มนำ 1 หลักฐานสำคัญมาเปิด คือ ภาพแชทไลน์ของทีมเก็บเงิน ที่คุยกับ 'ดาบ ย.' ส่งหลักฐานการโอนเงินไป ซึ่งสลิปที่นำมาแสดงอยู่ในช่วงปี 2565


และหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า 'ดาบ ย.' และ 'รอง ฟ.' เกี่ยวพันแน่นอน คือ วงจรปิดวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ที่ปั๊ม ปตท.แห่งหนึ่ง จะเห็นชายคนหนึ่งที่ถูกระบุว่าเป็น 'บัญชีม้า' ขับรถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ที่มีชื่อของ พ่อ 'รอง ฟ.' มากดเงิน และมีภาพของ 'ดาบ ย.' มายืนกำกับด้วย


จากการตรวจสอบเส้นเงิน พบว่า มีเส้นเงินของ พิมพ์วิไล ผู้ต้องหาคดีเว็บพนัน โอนเงินผ่านบัญชีม้าของตัวเอง ไปยังบัญชีของ 'คชาชาญ' บัญชีม้าที่ 'รอง ฟ.' ถือ แล้วโอนต่อไปยัง พี่สาว ญาติ สมาคมนักข่าว และวัดแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนนทบุรีด้วย โดยวัดแห่งนี้ มีชื่อของ 'บิ๊ก ต.' เป็นประธานทอดกฐิน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ด้วย


จากนั้น ทนายตั้มถามคนในไลฟ์ว่า จะให้แจ้งความที่ไหนดี กับใครดี และมีความเห็นเสนอมาว่า ให้ร้องเรียนไปที่ 'บิ๊กเต่า' พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จึงได้ต่อสายโทรศัพท์ไปทันที บอกว่า จะนำเอกสารไปแจ้งความกับ 'บิ๊กเต่า' โดยตรง


แต่ 'บิ๊กเต่า' บอกว่า วันนี้ มาทำจิตอาสาที่ชะอำ ไม่สะดวก สามารถไปยื่นได้ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งทนายตั้มปฏิเสธ พร้อมร้องขอว่า ต้องการจะยื่นกับ 'บิ๊กเต่า' โดยตรง จึงนัดหมายว่า จะไปยื่นวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคมนี้ ประมาณ 11 โมง เพื่อดำเนินคดีกับตำรวจที่ปรากฎว่าเกี่ยวข้องกับส่วย

--------------

ทนายตั้มได้เปิดให้นักข่าวถาม


นักข่าวหลายสำนักถามว่า ข้อมูลเหล่านี้มีใครให้มา
ทนายตั้ม บอกว่า หลายคนอาจสงสัยว่า 'บิ๊กโจ๊ก' หรือไม่ เพราะเห็นว่าสนิทกัน ยืนยัน ไม่ใช่ 'บิ๊กโจ๊ก' แต่ 'บิ๊กโจ๊ก' โทรศัพท์มาบอกว่า "อย่าเปิด ถ้าเปิดไป เขาจะไม่ได้กลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ"


ยืนยันข้อมูลที่นำมาเปิดเผยครั้งนี้ ไม่ได้รับงานใครมา และไม่ได้มีใครอยู่เบื้องหลัง แต่ต้องการให้สังคมรับรู้ข้อมูล แม้จะรู้ว่าอาจได้รับอันตรายจากการออกมาเปิดเผย 


ทนายตั้ม ยังบอกด้วยว่า ก่อนแถลงข่าว มีนายตำรวจใหญ่ที่เพิ่งรับตำแหน่งติดต่อมาเพื่อขอทราบข้อมูล ไม่ได้ขอให้ยกเลิกการแถลงข่าว


ทนายตั้ม ย้ำด้วยว่า ถ้าตำรวจจะโกรธ ควรไปโกรธนายตำรวจใหญ่ ที่เอาชื่อขององค์กรมาแอบอ้างหาผลประโยชน์


หากนายเศรษฐา ทวีวิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เห็นการแถลงข่าว และเห็นว่าข้อมูลที่นำมาเปิดเผยมีประโยชน์ ต้องการขอข้อมูลเพิ่มเติม ก็ยินดีจะเข้าไปพบด้วย

------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/oyaARgVtxF0

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ทนาย ษิทรา เบี้ยบังเกิด ,บิ๊กโจ๊ก ,บิ๊กเต่า ,ทนายตั้ม ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ,แฉบิ๊กตำรวจ ,กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) ,กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ (คอมมานโด) ,กองบัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ,เศรษฐา ทวีวิน ,พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ ปานแก้ว

คุณอาจสนใจ

Related News