สังคม

'สภาทนายความ' ให้คำปรึกษากฎหมาย ฟรี! - แจงยิบพฤติกรรมทนายดัง ส่อผิดมรรยาททนายความ

โดย passamon_a

30 มี.ค. 2566

395 views

เมื่อวันที่ 29 มี.ค.66 จากกรณีกระแสข่าวประชาชนที่จำเป็นต้องใช้ทนายความ ถูกทนายความเรียกเก็บค่าว่าความในราคาสูง และมีหลายรายที่ไม่ทราบมาก่อน ก็ต้องสูญเสียเงินให้กับทนายจำนวนมาก ล่าสุด สภาทนายความ ออกแถลงการณ์ ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย ฟรี แก่ประชาชน พร้อมทั้งเบอร์ติดต่อ


"แถลงการณ์สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เรื่อง การให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชน ฟรี


สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ประชาชนที่ต้องการขอรับคำปรึกษาทางกฎหมายจากสภาทนายความ สามารถติดต่อมายังช่องทางต่าง ๆ ของสภาทนายความฯ ได้แก่


สายด่วน 1167, โทรศัพท์ 0-25227124-27 ต่อ 135, ปรึกษาทางไลน์ @1ct249, ที่ทำการสภาทนายความ (ส่วนกลาง), ที่ทำการประธานสภาทนายความจังหวัดทั่วประเทศ, ที่ทำการกรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 1-9, ศาล (ส่วนกลาง 15 แห่ง ภูมิภาค 106 แห่ง), สถานีตำรวจนครบาล 1-9 จำนวน 50 สถานี และสถานีตำรวจภูธร ภาค 1-9 (153 สถานี)"


นอกจากนี้ ยังคงเป็นประเด็นร้อนสำหรับเรื่องทนายความชื่อดัง ที่ออกมาแถลงข่าวเกี่ยวข้องกับใบเสร็จที่มีการระบุว่าเป็นค่าแถลงข่าว จำนวน 300,000 บาท และต่อมาออกมาชี้แจงว่าค่าแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนนั้นใช้คำผิด ซึ่งจริง ๆ เป็นค่าเสี่ยงภัยที่กันไว้สำหรับการถูกฟ้องกลับ กรณีที่ทำคดีให้ลูกความหรือการนำลูกความออกมาแถลงข่าว ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมเกิดคำถามว่าอาชีพทนายความสามารถทำได้แบบนี้หรือไม่ รวมไปถึงมีการพูดพาดพิงไปถึงทนายความบุคคลอื่นว่ามีการรับเงิน พาลูกความไปออกรายการโทรทัศน์ โดยลูกความต้องจ่ายเงิน 350,000 บาท ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับแวดวงทนาย


เรื่องนี้ นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ระบุว่า ผมจะไม่เจาะจงตรงตัวแต่จะพูดถึงหลักการและแนวทาง และภาพรวมของมรรยาททนายความ สภาทนายความจะมีคณะกรรมการอยู่สองคณะ ชุดแรกจะเป็นสภาคณะทนายความมีนายกสภาทนายความ เป็นประธาน และคณะกรรมการของการตรวจสอบมรรยาททนายความ


เมื่อรับเรื่องมาก็จะมีตรวจสอบตามคณะกรรมการ และลงความเห็นเมื่อคณะกรรมการชุดแรกลงความเห็นแล้ว ก็จะส่งให้คณะกรรมการอีกส่วนพิจารณา ก่อนจะมีความเห็น ว่าทนายที่ถูกร้องเรียนนั้นผิดมรรยาทข้อใด และจะดำเนินการอย่างไร โดยโทษมีอยู่ 3 ระดับ 1. ภาคทัณฑ์ 2. ห้ามทำการเป็นทนายความไม่เกินสามปี 3. ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ นี่คือโทษรุนแรงสูงสุด


ซึ่งต้องมีผู้ร้องเรียนก่อนจึงจะทำได้ โดยผู้ร้องเรียนนั้นต้องได้รับผลกระทบจากทนายความ คนจะที่กล่าวหาคือ 1. ผู้เสียหายโดยตรง  2. ทนายคนใดคนหนึ่งกล่าวหาทนายอีกคนหนึ่ง 3. คือมีความปรากฏ


ซึ่งปัญหาในการใช้วิธีการพิจารณามรรยาทของทนายความนั้น คือการไม่มีกรอบกำหนดระยะเวลา จึงทำให้ไม่สามารถชี้ชัดหรือพิจารณาบทลงโทษกับทนายความที่กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งตอนนี้ก็พบว่ามีคดีร้องเรียนมรรยาททนายความนั้นกว่า 400 คดี อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการอีกกว่า 1,000 คดี ซึ่งกรณีของทนายคนดังที่เป็นข่าวนี้ ก็มีการร้องเรียนเข้ามาแล้วสองครั้ง และยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการ


นายกสภาทนายความ ระบุว่า การกระทำของทนายดังที่กำลังเป็นกระแสนั้น เข้าข่ายลักษณะหมิ่นเหม่มรรยาททนายความข้อ 18 ที่ระบุว่า ทนายความที่ประกอบอาชีพดำเนินธุรกิจ ที่ประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิของทนายความ


และข้อที่ 14 เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายแล้ว ภายหลังใช้อุบาย เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ด้วยประการใด ๆ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เพื่อจะให้ตนได้รับประโยชน์ นอกเหนือจากที่ลูกความได้ตกลงสัญญาให้ แต่การจะเริ่มดำเนินการตรวจสอบได้นั้นจะต้องมีผู้ร้อง ซึ่งเป็นผู้เสียหายต่อสภาทนายความโดยตรง


ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการกระทำของทนายความที่มีการเรียกรับเงินจากลูกความ โดยเป็นค่าแถลงข่าว จำนวน 300,000 บาท ซึ่งต่อมาทนายคนดังกล่าวระบุว่าไม่ใช่การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน แต่เป็นเงินค่าเสี่ยงภัยกรณีที่หากทนายและทีมงานถูกฟ้องหรือต้องถูกต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลในแต่ละคดี จึงต้องเก็บเงินส่วนนี้จากลูกความ ถือเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์เมืองไทยหรือไม่กับการกระทำเช่นนี้ในแวดวงทนายความ  


นายกสภาทนายความ กล่าวว่า จากที่ตนเคยทำงานมาก็เพิ่งเคยเห็นและรับทราบข้อมูลเรื่องนี้จากสื่อที่นำเสนอ ซึ่งไม่รู้ว่าในแวดวงนั้นมีเรื่องแบบนี้มาก่อนหรือไม่แต่สำหรับตนเองเพิ่งเคยได้ยิน


ส่วนกรณีที่สังคมสงสัยว่าการที่ทนายความพาลูกความออกมาแถลงข่าว ซึ่งยังไม่ได้มีข้อมูลที่ชัดเจนหรือเป็นการแถลงข่าวโจมตีฝ่ายตรงข้าม และมาเก็บค่าเสี่ยงภัยที่อ้างว่าอาจจะต้องถูกฟ้องร้องกลับ ถือว่าเป็นหน้าที่ของทนายความหรือไม่ เพราะตามปกติการต่อสู้คดีนั้นต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาล ไม่ใช่นำผู้เสียหายมาแถลงข่าวเพื่อโจมตีอีกฝั่งนึงแบบนี้ ถือว่าเป็นความผิดหรือไม่ นายกสภาทนายความ ระบุว่า เรื่องนี้มองได้หลายมิติ


นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองเลขาธิการสภาทนายความ ระบุว่า การพาลูกความออกมาแถลงข่าวนั้นมีหลายส่วนประกอบ สามารถพาลูกความมาแถลงข่าวได้ แต่ขึ้นอยู่กับลูกความ เช่นลูกความฟ้องร้องบุคคลหนึ่ง และคำฟ้องเป็นแบบนี้แล้วลูกความต้องการจะแถลงข่าวแบบนี้ก็สามารถทำได้


"ถ้าไม่เป็นการไปชี้นำโน้มน้าวศาล ไม่ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล แต่การที่นำมาแถลงข่าวแล้วบอกว่ามีหลักฐานอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้านำไปฟ้องต่อศาลรับรองว่าจะต้องโดนคดีอย่างนั้นอย่างนี้ แบบนี้ถือว่าผิด ทั้งมรรยาททนายความ และผิดเรื่องการโอ้อวดสรรพคุณ และอาจจะละเมิดอำนาจศาลอีกด้วย"


เรื่องการเรียกเก็บเงินค่าวิชาชีพของทนายความ หรือการเก็บค่าแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนนั้น "ผมอยู่ในเส้นทางทนายความตั้งแต่เรียนจบมาปี 2522 จนปัจจุบันกว่า 40 ปีแล้ว ผมยังไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน ถ้าถามความเห็นผม ผมเห็นว่าไม่เหมาะสม" แต่ความไม่เหมาะสมนี้จะถึงขั้นผิดมรรยาททนายความหรือไม่ ผมไม่ก้าวล่วง คณะกรรมการจะต้องไปพิจารณา


หลังจากที่รองเลขาพูดประเด็นนี้จบ ก็บอกว่า เรายังมีการแถลงอีกหนึ่งเรื่อง แต่ผู้สื่อข่าวต่างพากันยกมือว่าเรื่องนี้จะจบทันทีไม่ได้ จะต้องมีการถามต่อ ขออนุญาตทางสภาทนายความ และนายกสภาทนายความ ขอถามคำถามกับประเด็นร้อนของทนายความชื่อดังคนนี้ก่อน


ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีเรทราคาที่ปรึกษาทนายความทางโทรศัพท์ ซึ่งค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงนั้นเป็นเรทราคาปกติหรือไม่ หรือว่ามีการกำหนดราคาอย่างไร ทางสภาทนายความมีข้อกำหนดนี้หรือไม่


นายกสภาทนายความ กล่าวว่า เรทราคานั้นก็เหมือนกับค่าปรึกษาวิชาชีพ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจระหว่างลูกความกับทนายความที่จะตกลงกัน ราคาก็จะสูงต่ำแตกต่างกันไปตามประสิทธิภาพของทนายความ ว่าทนายความคนนั้นอยู่ในระดับใด เก่งหรือเชี่ยวชาญหรือไม่


และที่สำคัญจะสามารถต่อสู้คดีให้กับลูกความได้หรือไม่ การกำหนดราคาขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย ไม่มีกรอบกำหนดราคาตายตัว หรือกรอบกำหนดราคาของสภาทนายความออกเป็นข้อกำหนด ซึ่งแท้จริงแล้วทางสภาทนายความก็อยากออกมาจัดระเบียบในเรื่องนี้เช่นกัน และอยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาของคณะกรรมการ เพื่อให้อาชีพทนายความได้เป็นที่พึ่งของประชาชนและสังคม และการพิจารณามรรยาทและการกระทำผิดของทนายความ


"ขอยืนยันว่าตนเองไม่ใช่เสือกระดาษ ผิดก็ว่าผิดไปตามขั้นตอน และเรื่องของทนายคนดังคนนี้ก็จะต้องมีคำตอบ แต่ไม่สามารถระบุกรอบเวลาที่ชัดเจนได้"


เมื่อถามว่า กรณีเรื่องกำหนดเรทราคานี้ ทางสภาทนายความจะมีการทบทวนหรือมีข้อกำหนดเรื่องการกำหนดเรทราคา เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน เพราะคนที่มาปรึกษาทนายความก็คือผู้เดือดร้อน


นายกสภาทนายความ กล่าวว่า อาชีพทนายความเป็นอาชีพอิสระ และมีความชำนาญเฉพาะ ดังนั้นการเรียกค่าวิชาชีพ ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดราคาตายตัว แต่ประชาชนที่ไม่มีเงินหรือกำลังเพียงพอที่จะไปว่าจ้างทนายความอิสระเหล่านี้ ทางสภาทนายความก็เป็นที่พึ่ง มีทนายอาสาและให้คำปรึกษาอยู่ตลอด โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถเดินทางมาได้ที่สภาทนายความหรือสภาทนายความแต่ละจังหวัด หรือจะโทรศัพท์ก็สามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องหาทนายความที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายก็สามารถปรึกษาทางกฏหมายได้เช่นกัน


ส่วนการที่ไปปรึกษา แล้วเค้าเก็บเงิน ต้องตรวจสอบก่อนว่าทางสำนักงานทนายความนั้นมีการแจ้งราคาไว้ก่อนหรือไม่ ถ้ามีประกาศชัดเจน คนไปใช้บริการก็ต้องเข้าใจในค่าใช้จ่าย


ผู้สื่อข่าวยังถามอีกว่ามี กระแสข่าวว่ามีประชาชนที่เดือดร้อนโทรไปปรึกษาสำนักงานทนายความชื่อดัง โดยปรึกษาทางโทรศัพท์แต่ได้พูดคุยประมาณ 2 นาที แล้วถูกเก็บเงินเต็มจำนวน แบบนี้ถือว่าเป็นการยุติธรรมกับลูกความหรือไม่ นายกสภาทนายความ บอกว่า หากเป็นแบบนี้ก็ไม่ยุติธรรม แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของลูกความและทนาย พึงพอใจ


ด้าน นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวชี้แจงประเด็นเรื่องการเก็บค่าแถลงข่าวของสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง แล้วบอกว่าเป็นค่าเสี่ยงภัย หากถูกฟ้องร้องกลับ นั้นขออธิบายว่า ค่าเสี่ยงภัยที่ว่านั้นจริง ๆ แล้วตรงตามชื่อคือค่าเสี่ยงภัย เช่น การเดินทางไปในพื้นที่อันตราย หรือคดีผู้มีอิทธิพลที่เกรงว่าจะได้รับอันตราย แบบนี้ถึงจะเรียกว่าค่าเสี่ยงภัย ส่วนการกล่าวอ้างว่าค่าเสี่ยงภัยที่เก็บนั้นเป็นการป้องกันการถูกฟ้องกลับจากฝ่ายตรงข้ามนั้น เชื่อว่าสื่อมวลชนและประชาชนก็มองออกว่าเสี่ยงภัยหรือไม่


ช่วงท้ายนักข่าวถามอีกว่า ปัจจุบันทนายความมักพาลูกความมาแถลงข่าวหลากหลายประเด็น เช่น ทนายความแถลงข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า, การแถลงข่าวปกป้องเพื่อรักษาสิทธิของลูกความ หรือการแถลงข่าวโจมตีคู่ความฝ่ายตรงข้าม แตกต่างกันอย่างไร เพราะปัจจุบันมีทนายความทำลักษณะนี้จำนวนมาก


นายสุนทร กล่าวว่า การแถลงข่าวแต่ละครั้งนั้น ข้อบังคับของสภาทนายความ การที่ถ้าเอาเรื่องคดีความมาพูดนั้นทำไม่ได้อยู่แล้ว ห้ามไม่ให้เอาความลับของลูกความมาเปิดเผย พูดหรือแถลงให้คนอื่นทราบ ถือว่าเป็นความผิดวิชาชีพทนายความทำไม่ได้


ส่วนการโฆษณาสินค้า ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องของการโฆษณาการทำธุรกิจ แต่วิชาชีพทนายความนั้นมันไม่ใช่เรื่องของการค้า มันเป็นเรื่องของวิชาชีพ ที่จะต้องมีจรรยาบรรณและมรรยาททนายความเข้าไปควบคุม


ส่วนที่ประชาชนสงสัย ว่าเหตุใดทนายบางคนถูกร้องเรื่องมารยาททนายความแล้วยังคนทำหน้าที่ทนายความต่อไปได้นั้น อยากชี้แจงให้ประชาชนรับทราบว่า หากยังไม่มีข้อบทลงโทษที่ชัดเจนจากทางคณะกรรมการทนายความท่านนั้นก็ยังคงทำหน้าที่ได้ ซึ่งข้อลงโทษสูงสุดก็คือการลบชื่อออกจากทนายความ นั่นหมายความว่าไม่สามารถทำอาชีพทนายความได้อีก


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/oZR2RCBcd6Q

คุณอาจสนใจ

Related News