สังคม
จับข้าราชการซี 7 ทำเอกสารจัดซื้อทิพย์ ฮั้วบริษัทลูกเขย-ลูกสาว เสียหายกว่า 51 ล้านบาท
โดย thichaphat_d
8 ธ.ค. 2566
786 views
เจ้าหน้าที่ 4 ป. ผนึกกำลังบุกจับข้าราชการ C7 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำเอกสารจัดซื้อจัดจ้างทิพย์ ฮั้ว 2 บริษัทของลูกสาว-ลูกเขย ตรวจสอบย้อนหลัง 10 ปี เสียหายกว่า 51 ล้านบาท – ป.ป.ท. เผย แผนประทุษกรรม บอกเจ้าตัวใช้ช่องว่างความชำนาญ พร้อมปลอมลายเซ็น ผอ.-คกก.ตรวจรับ
วานนี้ (7 ธ.ค.66) เจ้าหน้าที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับ เจ้าหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) / เจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และเจ้าหน้าที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมกันนำกำลังเข้าตรวจค้นภายในสถาบันชีววิทยาทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อจับกุมนางจรรยา นักวิชาการพัสดุ C7 หลังได้รับการร้องเรียน ว่ามีเจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมทุจริตในการปลอมแปลงเอกสารเบิกจ่ายงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2556 จนถึงปีงบประมาณ 2566 ระยะเวลา 10 ปี รวมความเสียหายทั้งสิ้น 51,360,886.41 บาท
โดยเจ้าหน้าที่ได้นำหมายค้นรวม 6 จุด ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นนทบุรี, สมุทปราการ, กทม. และ จ.พระนครอยุธยา จากการตรวจค้นพบทรัพย์สินและเอกสารเบิกจ่ายทิพย์จำนวนมาก สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 ราย ประกอบด้วย
1.นางจรรยา อายุ 54 ปี นักวิชาการพัสดุ ฝ่ายบริหารหัวไป
2.นางรัตนาภรณ์ อายุ 32 ปี เจ้าหน้าที่งานธุรการชำนาญงานฯ เป็นลูกสาวนางจรรยา ตำแหน่งเป็นลูกน้องนางจรรยา และเป็นเจ้าของ บ.อักษรย่อ G ที่จัดซื้อจัดจ้างทิพย์
3.นายอานนท์ อายุ 32 ปี สามีนางรัตนภรณ์ และเป็นเจ้าของ บ.อักษรย่อ N ที่จัดซื้อจัดจ้างทิพย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหา "ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น"
ซึ่งสามารจับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางเป็น เงินสด จำนวนกว่า 4.6 ล้านบาท // อาวุธปืนออโตเมติกและลูกโม่ จำนวน 6 กระบอกพร้อมเครื่องกระสุนปืนจำนวน 40 นัด // โฉนดที่ดิน จำนวน 6 ฉบับ // รถยนต์จำนวน 4 คัน // รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ (DUCATI กับ HARLEY) จำนวน 2 คัน // นาฬิกา ROLEX จำนวน 6 เรือนและกระเป๋าแบรนด์เนมจำนวน 16 ใบ // พระเลี่ยมทอง 10 องค์ // เบื้องต้น นางจรรยา ให้การรับสารภาพ ส่วนลูกสาวและลูกเขย ยังคงให้การปฏิเสธ มีเพียงรับสารภาพข้อเท็จจริงบางส่วน พร้อมกับอธิบายว่าทำไมถึงทำ
ต่อมาหน่วยงานทั้ง 4 ป. ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เปิดเผยว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้รับใบสนเท่ห์ ว่ามีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเขียนรายงานมาแค่ 4 บรรทัด ที่มีการส่งข้อมูลมาให้ ป.ป.ท.ว่า ว่า “ด้วยมีรายชื่อหนึ่งรายชื่อ อยู่ที่ฝ่ายบริหาร สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการจัดซื้อวัสดุ โดยวิธีเจาะจงกับร้านที่ร่วมกระทำความผิดบ่อยครั้ง แต่ละครั้งยอดนั้นไม่เกิน 100,000 บาท ที่อยู่ของร้านนั้น อยู่ที่เดียวกับบ้านของผู้ที่กระทำความผิดรายนี้ ขอให้ช่วยไปดำเนินการตรวจสอบให้หน่อย”
จากข้อมูล 4 บรรทัดนี้ ทำให้มีการขยายผล ตรวจสอบ จนนำไปสู่การขอหมายศาล เพื่อออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนแผนประทุษกรรมครั้งนี้ พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผอ.กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 อธิบายว่า เมื่อรับเรื่องร้องเรียน ก็เข้าไปตรวจเอกสาร กับท่านรักษาราชการแทน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และแผนประทุษกรรมของตัวผู้ต้องหา และพวก โดยสิ่งที่น่าสนใจคือฎีกาในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งผู้ก่อเหตุมีการใช้การกระทำซ้ำๆ และเลขหนังสือเป็นเลขเดียวกันทั้งหมด รวมทั้งตัวนางจรรยา กับคณะกรรการตรวจไม่สอดคล้องกัน จึงดำเนินการตรวจสอบย้อนทั้งหมดแล้วพบว่ามีการกระทำที่เป็นการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างจริง
ขณะเดียวกันยังพบว่าจัดซื้อจัดจ้าง มีการจัดซื้อจัดจ้างกับ บริษัท อักษรย่อ N ที่เป็นของลูกเขย โดยมีลูกสาวที่มีตำแหน่งเป็นลูกน้องของตัวเองรู้เห็น นอกจากนี้ลูกสาวของนางจรรยา ยังเป็นเจ้าของบริษัท อักษรย่อ G ด้วย
จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการย้อนตรวจสอบเริ่มต้นจากปี 2566 และพบว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างกับทั้งสองบริษัทนี้ซ้ำไปซ้ำมา โดย บ.อักษรย่อ N จำนวน 44 ครั้ง รวมเป็นเงิน 4,386,313.06 บาท ส่วน บ.อักษรย่อ G พบจำนวน 45 ครั้ง รวมเป็นเงิน 4,479,327.09 บาท รวม 2 บริษัท มีการซื้อทั้งหมด 99 ครั้ง รวมเป็นเงิน 8,865,640.15
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังมีการตรวจสอบย้อนหลัง 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2556-2566 มีการ จัดซื้อจัดจ้างกับ 2 บริษัทนี้ซ้ำไปซ้ำมารวม 721 ครั้ง รวมเป็นเงิน 51,360,886.41 บาท โดยหลักจากที่ผู้ต้องหารู้ตัว ว่าถูกตรวจสอบ พยายามปิดบริษัทแล้วรีบถ่ายเททรัพย์ทันที เช่น ถอนเงินสดออกจากบัญชี ซึ่งตำรวจก็สามารถจับของกลางเป็นเงินสดได้เช่นกัน
เมื่อถามว่าหากพบว่านางจรรยา ทำมากว่า 721 ครั้ง ในระยะเวลากว่า 10 ปี ในส่วนของฝ่ายบัญชีหรือหน่วยงานไม่สงสัยเลยหรือ พ.ต.อ.สิทธิพร ผอ.กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 บอกว่า เป็นคำถามเดียวกันที่ตนถามกับ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าจะไม่รู้เลยหรือ แต่เมื่อเราไปตรวจในส่วนของฎีกาแล้ว ต้องยอมรับเลยว่า นางจรรยา เป็นหัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นหัวหน้าและชำนาญ คุมทุกกระบวนการ จึงรู้ช่องว่างว่าจะทำตรงไหน ซึ่งมีทั้งการปลอมชื่อ ปลอมลายเซ็นบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการ รวมทั้งคนที่ตรวจรับตรวจจ้าง อีก 3 คน ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างและงบประมาณพบว่าเป็นคนตั้งเรื่องเองอีกด้วย
นอกจากนี้ ผอ.กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 ยังกล่าวถึงเรื่องงบประมาณของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ แต่นี่ขอบอกเลยว่าคือ LAB ประเทศไทยตัวจริง เพราะฉะนั้นงบประมาณเยอะ และ สามารถใช้เงินนอกงบประมาณได้ สำคัญที่สุดคือพัสดุวิทยาศาสตร์ ดังนั้นตัวนางจรรยา คือพัสดุของศูนย์ 1 ใน 19 ศูนย์ทั่วประเทศไทย
โดยตัวนางจรรยาเอง จะอาศัยช่องว่างในการใช้งบประมาณ เช่น ใน 1 ปี มีการให้งบประมาณมา 10 ล้านบาท แต่นางจรรยาใช้วิธีการเสนอซื้อ โดยเอางบประมาณของคนอื่นมาใช้ให้หมดก่อนด้วยการปลอมลายเซ็น ผอ. และคณะกรรมการตรวจรับที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ในสำนักงาน โดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่อง จากนั้นนางจรรยาจะทำให้งบประมาณก้อนนี้หมดไปให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดปัญหาว่าไม่สามารถทำการจัดซื้อจัดจ้างได้ จากนั้นเจ้าตัวจะไปฟ้อง ผอ.ศูนย์ ส่วนนักวิทยาศาสตร์คนอื่นก็ไปเรียกร้องว่าเงินงบประมาณไปไหน ทำไมไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ จากนั้นก็จะมีการของบประมาณเพิ่ม นี่คือช่องว่างที่นางจรรยาใช้
เมื่อถึงขั้นตอนการทำเอกสาร และเอกสารมีลายเซ็นครบ จากนั้นส่งเอกสารไปฝ่ายคลัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายคลังมีหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสารเท่านั้นว่าครบหรือไม่ เมื่อเอกสารครบก็จะจ่ายเงินตามเอกสาร ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเอกสารจริงหรือปลอม แต่ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่นางจรรยากล้าปลอมลายเซ็นของ ผอ. และกรรมการตรวจรับ รวม 3 ท่าน
พร้อมกันนี้ ยังพบว่ากรณีนี้มีช่องว่างทางระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้นางจรรยา พบช่องทางในการทุจริตคือใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการเฉพาะเจาะจงงบประมาณไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งหากเป็นการจัดซื้อจัดจ้างงบประมาณในยอดไม่เกิน 100,000 บาท นางจรรยา ตามตำแหน่งสามารถทำได้จึงจะใช้วิธีการการนี้ในการหาชิ่งว่างทุจริต
ส่วนการเลือกซื้อสินค้านส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์แบบชิ้นเล็กๆ ประเภทสิ้นเปลือง เช่น น้ำยาเคมี ชุดตรวจสารคัดหลั่ง ซึ่งเหล่านี้เป็นวัสดุวัสดุชิ้นเล็กสิ้นเปลือง และมีราคาสูง โดยผู้ต้องหาสามารถกระทำการได้แต่เพียงผู้เดียวมาตลอดหลายปีเพราะมีอำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่อง นี้แต่เพียงผู้เดียว
เมื่อถามว่า ผอ.ประจำศูนย์ไม่รู้เลยใช่หรือไม่ พ.ต.อ.สิทธิพร ระบุว่า ผอ.ศูนย์ เกิดความสงสัย แต่ ผอ.มีการเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ ผอ.บางท่าน ที่เกิดความสงสัยจึงได้เรียกนางจรรยามาสอบถามเมื่อสอบถามนางจรรยาก็มีการอ้างไปเรื่อยๆ
ขณะที่นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังได้รับการร้องเรียนผ่านบัตรสนเท่ห์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้รีบประสานงานกับทาง ป.ป.ท.ให้ตรวจสอบในทันที เมื่อผลการตรวจสอบออกมาแล้ว ในเบื้องต้นก็ยอมรับว่า ได้สร้างความเสียหายต่อรัฐจำนวนมาก ยืนยันว่า หลังจากนี้จะยังมีการขยายผลว่า มีใครรู้เห็นหรือได้ผลประโยชน์กับกลุ่มผู้ต้องหาด้วยหรือไม่หากพบก็จะไม่มีการละเว้นเด็ดขาด
เมื่อถามว่าจากนี้ จะมีการส่งสัญญาณถึง 18 ศูนย์ที่เหลือหรือไม่ นายแพทย์ยงยศ บอกว่า ไม่จำเป็นต้องส่งสัญญาณ เพราะทุกคนต้องปฎิบัติหน้าที่โดยสุจริตอยู่แล้ว
ด้านนายภูมิวิศาล ฝากถึงหัวหน้าหน่วยราชการเพราะส่วนใหญ่เวลาเกิดเรื่องทุจริตในหน่วยงาน มักบอกว่า ไม่กล้าดำเนินการทางปกครองหรือวินัยเพราะกลัวถูกฟ้อง ตนขอเรียนว่า ในการแก้ไขปัญหาทุจริตของต้นทาง หัวหน้าหน่วยงาน เมื่อทราบเรื่อง ท่านมีอำนาจในการดำเนินการทางปกครองและวินัย ท่านสามารถโยกย้ายคนได้ แต่ประเด็นอยู่ที่ท่านหรือไม่ อย่างเคสนี้หัวหน้าหน่วยงานดำเนินการได้อย่างเด็ดขาด
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/kcDI571c1eM
แท็กที่เกี่ยวข้อง ทุจริต ,ฮั้วประมูล ,กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ,ข้าราชการซี7