สังคม

'รองแต้ม' ยันไม่ติดนโยบาย 'ผู้เสพเป็นผู้ป่วย' แต่กำหนดปริมาณเม็ด ทำให้รัฐส่งเสริมการเสพ

โดย nattachat_c

12 มี.ค. 2567

155 views

วานนี้ (11 มี.ค. 67) จากกรณีที่ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือ 'ผู้การแต้ม' อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567


หรือกฎหมายใหม่ ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า การครอบครองยาเสพติดต่ำกว่ากำหนด เช่น ยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด หรือยาไอซ์ไม่เกิน 100 mg เป็นการครอบครองเพื่อเสพ ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ป่วย ว่า เป็นกฎกระทรวงที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใดหรือไม่ อันนำมาสู่การสั่งเพิกถอนกฎกระทรวงต่อไป

-------------

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า


ตนไม่มีความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับการยื่นให้ตรวจสอบกฎหมายดังกล่าว เพราะว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่ influencer แต่ถึงยังไง ความเห็นของ influencer หากพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ไม่มีผิดถูก


พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ เน้นย้ำว่า

ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อปี 2564 นั้น ถือว่าเป็นหลักกฎหมายที่สอดคล้องกับสากล และยืนยันว่า สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้จริง


ซึ่งในประเด็นการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ครอบครองยาเสพติดจำนวนเท่าใดถือว่าเป็นผู้เสพนั้น หากมองย้อนไปก่อนหน้านี้ กฎหมายกำหนดให้สันนิษฐานผู้ที่ครอบครองยาบ้า 15 เม็ด เป็นผู้เสพด้วยซ้ำ ส่วนจำนวนยาบ้า 5 เม็ดนั้น เพิ่งมาเริ่มมีในยุคสมัย คสช. แต่ไม่มีสภาพบังคับ เพิ่งมีสภาพบังคับจริงจัง ก็จากการประกาศกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว


ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ครอบครองยาบ้า 5 เม็ด หรือยาเสพติดจำนวนที่กฎหมายกำหนด จะไม่ได้รับโทษ หรือไม่มีความผิด  


จริง ๆ แล้วผู้ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด หรือยาเสพติดจำนวนที่กฎหมายกำหนด ยังคงมีความผิดตามกฎหมาย แต่ให้สันนิษฐานไว้ว่าเป็นผู้เสพ เพื่อเพิ่มทางเลือกว่า หากสมัครใจเข้ารับการบำบัดจนหายขาด และแพทย์รับรอง ก็จะไม่ได้รับโทษตามกฎหมาย แต่หากไม่สมัครใจเข้ารับกระบวนการบำบัด ก็ยังคงมีความผิดฐานครอบครองยาเสพติดต่อไป


พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบนี้ถือว่าตรงจุดแล้วและเชื่อว่า จะไม่เพิ่มจำนวนพ่อค้ารายย่อยตามชุมชนต่าง ๆ อย่างแน่นอน  

ซึ่งที่ผ่านมานั้น ปัญหาสำคัญหลังจากประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ คือ การไม่ใส่ใจ และจริงจังของหน่วยงานราชการ จนทำให้ผู้เสพซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยนั้น ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดอย่างถูกต้อง และกระบวนการบำบัด ก็ไม่จริงจัง จนเกิดปัญหาผู้เสพหลุดออกมาคลุ้มคลั่ง ตามที่ปรากฏในข่าว


รัฐบาลปัจจุบันจึงได้เพิ่มความเข้มงวด และสั่งการมายัง ป.ป.ส. ให้แก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปตามกฎหมายใหม่ โดยเฉพาะการนำผู้เสพยาตามชุมชนต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการบำบัด เพื่อคืนพวกเขากลับสู่สังคม


ซึ่งตนมองว่า ที่ผ่านมา อาจจะมองว่ากระบวนการบำบัดผู้เสพยาเสพติดไม่ได้ผล ก็เนื่องจากความไม่จริงจังของภาครัฐในสมัยก่อน และการนำผู้เสพไปบำบัด แต่ไม่ได้ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้ให้โอกาสเขากลับคืนสู่สังคม จนทำให้เขาขาดทางเลือก แล้วกลับไปเสพยาเสพติดมาอีกครั้ง


จึงเชื่อว่า การแก้ไขยาเสพติดด้วยวิธีการเปิดใจ ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าถึงปัญหา และพูดคุยกับประชาชนในชุมชนต่าง ๆ นั้น จะสามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างจริงจัง มากกว่าการสั่งการอย่างเดียว เพราะถึงแม้ว่า การทำให้ยาเสพติดลดลง แต่ก็ไม่ช่วยทำให้ผู้เสพลดลง


ดังนั้น จึงมองว่า การที่ผู้การแต้มให้ความเห็นว่า ไม่มีการบำบัดอย่างจริงจัง และแก้ปัญหาไม่ถูกจุดนั้น ก็ถือว่าเป็นความคิดเห็นของผู้การแต้ม ซึ่งตนยินดีรับฟัง และก็ให้เกียรติ ในฐานะที่เป็นอดีตนายตำรวจ

แต่ยืนยันว่า ทุกวันนี้ ป.ป.ส.และรัฐบาล ก็ปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวดด้วยหลักสากล และพร้อมที่จะไปให้ข้อมูลกับผู้ตรวจการแผ่นดินในเชิงวิชาการ หากได้รับเชิญให้ไปให้ข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบกฎกระทรวงดังกล่าว

-----------------

หลังจากที่ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ไม่มีความเห็นใด ๆ ในกรณีที่ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ (ผู้การแต้ม) อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขเรื่องยาบ้า 5 เม็ด


โดยยืนยันว่า กฎกระทรวงดังกล่าว เป็นไปตามหลักสากลที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน และปราบปราม ยาเสพติด และตอบโต้ว่า เป็นการแก้ปัญหาอย่างถูกจุดนั้น

-----------------

วานนี้ (11 มี.ค. 67) ทีมข่าวอาชญากรรม ช่อง 3 ได้สัมภาษณ์กับ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือ รองแต้ม อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถึงประเด็นดังกล่าว


รองแต้ม ยืนยันว่า ตนไม่ติดขัดใด ๆ กับแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ผู้เสพเท่ากับผู้ป่วย แต่การที่จะกำหนดว่าใครเป็นผู้เสพนั้น ต้องไม่มีการกำหนดปริมาณยาเสพติด เพราะนอกจากจะทำให้ปัญหายาเสพติดเลวร้ายหนักกว่าเดิม ยังเสมือนเป็นการส่งเสริมการครอบครองยาเสพติดโดยภาครัฐ  


พร้อมย้ำว่า การกำหนดปริมาณยาเสพติดตามกฎกระทรวงฉบับใหม่ เป็นช่องโหว่ที่ทำให้ผู้ที่ถูกจับกุมยาเสพติดในปริมาณตามกฎหมาย ใช้เป็นข้อต่อสู้ที่ทำให้ตัวเองรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดี


เมื่อถูกจับกุมก็สามารถอ้างได้ว่า มีไว้เพื่อเสพ และเลือกที่จะสมัครใจเข้ารับการบำบัด เพื่อไม่ให้ถูกรับโทษตามกฎหมาย ต่อให้มีการโต้แย้งว่า ยังไงก็ต้องมีการสืบสวนสอบสวนเพื่อเอาผิดข้อหาจำหน่าย แต่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90 วางหลักว่า ต้องพบพฤติการณ์มีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย ซึ่งจากประสบการณ์ของตนนั้น ก็ไม่มีทางที่ใครรับสารภาพว่า มีไว้เพื่อจำหน่าย


อีกทั้ง ข้อมูลของชุดสืบสวนที่นำมามัดตัวผู้กระทำความผิดว่ามีไว้เพื่อจำหน่ายจริง หากข้อมูลไม่แน่นพอ หรือไม่มีข้อมูล ก็ไม่สามารถเอาผิดได้ สุดท้ายก็ทำให้ผู้นั้นถูกดำเนินคดีแค่ครอบครองยาเสพติด  ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี


ที่ผ่านมา ผู้ต้องหามักจะรับสารภาพในชั้นศาล เพื่อให้ถูกรอลงอาญา ไม่ติดคุกจริง แล้วก็หลุดออกมาเสพยาเสพติดเป็นปัญหาสังคมต่อไป ยิ่งมีกฎกระทรวงฉบับนี้ ก็จะยิ่งทำให้คนที่ถูกจับกุม เลี่ยงที่จะเข้าสู่กระบวนการบำบัด และได้รับการปล่อยตัวออกมา ไม่ต้องรับผิดใด ๆ


รองแต้ม ยังย้ำผลเสียของกฎกระทรวงฉบับนี้ ว่า จะทำให้ผู้เสพเพิ่มมากขึ้น   ปัญหาอาชญากรรมเกิดมากขึ้น ส่งเสริมให้มีผู้ค้ารายย่อยจำนวนมากขึ้น เปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตมากยิ่งขึ้น และเลวร้ายที่สุดคือ ทำให้รัฐกลายเป็นผู้ส่งเสริมการครอบครองยาเสพติด เพราะมีเพดานการครอบครองขั้นต่ำ


รองแต้ม ยังมองอีกว่า การที่รัฐยังเน้นย้ำที่จะใช้นโยบายตามกฎกระทรวง เพียงเพราะแก้ปัญหาคนล้นคุก และให้โอกาสแก่ผู้ที่เสพยาเสพติดนั้น เป็นเพียงแค่ถ้อยคำที่สวยหรู เพราะมีอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ เรื่องกระบวนการบำบัดยาเสพติด ที่ ณ ตอนนี้ ยังไม่เห็นข้อมูลว่า สามารถบำบัดผู้เสพยาเสพติดได้จริงกี่ราย และสถานบำบัดยาเสพติดที่ถูกต้องมีที่ไหนบ้าง


เพราะจากข้อมูลที่มี พบเพียงแค่ว่า มีสถานบำบัดยาเสพติดทั่วประเทศ 113 แห่ง แต่เป็นเพียงแค่สถานที่รับยาไปบำบัดเองที่บ้าน  ยังไม่รวมถึงนโยบายมินิบำบัดของรัฐบาล ที่ให้ใช้สถานที่ศูนย์กลางของชุมชน เช่น ให้วัดเป็นที่บำบัดยาเสพติด ซึ่งส่วนตัวมองว่า ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และไม่ช่วยให้ผู้เสพยาเลิกยาได้จริง


สถานบำบัดยาเสพติดที่ถูกต้องนั้น ควรจะต้องเป็นสถานที่ขนาดใหญ่ ห่างจากชุมชน และพากลุ่มคนที่เสพยาเสพติดมาอยู่รวมกัน ผ่านการอบรม และการรักษา ตรวจโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด และให้ยาถอนยาเสพติด ก่อนที่แพทย์จะประเมินว่าหายเป็นปกติ สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ แต่ยังไม่เห็นว่า มีสถานที่บำบัดแบบนี้ในประเทศ  และนั่นจึงทำให้เกิดปัญหาคนเสพยาที่เข้าสู่กระบวนการบำบัด กลับมาติดยาอีกซ้ำซาก จนเป็นปัญหาของสังคม


รองแต้ม ยืนยันว่า จะต่อสู้กับกฎกระทรวงฉบับนี้ต่อไป และพร้อมที่จะไปดีเบตหรือพูดคุยกับทุกหน่วยงาน ทั้ง ป.ป.ส. และกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับประเด็นเรื่องของยาเสพติด

-------------
วานนี้ (11 มี.ค. 67)  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ  อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณี สธ.ออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 เนื่องจากเห็นว่ากฎกระทรวงดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และจะยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ถอดถอนความเป็นรัฐมนตรีด้วย ดังนี้


นพ.ชลน่าน ระบุว่า ตนไม่ได้กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้  “เพราะเราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เราก็พิสูจน์ในสิ่งที่เราทำนั้น  อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่ไว้ และกระบวนการออกกฎกระทรวงก็ทำตามกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย ไม่ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจในการออกประกาศฉบับนี้”


นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในการที่จะถอดถอนนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีอำนาจในการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)


อย่างไรก็ตาม ตนยินดีที่จะเข้าไปชี้แจง อย่างเช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่รับข้อมูลไว้ หากนัดหมายมาเมื่อไร ก็พร้อมเข้าไปให้ข้อมูล ตอบข้อชี้แจง และข้อกล่าวหา


โดยเฉพาะประเด็นที่บอกว่า ไปออกกฎกระทรวงขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย คนครอบครองติดคุก คนเสพเท่านั้นถึงจะได้รับการบำบัดรักษา แต่กฎหมายฉบับนี้ คำว่า “คนเสพที่ได้รับการบำบัดรักษา” หมายถึง ผู้ถือครองในปริมาณเล็กน้อยตามที่กฎหมายกำหนด ถึงจะได้เข้ารับการบำบัดรักษา นี่คือสิ่งที่เราจะชี้แจงทำความเข้าใจได้ ยืนยันว่า เราไม่ได้อนุญาตให้ถือครอง แต่ให้โอกาสในการเข้าสู่การบำบัด หากไม่เข้ารับการบำบัด จะติดคุก มีความผิด แต่หากสมัครใจก็รับบำบัด เมื่อบำบัดครบได้หนังสือรับรอง ถึงจะไม่มีความผิด


นพ.ชลน่าน กล่าวย้ำว่า

เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารให้ประชาชนให้ทราบถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายยาเสพติด ในการแยกผู้เสพเป็นผู้ป่วย เพื่อตัดวงจรการค้ารายย่อย ซึ่งมีข้อมูลว่า มีผู้เสพอยู่กว่า 1.9 ล้านคน ซึ่งก็ให้โอกาสเข้าบำบัด ไม่ถูกตีตราเป็นคดี เมื่อสมัครใจเข้ารับการบำบัดครบตามกระบวนการ


“เราต้องสื่อสารเรื่องนี้ให้เข้าใจ คนที่เจตนาบิดเบือนเพื่อหวังผลประโยชน์อื่น เราก็ต้องพยายามต่อสู้ให้เขาเหล่านั้นกลับมาเห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมือง เห็นแก่ลูกหลาน เยาวชน เป็นปัญหาที่เราต้องรีบแก้ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะสื่อมวลชน การสื่อสารนั้น หากสื่อสารโดยการพูดครึ่งเดียว ก็จะทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้”


นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งมินิธัญรักษ์ หรือสถานบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน และทำงานร่วมกับชุมชน ขณะนี้ มีเกือบ 160 แห่ง แล้ว มีผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาเพิ่มขึ้นเปรียบเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา


ในส่วนของชุมชนล้อมรักษ์ ที่ตนเพิ่งจะลงพื้นที่ไปที่ อ.ควนกาหลง จ.สตูล พบว่า มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษา 37 คน โดยมีผู้ผ่านบำบัด และได้รับการรับรองแล้ว 5 คน และมี 2 ใน 5 ยืนยันว่า ตั้งใจบำบัด และจะไม่กลับไปเสพซ้ำ และจะตั้งใจทำงาน

-------------

คุณอาจสนใจ

Related News