สังคม

บุก 2 คลินิก รวบหมอเถื่อน รักษาโรคให้ปชช. อ้างใจรัก อยากเป็นหมอ - อีกรายรอสอบใบประกอบฯ

โดย passamon_a

20 มี.ค. 2566

237 views

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.66 ตำรวจ ปคบ. และเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกันจับกุมแพทย์เถื่อน และคลินิกเถื่อน เปิดทำการรักษาโรคทั่วไปให้ประชาชน ตรวจค้น 2 จุด จับกุมผู้ต้องหา 2 ราย


สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการประสานจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ว่ามีประชาชนแจ้งเบาะแสให้ทำการตรวจสอบคลินิกที่เปิดดำเนินกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต และรักษาโดยแพทย์ซึ่งไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ในพื้นที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จึงลงพื้นที่ทำการสืบสวนพบว่า มีการเปิดคลิกนิกโดยมีบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ทำการรักษาให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปจริง


ต่อมาในวันที่ 17 มี.ค.66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงได้ร่วมกันวางแผนเข้าทำการตรวจค้นและจับกุมสถานพยาบาล จำนวน 2 จุด คือ


จุดแรก คลินิกเวชกรรมเคหะร่มเกล้า ตั้งอยู่บริเวณถนนราษฎร์พัฒนา (เคะร่มเกล้า 31) เขตลาดกระบัง พบว่าคลินิกดังกล่าวเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปอยู่ และพบ นายรัฐภูมิ แสดงตัวเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจสอบพบว่า สถานพยาบาลดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้งแพทย์ที่ทำการรักษาโรคให้กับประชาชนทั่วไปนั้น ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด


โดย นายรัฐภูมิ รับว่าตนเองเคยมีประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาลกว่า 13 ปี จากนั้นเดินทางไปศึกษาแพทย์ที่ต่างประเทศ แต่เรียนไม่จบ ด้วยใจรักในวิชาชีพแพทย์และอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง จึงมาเปิดสถานพยาบาลดังกล่าว และอ้างตัวเป็นแพทย์ รักษาประชาชนมาได้ประมาณ 3 เดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุมนาย รัฐภูมิ และได้ตรวจยึดเครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์ยาอื่นที่เป็นความผิด และเวชระเบียนผู้มารับการรักษา กว่า 30 รายการ


จุดที่ 2 คลินิกตั้งอยู่บริเวณซอยไทธานี 6 ถนนนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พบว่าขณะตรวจค้น คลินิกดังกล่าวเปิดให้บริการรักษาโรคให้ประชาชนทั่วไปอยู่ และพบ นายกฤตษ์ศรัณย์ อายุ 36 ปี แสดงตัวเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษาประชาชนอยู่ในสถานพยาบาลดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่า สถานพยาบาลดังกล่าวมีใบประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบประกอบกิจการดำเนินสถานพยาบาลถูกต้อง


แต่ นายกฤตษ์ศรัณย์ ซึ่งเป็นแพทย์ที่ทำการตรวจรักษายอมรับว่า ตนเองยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด โดยนายกฤตษ์ศรัณย์ รับว่าตนเองเรียนจบระดับปริญญาตรี สาขาแพทย์ศาสตร์จากต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างฝึกงาน ณ โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง และอยู่ระหว่างเตรียมตัวสอบใบประกอบวิชาชีพ ในระหว่างรอสอบใบประกอบวิชาชีพจึงทำการรักษาให้บุคคลทั่วไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุมนายกฤตษ์ศรัณย์


จากการตรวจค้นคลินิก 2 จุด แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหา 2 ราย ดังนี้ 1. นายรัฐภูมิ อายุ 51 ปี ในความผิดฐาน ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนนายกฤตษ์ศรัณย์ อายุ 36 ปี ในความผิดฐาน ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา


ทั้งนี้ การปล่อยให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการรักษา ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีคำสั่งทางปกครองให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยหากพบการกระทำความผิดพนักงานสอบสวนจะมีการออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป


สำหรับการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม

1. พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท


พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ก่อนเข้ารับการรักษาโรคต่าง ๆ ตามสถานพยาบาลควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตของคลินิกและแพทย์ที่ทำการรักษาก่อนในเบื้องต้น เพราะอาจทำให้ได้รับความเสี่ยงในการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ไม่ถูกต้องจากบุคลากรที่ไม่ใช้แพทย์ รวมถึงบุคคลที่อ้างว่าจบการศึกษาคณะแพทย์ศาสตร์จากต่างประเทศ แต่ยังสอบไม่ผ่านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศ ถือว่ายังไม่เป็นผู้อนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ยังไม่สามารถแสดงตัวเป็นแพทย์รักษาประชาชนตามคลินิกได้


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/CxUq4nykSNg

คุณอาจสนใจ

Related News