สังคม

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย เพจขายลอตเตอรี่ออนไลน์ปลอมระบาดหนัก

โดย gamonthip_s

5 พ.ย. 2566

100 views

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีที่มีผู้เสียหายถูกรางวัลจากการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ (Lottery) แต่ไม่ได้รับเงินรางวัล เนื่องจากภายหลังพบว่าตนถูกหลอกลวงให้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ผ่านเพจเฟซบุ๊กปลอมของมิจฉาชีพ ซึ่งได้ถูกปลอมเป็นผู้ให้บริการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ออนไลน์ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง นั้น



การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงในรูปแบบเดิม ๆ ที่ผ่านมามิจฉาชีพมักจะปลอมเพจเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อเหมือน หรือใกล้เคียงกับเพจจริง แอบอ้างใช้สัญลักษณ์บริษัท หรือหน่วยงานนั้น ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นเพจปลอมหลอกลวงขายสินค้า หรือบริการออนไลน์ เพจหน่วยงานราชการปลอม เพจบริษัทห้างร้านปลอม เพจสถาบันการเงินปลอม เพจที่พักปลอม เป็นต้น



นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 25 9.ค.66 มีประชาชนถูกหลอกลวงซื้อขายสินค้า และบริการออนไลน์ สูงเป็นลำดับที่หนึ่งกว่า 140,836 เรื่อง หรือคิดเป็น 40.27% ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีความเสียหายรวมกว่า 2,041 ล้านบาท  



บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้า หรือบริการออนไลน์



โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการใช้งาน หรือเข้าถึงบริการต่าง ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างการติดต่อกับหน่วยงาน หรือร้านค้าออนไลน์ต่าง ๆ ควรตรวจสอบช่องทางเหล่านั้นให้ดีเสียก่อนว่าเป็นของหน่วยงาน หรือร้านค้านั้นจริงหรือไม่ ขอให้ประชาชนมีสติ ไม่หลงเชื่อง่ายๆ แม้ว่ามิจฉาชีพจะเปิดเพจใหม่ที่เหมือนเพจจริงมาหลอกลวงอย่างไร ถ้ามีประชาชนมีสติ ไม่หลงเชื่อ ตรวจสอบอย่างรอบคอบเสียก่อน ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้อย่างแน่นอน



อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา บช.สอท. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center) หรือศูนย์ AOC 1441 ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อ 1 พ.ย.66 ที่ผ่านมา เพื่อให้มีการบูรณาการในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ มีศูนย์ One Stop Service สามารถดำเนินการอายัดบัญชีของมิจฉาชีพให้แก่ประชาชนได้ทันที รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับคดีออนไลน์ ผ่านสายด่วน 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง



ทั้งนี้ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้


1.ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง

2.หากจะซื้อสินค้าผ่านเพจเฟซบุ๊ก ต้องระมัดระวังเพจปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบของมิจฉาชีพ โดยเพจจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง บัญชีถูกสร้างขึ้นมานานแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนชื่อที่น่าสงสัย และมีรายละเอียดการติดต่อที่ชัดเจน สามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้

3.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือไม่ หากไม่ได้อยู่ในประเทศอาจจะเป็นมิจฉาชีพ

4.ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบชื่อบัญชี และหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, Blacklistseller เป็นต้น ในกรณีนี้ควรโอนเงินชำระค่าสลากผ่านบัญชีบริษัทเท่านั้น หากเป็นชื่อบุคคลธรรมดาให้สันนิษฐานว่าเป็นบัญชีม้าของมิจฉาชีพ

5.หากมีการให้โอนเงินไปเพิ่มเติม โดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียม ค่าภาษี หรือค่าใดๆ ก็ตามให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพเช่นกัน

6.ช่วยกันกดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ

7.หมั่นติดตามข่าวสารของทางราชการอยู่เสมอ

คุณอาจสนใจ

Related News